“กฤษฎา”เมินทบทวน“ลาออก” - นายกฯ ยื่นข้อเสนอช่วยงาน “อีอีซี”
“คลัง” วุ่น “กฤษฎา” ยื่นใบลาออกจาก รมช.หลัง “พิชัย” แบ่งงานให้กำกับหน่วยงาน 1 กรม ถูกยึด “กรมบัญชีกลาง-สรรพสามิต” ยืนยันไม่ทบทวนตามข้อเสนอนายกฯ “เศรษฐา” พร้อมดึงช่วยดูงานอีอีซี
รัฐบาลเศรษฐา 2 เผชิญความท้าทายในการบริหารงานโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ หลังจากการปรับ ครม.เพียง 1 สัปดาห์ มีรัฐมนตรีลาออก 2 คน คือ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2567 หลังจากถูกปรับออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
ล่าสุดนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยื่นหนังสือลาออกเมื่อวันที่ 8 พ.ค.2567 หลังจากนายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งมอบหมายงานให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ยับยั้งการลาออกดังกล่าว
นายเศรษฐา กล่าวว่า ได้โทรสอบถามนายกฤษฎา และเจ้าตัวบอกว่า ใบลาออกกำลังเดินทางมาจึงขอให้กลับไปคิดก่อน 1 คืน แล้วค่อยว่ากันใหม่
“ท่านก็หัวเราะจึงขอให้คิดดูก่อนคืนหนึ่ง เรื่องนี้ไม่อยากให้เกิดขึ้น ต้องพูดคุยกัน ผมบอกว่าหากท่านไม่สบายใจในการแบ่งงานยังมีโปรเจ็กต์อีกมากในกระทรวงการคลัง ซึ่งทำงานร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรีได้ และรัฐมนตรีว่าการคลังพร้อมมอบหมายงานเพิ่มเติมให้ ก็ขอให้คิดอีกหนึ่งคืนก่อน” นายกฯ กล่าว
นายเศรษฐา ตอบคำถามประเด็นเหตุผลการลาออกว่า “คงเป็นเรื่องการแบ่งงานมั้ง ผมบอกว่าคิดดูก่อนแล้วกัน ผมยังไม่รับ ท่านเป็นน้องผมรู้จักมานาน”
ส่วนประเด็นที่นายพิชัย จะแบ่งงานใหม่หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องให้เกียรติรัฐมนตรีแบ่งงานไว้ โดยมีงานเพิ่มอีกมาเยอะและงานบางอย่าง ไม่ได้ระบุไว้ ซึ่งมีโครงการมากที่ต้องช่วยกัน
รวมทั้งเชื่อว่านายพิชัย เหลือขอบเขตงานไว้และแบ่งให้นายกฤษฎีกา ที่เป็นอดีตปลัดกระทรวงการคลังที่จะผลักดันนโยบายได้ดี และคงไม่มีปัญหาเพราะการแบ่งงานมีแผนอยู่แล้ว โดยหารือล่วงหน้าว่าทำไมถึงแบ่งงานเช่นนี้ และทำไมต้องเหลือบางพื้นที่ให้นายกฤษดาได้ทำงาน ซึ่งมีโครงการอีกจำนวนมากที่ทำได้
นายกฯ ยืนยันไม่กระทบงานรัฐบาล
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามประเด็นได้หารือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือไม่ ว่าเกิดปัญหาอะไรกัน โดยนายกฯ กล่าวว่า “ไม่มี” และนายพิชัย โทรหานายกฤษดา แต่ไม่รับสายทำให้นายกฯ โทรหาแทน
นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า อย่างที่ได้เรียนไปมีคนพอใจและไม่พอใจ มีความสุข ไม่มีความสุขในการปรับ ครม.เป็นธรรมดาของการที่ต้องตัดสินใจอะไรออกไป โดยยึดโยงกับงานเป็นหลัก มีการคุยตลอด วันนี้ก็คุยตั้งแต่เช้า
ส่วนประเด็นจะส่งผลต่อการทำงานรัฐบาลหรือไม่ หลังมีรัฐมนตรีลาออก 2 คน นายกฯ กล่าวว่า ไม่มี ที่ลาออกไปก็แต่งตั้งแล้วไม่ใช่หรือ ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร รมว.ต่างประเทศ คนใหม่ก็เป็นอดีตทูต
“ต้องรอคำตอบวันที่ 9 พ.ค.ก็เบรกไว้ก่อน ก็หวังว่าจะสำเร็จ เพราะผมกับ รมช.กฤษฎาก็รู้จักกันมานาน” นายกฯ กล่าว
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า นายกฤษฎายืนยันว่าจะไม่มีการทบทวนการยื่นลาออกตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี และในเบื้องต้นนายกรัฐมนตรี เสนอให้นายกฤษฎา เป็นประธานคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) แต่คาดว่านายกฤษฎา จะไม่รับข้อเสนอดังกล่าว
