4 ภารกิจ ‘คงกระพัน’ ดัน ปตท.เติบโตยั่งยืนระดับโลก
เปิด 4 ภารกิจตามวิสัยทัศน์ "คงกระพัน อินทรแจ้ง" CEO คนใหม่ คุมงบลงทุน 8.9 หมื่นล้าน เร่งแผนธุรกิจใหม่ ดัน "ปตท." เติบโตยั่งยืนระดับโลก
เปิดวิสัยทัศน์ “คงกระพัน อินทรแจ้ง” CEO ปตท.คนที่ 11 เข้าทำงานวันแรก คุมงบลงทุน 8.9 หมื่นล้าน ตามกรอบแผน 5 กลุ่มธุรกิจหลัก พร้อมงบลงทุนในอนาคตอีก 106,932 ล้านบาท มุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงาน สนับสนุน New S-Curve ให้ประเทศ เคลื่อนองค์กรเติบโตคู่สังคมไทยอย่างยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์นำ ปตท.แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตระดับโลกบนหลัก “ยั่งยืนอย่างสมดุล”
บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ถึงการเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อนายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ CEO ปตท.คนที่ 11 เข้าปฎิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการวันแรกในวันที่ 13 พ.ค.2567 กับภารกิจท้าทายรอพิสูจน์ฝีมือขับเคลื่อนองค์กรพลังงานชาติ ที่มีสินทรัพย์รวม 3.53 ล้านล้านบาท ภายใต้อุตสาหกรรมพลังงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
นายคงกระพัน เริ่มหน้าที่อย่างเป็นทางการวันแรก หลังจากนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ CEO ปตท.คนที่ 10 หมดวาระเกษียณอายุครบ 60 ปี ในวันที่ 12 พ.ค.2567
นายคงกระพัน กล่าวว่า วิสัยทัศน์ ปตท.จะแข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน โดยการสร้างความแข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และการสร้างการเติบโตทางธุรกิจ ต้องอยู่บนพื้นฐานหลักการของความยั่งยืนอย่างสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการกำกับดูแลกิจการที่ดี
สำหรับแนวคิดการบริหารธุรกิจของ ปตท.หลังจากนี้ ประกอบด้วย
1.บริหารธุรกิจแบบยั่งยืนในทุกมิติ การที่องค์กรจะดำเนินไปได้ ธุรกิจต้องมีกำไร แต่เป็นกำไรที่เหมาะสมและยั่งยืน ไม่เน้นกำไรระยะสั้น ธุรกิจต้องเป็นประโยชน์กับประเทศไทย ช่วยสังคมไทย เอสเอ็มอี และเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม
2.การลงทุนต้องเกิดประโยชน์ทั้งกับองค์กรและประเทศ จากสถานการณ์โลกที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โลกในปัจจุบันค่อนข้าง Dinamic มีทั้ง Giopolitics เรื่องภาวะเศรษฐกิจ Demand & Supply เมกะเทรนด์ต่างๆของโลกเปลี่ยนแปลงซึ่ง Dinamic มาก
ดังนั้น ปตท.ต้องคล่องตัวมี Agility อะไรที่ดีๆ ปตท.ต้องไม่ช้า ต้องตัดสินใจได้ ต้องลงทุน แต่อะไรที่เมื่อก่อนอาจจะดีหรือธุรกิจที่อาจจะไม่ Perform ต้องมีความกล้าที่จะออกจากมัน ลดการลงทุน หรือ Exit โดยชาญฉลาดและก็รวดเร็ว
3.สร้างความเชื่อมั่นให้ทุกภาคส่วน การสร้างความมั่นใจให้กับ Stakeholders ก็เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ปตท.ต้องสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนให้กับสังคมให้กับภาครัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ปตท.ทั้งหมด การทำธุรกิจและการบริหารจัดการต้องโปร่งใส ทำเรื่องบรรษัทภิบาลอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความมั่นใจเหล่านี้ให้เกิดขึ้นและเกิดอยู่อย่างยั่งยืน
4.บุคลากร เป็นสิ่งสำคัญมาสำหรับ ปตท.มีบุคลากรที่เก่ง มีความรู้ความสามารถ ต้องสร้างพลังให้เกิดความร่วมมือ พาองค์กรก้าวผ่านทุกความท้าทาย ต้องทำให้ ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน
คุมงบลงทุน 5 ปีเฉียด 9 หมื่นล้าน
ทั้งนี้ ปตท.มีแผนการลงทุนช่วง 5 ปี (2567-2571) ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ปตท.วันที่ 21 ธ.ค.2566 ครอบคลุมการของลงทุนของ ปตท.และบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% วงเงินรวม 89,203 ล้านบาท ผ่านใน 5 กลุ่มธุรกิจหลัก ประกอบด้วย
1.ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ วงเงินลงทุนรวม 30,636 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 34% ของงบลงทุนรวม
2.ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ วงเงินลงทุนรวม 14,934 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 17% ของงบลงทุนรวม
3.ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย วงเงินลงทุนรวม 3,022 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 4% ของงบลงทุนรวม
4.ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ วงเงินลงทุนรวม 12,789 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 14% ของงบลงทุนรวม
5.การลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% วงเงินลงทุนรวม 27,822 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 31% ของวงเงินลงทุนรวม
สำหรับแผนการลงทุนดังกล่าวรองรับการลงทุนธุรกิจหลัก (Core Business) เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนของงบการลงทุน 5 ปี ประมาณ 51% โดยมีโครงการหลัก อาทิ
โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 และโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่8 รวมทั้งโครงการท่อส่งก๊าซฯ บางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 รวมถึงโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เป็นต้น
