‘พิชัย’ ประกาศชัด ไม่ทบทวนแบ่งงาน ‘คลัง’

‘พิชัย’ ประกาศชัด ไม่ทบทวนแบ่งงาน ‘คลัง’

ปมแบ่งงานกระทรวงการคลังสร้างรอยร้าว “กฤษฎา” ยื่นใบลาออกจาก รมช.หลังได้รับแบ่งงานให้กำกับหน่วยงาน 1 กรม ถูกยึด “กรมบัญชีกลาง-สรรพสามิต” ด้าน “พิชัย” ประกาศชัดจะไม่ทบทวนการแบ่งงานใหม่ แม้จะสร้างความขัดแย้งในกระทรวงการคลัง 

การแบ่งงานของกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 8 พ.ค.2567 สร้างความขัดแย้งให้กับ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่ต้องยื่นหนังสือลาออก ถึงแม้ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะโทรศัพท์ไปยับยั้งการลาออกดังกล่าว

นายเศรษฐา กล่าวว่า ได้โทรสอบถามนายกฤษฎา และเจ้าตัวบอกว่า ใบลาออกกำลังเดินทางมาจึงขอให้กลับไปคิดก่อน 1 คืน แล้วค่อยว่ากันใหม่

นายเศรษฐา ตอบคำถามประเด็นเหตุผลการลาออกว่า “คงเป็นเรื่องการแบ่งงานมั๊ง ผมบอกว่าคิดดูก่อนแล้วกัน ผมยังไม่รับ ท่านเป็นน้องผมรู้จักมานาน”

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามประเด็นได้หารือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือไม่ ว่าเกิดปัญหาอะไรกัน โดยนายกฯ  กล่าวว่า “ไม่มี” และนายพิชัย โทรหานายกฤษดา แต่ไม่รับสายทำให้นายกฯ โทรหาแทน

 “ต้องรอคำตอบวันที่ 9 พ.ค.ก็เบรกไว้ก่อน ก็หวังว่าจะสำเร็จ เพราะผมกับ รมช.กฤษฎาก็รู้จักกันมานาน” นายกฯ กล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า นายกฤษฎายืนยันว่าจะไม่มีการทบทวนการยื่นลาออกตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี และในเบื้องต้นนายกรัฐมนตรี เสนอให้นายกฤษฎา เป็นประธานคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.)

ทั้งนี้ กบอ.อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  แต่คาดว่านายกฤษฎา จะไม่รับข้อเสนอดังกล่าว

รวมทั้งประเด็นการแบ่งงานที่เป็นต้นเหตุในการลาออกของนายกฤษฎา โดยท่าทีของนายพิชัย หลังจากที่ทราบว่านายกฤษฎาลาออก ได้ยืนยันที่จะไม่มีการปรับเปลี่ยนการแบ่งงานใหม่

นอกจากนี้ การแบ่งงานของนายพิชัยครั้งนี้ ได้ลดหน่วยงานที่นายกฤษฎา กำกับดูแลลงเหลือส่วนราชการเพียง 1 หน่วยงาน คือ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ที่เป็นส่วนราชการระดับกรม

ขณะที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจเหลือ 5 แห่ง คือ 

  • การยาสูบแห่งประเทศไทย 
  • สถาบันคุ้มครองเงินฝาก 
  • บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) 
  • สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) 
  • สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ.

ส่วนการแบ่งงานในสมัยนายเศรษฐา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 14 ก.ย.2567 นายกฤษฎา ได้กำกับดูแลส่วนราชการ 3 แห่ง คือ กรมบัญชีกลาง , กรมสรรพสามิต , สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

รวมทั้งได้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ 8 แห่ง คือ 

  • ธนาคารกรุงไทย 
  • ธนาคารออมสิน 
  • ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 
  • ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) 
  • บรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อม (บสย.) 
  • องค์การสุรา 
  • การยาสูบแห่งประเทศไทย 
  • สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

ในขณะที่การแบ่งงานครั้งล่าสุดของ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้กำกับดูแล กรมศุลกากร กรมสรรพากร และกรมสรรพสามิต ซึ่งได้กำกับดูแลหน่วยงานจัดเก็บภาษีทั้งหมด 3 หน่วยงาน

รวมทั้งได้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐในกำกับกระทรวงการคลัง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) องค์การสุรา โรงงานไพ่ และ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กำกับดูแลสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และกรมธนารักษ์

สำหรับรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐในกำกับกระทรวงการคลัง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)