โจทย์หินโยกหนี้ ‘FIDF’ คืนแบงก์ชาติ ‘คลัง’ ชี้ต้องแก้กฎหมายหนี้สาธารณะ

โจทย์หินโยกหนี้ ‘FIDF’ คืนแบงก์ชาติ ‘คลัง’ ชี้ต้องแก้กฎหมายหนี้สาธารณะ

กระแสข่าวการโยกย้ายหนี้ของกองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงิน (FIDF) ให้ไปอยู่ในบัญชีของแบงก์ชาติ อาจเป็นช่องทางให้รัฐบาลใช้เป็นกลไกโยกย้ายหนี้สาธารณะของไทยที่ใกล้เต็มเพดาน และเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง

KEY

POINTS

  • หนี้ FIDF ที่ปัจจุบันเป็นหนี้สาธารณะวงเงินกว่า 5.9 แสนล้าน คิดเป็น 5% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด
  • มีแนวคิดจากฟากฝั่งรัฐบาลในการนำกลับไปให้แบงก์ชาติบริหารเพื่อลดหนี้ส่วนนี้ลง และเปิดพื้นที่การคลังได้มากขึ้น
  • ในทางปฏิบัติการย้ายหนี้ FIDF ออกจากบัญชีหนี้สาธารณะ ไปให้แบงก์ชาติ ไม่ง่ายเพราะต้องแก้ พ.ร.บ.หรือออก พ.ร.ก.

กระแสข่าวในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่ารัฐบาลกำลังพิจารณาแนวทางในการโยกย้ายหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institutions Development Fund) หรือ FIDF ที่เกิดจากความเสียหายของสถาบันการเงินตั้งแต่ วิกฤติการเงิน ปี 2540 ไปอยู่ในบัญชีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีลง และเปิดพื้นที่ทางการคลังมากขึ้น

แหล่งข่าวจากกกระทรวงการคลัง เปิดเผย ”กรุงเทพธุรกิจ” ว่า หากจะทำเรื่องย้ายหนี้กองทุน FIDF จากหนี้สาธารณะไปอยู่ในบัญชีของ ธปท. สามารถทำได้ 2 แนวทาง คือ หนึ่ง แก้กฎหมาย พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2561 โดยการแก้คำนิยามให้กองทุน FIDF ไม่นับรวมเป็นหนี้สาธารณะ ตามที่เคยแก้กฎหมายให้หนี้ของธปท.ไม่รวมเป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งขั้นตอนนั้นต้องเริ่มจากการที่ ธปท.เป็นผู้เสนอขอแก้กฎหมายในส่วนนี้

“ซึ่งกระบวนการในการแก้กฎหมาย จะต้องให้ แบงก์ชาติ เป็นผู้เสนอ และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ จากนั้นส่งให้กฤษฎีกาตีความ และบรรจุวาระเข้าสภาฯ ก่อนที่กฎหมายจะมีผลใช้บังคับ”

ทั้งนี้ แนวทางข้างต้นจะต้องใช้เวลาพอสมควร จึงมองว่าแนวทางที่ 2 มีความเป็นไปได้มากกว่า คือแก้คำนิยามของ กองทุน FIDF ที่ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 

“โดยหลักการแล้วหากจะการย้ายหรือถ่ายโอนหนี้กองทุนฯ จากหนี้สาธารณะ ธปท. จะต้องเป็นผู้เสนอ ซึ่งตอนนี้ภาระความรับผิดชอบการชำระคืนหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยอยู่ที่ ธปท. แต่ปัจจุบันหนี้ส่วนนี้ยังนับเป็นหนี้สาธารณะ เพราะอยู่ในบัญชีหนี้สาธารณะของรัฐบาลทำให้สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ต้องบันทึกหนี้สาธารณะรายงานและคำนวณในหนี้สาธารณะของประเทศทุกปี” 

ทั้งนี้ในอดีต กองทุน FIDF ไม่ได้มีสถานะเป็นหนี้สาธารณะ โดยในปี 2543 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความสถานะของธนาคารแห่งประเทศไทยจัดเป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงิน จึงไม่นับว่าเป็นหนี้สาธารณะ 

ต่อมาเมื่อมีการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้แบงก์ชาติเปลี่ยนสถานะเป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงการคลัง จึงมีความลักลั่นในการนับหนี้สาธารณะของแบงก์ชาติ เนื่องจากโดยหลักการแล้วประเทศอื่นๆ จะไม่นับหนี้ของภาคการเงินเป็นหนี้สาธารณะ 

ต่อมาจึงมีการแก้กฎหมายในปี 2561 ไม่นับรวมหนี้ของธปท.เป็นหนี้สาธารณะ อย่างไรก็ตาม กองทุน FIDF ซึ่งจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย มีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีสถานะเป็นหน่วยงานในกำกับดูแลของรัฐจึงนับเป็นหนี้สาธารณะ 

ทั้งนี้ กองทุน FIDF เป็นการกู้ยืมโดยกระทรวงการคลังเพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาในช่วงวิกฤติการเงินปี 2540 ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้มีการตั้งงบประมาณเพื่อใช้คืนดอกเบี้ยของกองทุนดังกล่าว แต่เมื่อมีการออก พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 จึงกำหนดให้ภาระการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นของธปท. โดยธนาคารพาณิชย์เป็นผู้นำส่งเงินสบทในอัตรา 0.46% ต่อปี 

ซึ่งปัจจุบันมีหนี้คงเหลืออยู่ตามบัญชี FIDF 1 และ FIDF 3 ณ เดือน เม.ย.2567 เป็นวงเงิน 590,869  ล้านบาท คิดเป็น 5% ของวงเงินหนี้สาธารณะทั้งหมด ซึ่งหากไม่นับรวมหนี้จากกองทุนฯ ก็จะทำให้รัฐบาลมีช่องว่างในการกู้เงินเพิ่มขึ้นและน่าจับตาดูว่ารัฐบาลจะใช้ช่องว่างดังกล่าวในการดำเนินนโยบายการคลังต่อไปอย่างไร จากปัจจุบันที่ระดับหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 65.03% ต่อจีดีพี ซึ่งใกล้ชนเพดานกรอบการก่อหนี้สาธารณะให้ไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี ตามกรอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561