ทุ่มอีกกว่า 1 แสนล้านลุยธุรกิจอนาคต
นอกจากนี้ ปตท.เตรียมงบลงทุนโครงการที่อยู่ระหว่างหาโอกาสลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ระยะ 5 ปี ข้างหน้า 106,932 ล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน อาทิ ขยายการลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นพลังงานเปลี่ยนผ่าน (Transition Fuel)
โดยมุ่งเน้นการขยายโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติและการขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวอย่างครบวงจร (LNG Value Chain) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการขยายการลงทุนของธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายในการสร้างถังเก็บผลิตภัณฑ์
อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 ที่ผ่านมา ปตท. มีส่วนร่วมสร้างเสถียรภาพทางพลังงาน จุดพลังพัฒนาคุณภาพชีวิต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน
เร่งดันการลงทุน EV Value Chain
รวมทั้งยังได้ลงทุนในธุรกิจใหม่ผ่านบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% อาทิ โครงการลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ครบวงจร เช่น โครงการ EVme ซึ่งให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้าครบวงจร โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Horizon Plus โครงการการลงทุนในธุรกิจโรงงานประกอบแบตเตอรี่โดยใช้เทคโนโลยี Cell- To-Pack (CTP)
จัดตั้งโรงงาน NV Gotion ผลิตชุดแบตเตอรี่ ร่วมกับ KYMCO Group จัดตั้ง Aionex จำหน่ายมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพิ่มจุดติดตั้ง EV Charging Station แบรนด์ on-ion ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ตั้ง บริษัท อรุณ พลัส จะเดินหน้าพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ EV Value Chain ทั้งหมด
เดินหน้าธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าเดิม
ธุรกิจ AI & Robotics เพื่อเป้าหมายการเป็นผู้นำการให้บริการด้าน AI & Robotics ในอนาคต ตลอดจนการลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานโดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายขนส่งทั้งหมดของประเทศ ซึ่งได้เปิดการขนส่งสินค้าทางรางเส้นทางไทย-ลาว-จีน เชื่อมโยงระบบขนส่งไทยและภูมิภาคอาเซียน
เดินหน้าธุรกิจไฟฟ้า จะต้องมีพลังงานทดแทน 15,000 เมกะวัตต์ ปี 2030 ผ่าน บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เป็นต้น
ด้านธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน NRPT เปิดตัว Plant & Bean ประเทศไทย โรงงานรับจ้างผลิตโปรตีนพืช 100% ที่ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารระดับโลก BRCGS Plant-based ที่แรก และใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
รวมทั้ง Innobic Nutrition เปิดตัวผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย โดยการลงทุนในธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ (Life science) ธุรกิจยา ธุรกิจโภชนาการและอุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์
ดูแลสังคมชุมชนและสิ่งแวดล้อม
ด้านสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ปตท.ปลูกป่าไปแล้วทั้งสิ้น 86,173 ไร่ ใน 25 จังหวัด กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น เสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน ผ่านโครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้มที่ได้นำองค์ความรู้และนวัตกรรมของกลุ่ม ปตท. ถ่ายทอดให้แก่ชุมชนเกษตรกรรมใน 45 พื้นที่ 29 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเพิ่มรายได้ชุมชนกว่า 31.59 ล้านบาท
รวมทั้งโครงการสานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคมที่สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการอีกกว่า 5.75 ล้านบาท เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2040 และเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050
ที่ผ่านมา ปตท.ได้ร่วมบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนให้ก้าวข้ามช่วงวิกฤต ผ่านการดำเนินงาน อาทิ โครงการลมหายใจเดียวกันและลมหายใจเพื่อน้อง การสำรองน้ำมัน 4 ล้านบาร์เรล การตรึงราคา NGV การช่วยเหลือราคา LPG แก่หาบเร่แผงลอยผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมัน การขยายเครดิตเทอมแก่ กฟผ.เป็นต้น คิดเป็นมูลค่าการช่วยเหลือตั้งแต่ปี 2563-2566 รวมแล้วกว่า 31,060 ล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงาน ปตท.และบริษัทย่อยปี 2566 มีกำไรสุทธิ 112,024 ล้านบาท เติบโต 22.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 91,174.86 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.6% ของยอดขาย สูงกว่าปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือของกลุ่ม ปตท.ในการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 13,000 ล้านบาท