จีไอที เร่งเพิ่มช่างฝีมือรุ่นใหม่ รองรับการขยายตัวในอุตสาหกรรมอัญมณีฯ
จีไอที เผย อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเริ่มเจอปัญหาขาดแคลนช่างฝีมือเจียระไน เตรียมเดินหน้าพัฒนา บุคคลกร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ พร้อม ยกระดับมาตรฐานการตรวจรับรองให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT (จีไอที) เปิดเผยว่า แม้ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ จะลดลง 0.28% แต่ยังเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 3 มีสัดส่วน 5.80% ของสินค้าส่งออกไทย รวมทั้งถ้าหักการส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป พบว่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริง ยังโตต่อเนื่อง 13.36% มีมูลค่าการส่งออก กว่า 2,500 ล้านดอลลาร์ หรือ เกือบ 1 แสนล้านบาท ท่ามกลางปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่หากดูภาพรวมในตลาดโลก แบรนด์ลักชูรี่ แบรนด์เนมต่างๆ ยังไปได้ดี
รวมทั้งสินค้าอัญมณี ยังไม่เคยราคาตก ทั้งพลอย ทับทิม โดยเฉพาะทองคำและเงิน ในรอบ 20 ปีที่แล้ว โต 400-500% หรือ หากเทียบเพียง 5 ปีก่อนหน้า ราคาก็ปรับขึ้นไปแล้วกว่า 60% สะท้อนมูลค่าการลงทุน และสภาพคล่องในตลาดที่มีมูลค่าสูง
“ปัจจุบันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเริ่มประสบปัญหาคนในซัพพลายเชนที่เคยสูงหลักล้านคน ปัจจุบันเหลือประมาณ 8 แสนคน และในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ 80% จะอยู่ในกลุ่มผู้ซื้อ-ผู้ขาย มีเพียง 20% ที่เป็นช่างฝีมือ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ ที่จะต้องผลักดันให้คนรุ่นใหม่ หันมาสนใจเข้าทำงานในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมากขึ้น โดยเฉพาะช่างฝีมือทักษะสูง “นายสุเมธ กล่าว
นายสุเมธ กล่าวว่า GIT ได้เป็นตัวกลางในการประสานกับภาครัฐ กระทรวงแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สร้างมาตรฐานกลางด้านอัญมณี ซึ่งผู้ที่เข้าอบรมเมื่อผ่านหลักสูตร ก็จะได้รับ ”คุณวุฒิวิชาชีพ“ อัญมณีและเครื่องประดับ เช่น เป็นนักอัญมณี นักวิเคราะห์อัญมณี หรือ ผู้จัดการร้านทอง รวมไปถึงการสร้างศูนย์ฝึกช่าง และร่วมกับสถาบันการศึกษา พัฒนาหลักสูตรเฉพาะในการสร้างนักอัญมณี นอกจากนี้ ยังมีโครงการออกแบบเครื่องประดับระดับโลก เพื่อให้เกิดการพัฒนารูปแบบเครื่องประดับใหม่ๆ และสร้างแหล่งกระตุ้นให้เยาวชน และนักออกแบบไทย ได้แลกเปลี่ยนเทรนด์กับนักออกแบบต่างชาติ
ขณะเดียวกัน ยังมีการลงพื้นที่พัฒนาศักยภาพช่างฝีมือในระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้มีเป้าหมายที่ภาคกลาง และภาคเหนือ เพื่อจัดอบรมหลักสูตรต่างๆ ให้ความรู้แก่ช่างฝีมือ เน้นการสร้างเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ชู ซอฟต์พาวเวอร์ พัฒนาเป็นชิ้นงานอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อสร้างมูลค่าสู่สากล ซึ่งจะนำไปโชว์ในงานแฟร์ต่างๆ โดยเฉพาะงานบางกอกเจมส์แอนด์เจเวอรี่แฟร์ ที่ได้รับการตอบรับจากทั่วโลกเพิ่มขึ้นทุกปี สามารถสร้างการรับรู้ไปถึงผู้ซื้อในต่างประเทศ และเป้าหมายสำคัญคือการสร้างมูลค่าเพิ่มจากเอกลักษณ์ของชิ้นงาน โดยที่ผู้ซื้อไม่คำนึงถึงค่าของอัญมณีเท่านั้น จะผลักดันมูลค่าการส่งออกให้เติบโตได้แบบก้าวกระโดด สำหรับปีนี้ ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ โตไม่ต่ำกว่า 5-10% จากปี 2566 มีมูลค่า 14,636 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหดตัว 2.83% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
นายสุเมธ กล่าวว่า ที่สำคัญ คือ การยกระดับมาตรฐานการตรวจรับรอง ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ภายใต้ GIT Standard โดย GIT ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ซึ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระหว่างประเทศผู้สร้างมาตรฐานการการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับตลอดห่วงโซ่อุปทาน หรือ อาร์เจซี RJC ( Responsible Jewellery Council ) เพื่อสร้างความมั่นใจในตลาดโลก ทั้งเรื่องการใช้แรงงาน ซึ่งปัจจุบัน RJC เตรียมขยายไปถึงมาตรฐาน ไปทางด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม การคำนวณคาร์บอนฟุตปริ๊น เพื่อบอกที่มาที่ไปของสินค้า คาดว่า ภายใน 2 ปีข้างหน้า จะใช้มาตรฐานการตรวจสอบย้อนกลับในส่วนนี้ ซึ่งหากไทย มีมาตรฐานนี้ ก็จะสามารถอยู่ในซัพพลายเชนอัญมณีและเครื่องประดับของโลกได้ ผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างยั่งยืน