‘การบินไทย’ เทขายเครื่องบินหมด 18 ลำ มั่นใจออกแผนฟื้นฟูปี 2568
“การบินไทย” ปิดดีลขายฝูงบินปลดระวางครบ 18 ลำ มั่นใจออกจากแผนฟื้นฟูตามเป้าหมายในปี 2568 หลัง EBITDA เป็นบวกต่อเนื่อง สะสมมากกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปัจจัยลบปีนี้เฝ้าระวังอัตราแลกเปลี่ยน
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ณ วันที่ 31 มี.ค. 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 73 ลำ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2566 จำนวน 3 ลำ โดยเป็นการรับมอบเครื่องบินเช่ารุ่นแอร์บัส A350-900 ส่งผลให้ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2567 บริษัทฯ สามารถเพิ่มความถี่ในจุดบินที่มีศักยภาพได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถสร้างรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น โดยภาพรวมไตรมาสที่ 1 ปี 2556 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 45,955 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 4,448 ล้านบาท (10.7%) สาเหตุหลักเกิดจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 3,539 ล้านบาท (10.1%)
อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาสดังกล่าวบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวม 34,880 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 6,407 ล้านบาท (22.5%) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 28,473 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตและ/หรือปริมาณการขนส่ง จำนวนเที่ยวบิน จุดบิน และผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น การอ่อนค่าของเงินบาท รวมทั้งอัตราค่าบริการภาคพื้นและราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายปรับตัวสูงขึ้นในภาพรวม โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าว ได้แก่ ค่าใช้จ่ายการบริการผู้โดยสาร ค่าบริการการบินในต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเครื่องบินและอุปกรณ์ ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 11,075 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 1,959 ล้านบาท (15.0%)
นอกจากนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 4,608 ล้านบาท มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นค่าใช้จ่าย 4,036 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 5,372 ล้านบาท การด้อยค่าของเครื่องบิน และสินทรัพย์สิทธิการใช้ และอุปกรณ์การบินหมุนเวียน 3,338 ล้านบาท แต่มีรายการปรับปรุงรายได้บัตรโดยสารที่หมดอายุ 4,136 ล้านบาท กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ 493 ล้านบาท
ขณะเดียวกันมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม 36 ล้านบาท ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 2,423 ล้านบาท และมี EBITDA หลักหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 14,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เป็นเงินจำนวน 14,054 ล้านบาท ดังนั้นในภาพรวม 2 ไตรมาส บริษัทฯ มี EBITDA สะสมอยู่ที่ 25,000 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อเงื่อนไขยื่นออกจากแผนฟื้นฟูกิจการที่ระบุว่า EBITDA ย้อนหลัง 12 เดือน เกิน 20,000 ล้านบาท
นายชาย กล่าวด้วยว่า ในงวดไตรมาสที่ 1 ปี 2567 มีการบันทึกด้อยค่าของเครื่องบิน และสินทรัพย์สิทธิการใช้ และอุปกรณ์การบินหมุนเวียน 3,338 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯ ได้เจรจาซื้อขายเครื่องบินปลดระวางทั้งหมดจำนวน 18 ลำแล้ว โดยดำเนินการทำสัญญาแล้วเสร็จโบอิ้ง 777-200 จำนวน 6 ลำ และอยู่ระหว่างเจรจาทำสัญญา ประกอบด้วย โบอิ้ง 777-300 จำนวน 6 ลำ และแอร์บัส A380 จำนวน 6 ลำ โดยการบันทึกด้อยค่าครั้งนี้ ถือว่าเป็นการบันทึกด้อยค่าจำนวนสูงสุดของปีนี้แล้ว หลังจากนี้จะเหลือเพียงบันทึกด้อยค่าจากอุปกรณ์การบิน เครื่องยนต์ต่างๆ
ขณะเดียวกันการขายอากาศยานที่ปลดระวางเป็นหนึ่งในการดำเนินงานของแผนฟื้นฟูกิจการ จึงถือว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินการแผนฟื้นฟูแล้วเสร็จอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ ยังคงคาดการณ์ว่าจะสามารถยื่นกลับซื้อขายหลักทรัพย์และออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ตามเป้าหมายในปี 2568 ส่วนในปี 2567 บริษัทฯ ยังคงคาดการณ์ว่าจะสามารถทำรายได้รวมอยู่ 1.8 แสนล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการดำเนินงาน 1.6 แสนล้านบาท ส่วนอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบิ้นแฟกเตอร์) คาดอยู่ในระดับ 75% ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงจับตาดูปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ที่จะเป็นปัจจัยลบส่งผลต่อภาพรวมกำไรของบริษัทฯ