ครม.สัญจรเพชรบุรี รับทราบขึ้นค่าแรง 400 /วัน ทั่วประเทศ เริ่มต.ค.นี้
“ครม.สัญจรเพชรบุรี” รับทราบไทม์ไลน์การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาทต่อวันภายในเดือน ต.ค.นี้ พร้อมไฟเขียวสิทธิประโยชน์ EEC ให้วีซ่าแรงงานเป้าหมายสูงสุดไม่เกิน 10 ปี เสียภาษีคงที่ 17% “ภูมิธรรม” ดักทางขึ้นราคาสินค้าตามค่าแรง สั่งพาณิชย์ดูแลราคาสินค้า
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ(ครม.สัญจร) กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2(เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร) จ.เพชรบุรี วันนี้ (14 พ.ค.) มีมติรับทราบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากัน 400 บาท ทั่วประเทศ มีผลบังคับใช้ในเดือนก.ย.-ต.ค.67 นี้
นอกจากนี้ ครม.สัญจรยังรับเห็นชอบในหลักการโครงการของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 จำนวน 10 โครงการ วงเงิน 246.26 ล้านบาท และโครงการที่เป็นข้อเสนอของภาคเอกชน 8 โครงการ วงเงิน 268 ล้านบาท รวม 18 โครงการ วงเงิน 514.26 ล้านบาท ให้ใช้งบประมาณปี 67 และงบกลางฯต่อไป
นอกจากนี้ครม.ยังเห็นชอบ การตรวจลงตรากรณีพิเศษสำหรับชาวต่างชาติที่มีศักยภาพในกลุ่มเป้าหมาย ที่เข้ามาทำงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) หรือ อีอีซีวีซ่า ได้สูงสุดไม่เกิน 10 ปี และได้ลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาคงที่ 17 %
ทั้งนี้การจัดประชุม ครม.ยังได้ ส่วนการประชุมครม.สัญจรครั้งต่อไป จะจัดที่จ.นครราชสีมา ช่วงปลายเดือนมิ.ย.-ต้นเดือนก.ค.นี้
ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ได้ยืนยันไทม์ไลน์ของนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ต่อที่ ประชุมครม.สัญจร โดยในวันนี้ คณะกรรมการค่าจ้าง ที่มีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน จะนัดหารือถึงรายละเอียดการศึกษาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ภายหลังจากได้มีการปรับขึ้นนำร่องแล้วในธุรกิจโรงแรม รวม 10 จังหวัดไปก่อนหน้านี้
โดยตามนโยบายของกระทรวงแรงงาน จะหาทางผลักดันการพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน โดยมีเป้าหมายการประกาศใช้ทั่วประเทศ ให้ได้ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ ซึ่งที่ประชุม ครม.สัญจร ก็ได้รับทราบรายละเอียดของไทม์ไลน์ตามที่เสนอ โดยนายกฯ รัฐมนตรีไม่ได้มีข้อสั่งการใดเป็นพิเศษ
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบไทม์ไลน์การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำดังนี้
1) กำหนดให้สำรวจค่าใช้จ่ายท่ีจำเป็นของแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรม ปี 2567 เดือนเมษายน-มิถุนายน 2567
(2) กำหนดให้มีการประชุมหารือผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเดือนพฤษภาคม 2567
(3) สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างเสนอคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณากรอบแนวทางและหลักเกณฑ์การทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด เพื่อให้การประชุมของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดทุกจังหวัดและคณะอนุกรรมการวิซาการและกลั่นกรองเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดอย่างมีหลักวิชาการและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2567
(4) สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างเสนอคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดทุกจังหวัดและคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองเพื่อทบทวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 และเสนอประกาศ คณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้เดือนกันยายน-ตุลาคม 2567
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้มีผลกระทบต่อการปรับขึ้นราคาสินค้าทุกรายการ ทั้งนี้ต้องดูต้นทุนแต่ละรายสินค้า ซึ่งสามารถชี้แจงได้ และส่วนนี้กระทวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในดูแลอยู่
“มั่นใจว่าการปรับขึ้นค่าแรงนั้นไม่ใช่ว่าจะทำให้สินค้าขึ้นไปทั้งหมด ต้องดูเงื่อนไขและรายละเอียดต่างๆ จะมาอ้างเรื่องของการปรับขึ้นค่าแรงไม่ได้ ต้องดูต้นทุนว่ามาจากส่วนไหนเท่าไหร่ ซึ่งเรื่องนี้กรมการค้าภายในดูอยู่แล้ว” นายภูมิธรรมกล่าว