นโยบายการเงิน – การคลัง ไปด้วยกัน สภาพัฒน์ หนุน รัฐบาล คุย ธปท.เคลื่อนเศรษฐกิจ
"สภาพัฒน์" หนุนแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยการประสานนโยบาย"การเงิน" - "การคลัง" ให้สอดคล้องกัน ชี้รองนายกฯและรมว.คลังคนใหม่ จะช่วยให้การพูดคุยระหว่างรัฐบาล - ธปท.เกิดขึ้นได้ และส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย ระบุนโยบายการเงินยืดหยุ่นจำเป็นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าว เลขาธิการ สศช.กล่าวว่าแม้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง 2567 แม้ว่าจะมีงบลงทุนออกมาสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องจับตาสัญญาณเศรษฐกิจหลายๆตัวที่ชะลอลงเช่นกันโดยตอนนี้ เรื่องของการบริโภคที่ลดลง การซื้อสินค้าคงทนของประชาชนที่ลดลงซึ่งสาเหตุที่สำคัญก็คือเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
โดยในส่วนนี้ก็ต้องยอมรับว่ากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบคือประชาชน และเอสเอ็มอีซึ่งบางส่วนเริ่มมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ขณะที่เศรษฐกิจไทยนั้นเผชิญกับปัจจัยที่กดดันทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้ตามที่มีการคาดหวัง
ทั้งนี้ในส่วนของเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีความจำเป็นซึ่งขณะนี้ต้องดูเรื่องเสถียรภาพที่เป็นความไม่แน่นอนในต่างประเทศ ส่วนเรื่องการที่ทำในเรื่องของการเร่งเศรษฐกิจในประเทศตรงนี้ต้องเอาข้อมูลมากางดูให้ชัดเจน ถึงข้อดีข้อเสีย สิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ ให้เข้าใจว่าทำอย่างไรให้เดินหน้าไปด้วยกันได้
“ในภาพใหญ่ของเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่นโยบายการเงินและการคลังของประเทศต้องไปในทิศทางเดียวกัน ฝั่งหนึ่งเป็นเรื่องการพัฒนาให้เติบโตอีกฝั่งหนึ่งเป็นเรื่องเสถียรภาพ ซึ่งบางช่วงเวลาต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเสถียรภาพ บางช่วงเวลาต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการเติบโต การพัฒนาเศรษฐกิจ ตอนนี้สิ่งสำคัญคือการที่ทั้งสองส่วนต้องมีการพูดคุยกัน ต้องปรับจูนเข้าหากัน ทั้งนี้การที่คุณพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ท่านใหม่จะไปคุยกับ ธปท.ในรายละเอียดกันก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่จะต้องมีการพูดคุยกันซึ่งจะทำให้การทำงานในช่วงถัดไป มีความสอดคล้องกันมากขึ้น”
นายดนุชากล่าวว่าเมื่อนโยบายการคลังเดินหน้าไปในหลายมาตรการแล้ว นโยบายการเงินมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ครัวเรือน และเอสเอ็มอีที่มีหนี้ในระดับสูงก็จะสามารถลดภารระในส่วนนี้ได้มากขึ้น กลุ่มนี้ต้องการเงินลงทุนตอนนี้ไม่ใช่ธุรกิจขนาดใหญ่ แต่เป็นเอสเอ็มอีกับครัวเรือน โดยที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ก็ช่วยมาในระดับหนึ่งแล้ว แต่หากว่าทางนโยบายในภาพใหญ่ทำให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้นก็จะทำให้มีสภาพคล่องทางเศรษฐกิจของครัวเรือนและเอสเอ็มอีมีมากขึ้นได้
“กระสุนทางเศรษฐกิจนั้นมาจากสองส่วน ในเรื่องของดอกเบี้ยนโยบายตอนนี้ 2.5% ก็ต้องดูว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ขณะที่กระสุนอีกอันคือเรื่องของพื้นที่ทางการคลังว่าเพียงพอหรือไม่ ซึ่งต้องมาดูร่วมกันด้วย ซึ่งที่ผ่านมาการลดอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ที่ลดดอกเบี้ยลง 0.25% นั้นก็ช่วยค่าใช้จ่ายของประชาชนได้บางส่วน ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ดีที่ต้องขอบคุณสถาบันการเงินที่ลดดอกเบี้ยลงมา แต่ในส่วนนี้หน่วยงานที่กำกับดูแลก็อาจไปพูดคุยกับแบงก์ให้ลด MRR หรือ MLR ปรับ net interest margin ลงมาในส่วนนี้ลงมาอีกในส่วนของขาที่ลงมาเป็นเงินกู้เพิ่มได้ ซึ่งหากลดขาการปล่อยกู้และลดตัวพรีเมียมลงมาก็ขึ้นอยู่กับต้นทุนการเงินของแต่ละแบงก์ด้วย ซึ่ง ธปท.ช่วยหารือในส่วนนี้ได้ เพราะภาวะแบบนี้แบงก์พาณิชย์ต้องลงมาช่วยด้วยเหมือนกัน” นายดนุชา กล่าว