แบ่งงาน “กฤษฎา” เหลือคุม 1 กรม
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า การแบ่งงานของนายพิชัยครั้งนี้ ได้ลดหน่วยงานที่นายกฤษฎา กำกับดูแลลงเหลือส่วนราชการเพียง 1 หน่วยงาน คือ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ที่เป็นส่วนราชการระดับกรม
ขณะที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจเหลือ 5 แห่ง คือ การยาสูบแห่งประเทศไทย , สถาบันคุ้มครองเงินฝาก , บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) , สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ.
ส่วนการแบ่งงานในสมัยนายเศรษฐา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 14 ก.ย.2567 นายกฤษฎา ได้กำกับดูแลส่วนราชการ 3 แห่ง คือ กรมบัญชีกลาง , กรมสรรพสามิต , สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
รวมทั้งได้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ 8 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย , ธนาคารออมสิน , ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) , ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) , บรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อม (บสย.) , องค์การสุรา , การยาสูบแห่งประเทศไทย และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
เปิด 4 ภารกิจร้อน “พิชัย”
สำหรับภารกิจร้อนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ที่จะต้องจัดการมีอย่างน้อย 4 ประเด็น ประกอบด้วย
1.การแก้ปัญหาความขัดแย้งหลังแบ่งงานให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลังที่ทำให้มีการยื่นใบลาออก
2.การผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัว โดยรัฐบาลประกาศเป้าหมาย GDP ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5%
3.การเร่งผลักดันโครงการแจกเงินดิจิทัล 500,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมามีเป้าหมายแจกเมื่อเดือน ก.พ.2567 แต่ติดปัญหาแหล่งเงินโครงการจึงเลื่อนเป็นไตรมาส 4 ปี 2567
4.การจัดเก็บรายได้รัฐในปีงบประมาณ 2567 ต่ำกว่าเป้า 27,819 ล้านบาท (ต.ค.2566-มี.ค.2567) โดยจัดเก็บได้ 1.19 ล้านล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.19 ล้านล้านบาท ซึ่งกรมสรรพาสามิตที่จัดเก็บได้ตำกว่าเป้าหมายมากที่สุด เพราะมีการลดภาษีสรรพสามิตเบนซินและดีเซล รวมถึงการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ได้น้อยกว่าประมาณการ
“จุลพันธ์” ยืนยันทุกหน่วยงานสำคัญ
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงประเด็นที่นายกฤษฎา ยื่นใบลาออกว่า “เพิ่งจะทราบจากข่าวเช่นกัน”
นายจุลพันธ์ ตอบคำถามประเด็นการแบ่งงานระหว่างรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 3 คน ว่า ส่วนตัวมีภาระกิจอะไรก็ทำหมด เพราะทุกหน่วยงานมีความสำคัญ และมีภารกิจหน้าที่ที่จำเพาะ ซึ่งต้องทำงานร่วมประสานกันให้เต็มที่ โดนยังไม่ได้โทรหานายกฤษฎา เพราะติดภารกิจประชุมตลอดทั้งบ่ายถึงช่วงเย็นของเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา
ส่วนประเด็นได้สอบถามข้อเท็จจริงเรื่องนี้กับนายพิชัยหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ต้องการให้สอบถามเรื่องนี้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วยตนเอง เพราะภารกิจที่รัฐมนตรีว่าการรับผิดชอบข้ามไปถึงภารกิจของรองนายกรัฐมนตรี
นายจุลพันธ์ ยืนยันว่าเหตุผลที่นายกฤษฎาลาออกไม่ใช่การหลีกเลี่ยงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแน่นอน เพราะที่ผ่านมาให้ความร่วมมือเรื่องนี้มาตลอด
เงินฝากเกิน 5 แสนบาท หมดสิทธิ์ “ดิจิทัลวอลเล็ต”
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรายละเอียดเกณฑ์ผู้มีสิทธิลงทะเบียนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ดังนี้
ผู้มีมีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท ในบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรออมทรัพย์ ใบรับเงินฝาก เฉพาะเงินฝากที่อยู่ในสกุลเงินบาทเท่านั้น ทั้งนี้ รวมทุกบัญชีธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ นับยอดตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2567
อายุ 16 ปี บริบูรณ์ ภายในวันที่ 30 ก.ย.2567 และไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปี ในปีภาษี 2566
พร้อมตั้งทีมตรวจสอบป้องกันการทุจริต
ทั้งนี้ เรื่องรายการสินค้าที่ไม่เข้าร่วมโครงการ (Negative Lists) ยังไม่มีการพิจารณาเพิ่มเติม ส่วนเรื่องร้านค้าขนาดเล็กก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยนับร้านค้าทั้งหมด ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มอลล์ โดยคาดว่าจะมีการลงรายละเอียดอีกครั้งในการประชุมสัปดาห์หน้า
สำหรับการประชุมวันนี้มีวาระการพิจารณาเรื่องระบบและกลไกการใช้งานดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อผู้ใช้งาน รวมทั้งประเด็นการเชื่อมโยงฐานข้อมูลและกำหนดเงื่อนไขรายละเอียดการยืนยันตัวตนระหว่างหน่วยงานรัฐที่จะต้องมีการลงนามความตกลงร่วมกันได้แก่ กรมสรรพากร กรมการปกครอง และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (DGA) เพื่อให้ประชาชนที่เข้าเกณฑ์เงื่อนไขเบื้องต้นสามารถยืนยันตัวตนได้
รวมทั้งการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายการทุจริต โดยที่ประชุมมีมติตั้งคณะอนุกรรมการติดตามการใช้จ่ายดิจิทัลวอลเล็ตผิดประเภท เพื่อป้องกันการทุจริตผ่านโครงการ
ใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” เชื่อมระบบ
ทั้งนี้ นายจุลพันธ์ กล่าวถึงงบประมาณในการพัฒนาระบบหลังบ้านของโครงการว่า ไม่มีกรอบงบประมาณ เนื่องจากเป็นระบบที่มีการพัฒนาอยู่แล้ว โดยโครงการเข้าไปใช้ประโยชน์ ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เป็นตัวเชื่อม
สำหรับประเด็นข้อห่วงกังวลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องการใช้แหล่งเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ไม่ได้ใช้เพื่อการเกษตรเท่านั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถให้คำตอบเหล่านี้อยู่แล้ว โดยยืนยันว่าพร้อมส่งหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร
สำหรับการประชุมครั้งนี้มีนายพิชัย นั่งหัวโต๊ะร่วมสังเกตุการณ์และให้ความเห็นเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตว่า โครงการนี้เป็นโครงการสำคัญในสภาวะการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีความจำเป็น
โดยระหว่างการประชุมยังมีข้อเสนอแนะและเน้นย้ำหลักการโครงการให้ดำเนินโครงการสีเขียว และกลไกการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันและการใช้งานผิดประเภท