ยันปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทรอบ 3 ภาคเอกชนค้าน ไม่ปรับทั่วประเทศ ทุกกิจการ

ยันปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทรอบ 3 ภาคเอกชนค้าน ไม่ปรับทั่วประเทศ ทุกกิจการ

ก.แรงงาน ยืนยันปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท รอบ 3 อย่างแน่นอน ส่วนจะทุกกิจการ ทั่วประเทศหรือไม่ ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ขณะที่ภาคเอกชน เห็นค้านปรับขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ ระบุผู้ประกอบการ 80% อยู่ไม่รอด ควรคำนึงดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และกรอบตามกฎหมาย

ที่กระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับผู้แทนสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม  สมาคมก่อสร้าง กลุ่มธุรกิจ SMEs  และกลุ่มธุรกิจตลาดสด ค้าปลีก ค้าส่ง หลังยื่นหนังสือคัดค้านการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ ว่า จากการหารือผู้แทนแต่ละภาคธุรกิจ ต่างเห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท แต่ไม่เห็นด้วยหากให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ พร้อมกัน

พวกเขาเห็นใจลูกจ้างและอยากให้ลูกจ้างได้รับค่าแรงที่เหมาะสมกับค่าครองชีพทางเศรษฐกิจ แต่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ ทุกกิจการ อาจจไม่ได้ เพราะบางกิจการมีเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น การปรับขึ้นค่าแรงอาจจะทำให้ธุรกิจประสบปัญหา ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ หรือไตรภาคี ในวันที่ 14 พ.ค. 2567  จะพิจารณาอย่างรอบคอบ และอาจจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในธุรกิจบางกิจการที่มีความพร้อม

“เท่าที่ได้รับฟัง ผมรู้สึกดีใจแทนลูกจ้างที่ภาคธุรกิจต่างๆ เห็นด้วยที่ต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้ขึ้นทั้งประเทศ ฉะนั้น ภายในปี 2567 วันที่ 1 ต.ค.2567 นี้ จะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบที่ 3 อย่างแน่นอน” ปลัดก.แรงงาน กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ต่างมุม!! "นายจ้าง ลูกจ้าง" หนุน-ค้าน ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท

ประเทศ ‘เงินเดือนสูง’ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ‘ไทย’ อยู่อันดับไหน

ผู้ประกอบการ 80% จะอยู่ไม่ได้

ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ ตัวแทนสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการประชุมหารือร่วมกันครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ทางกระทรวงแรงงานให้โอกาสภาคเอกชนได้มานำเสนอข้อเท็จจริง เราเห็นด้วยที่รัฐบาลยกระดับรายได้ให้แก่แรงงาน แต่อยากให้รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพราะการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ทุกอาชีพนั้น อาจจะกระทบกับหลายกิจการ

เช่น ตลาดสด SMEs แรงงานภาคเกษตร แรงงานเป็น 10 ล้านคน  ขอให้พวกเขาได้ปรับตัวก่อน และหากธุรกิจไหนมีความพร้อมก็ปรับไป ซึ่งการหารือ พูดคุยกับทางกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงแรงงานสามารถคุยกันได้อีกหลายครั้ง หลังจากนี้จะมีการปรึกษาหารือกันในรายละเอียดว่าคลัสเตอร์ ธุรกิจไหนบ้างได้รับผลกระทบ หรือไม่

“การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ  400 ทั่วประเทศ ทุกอาชีพนั้น กระทบต่อพ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบการค้าปลีก ตลาดสด ค่าส่ง ก่อสร้าง ซึ่ง 80% พวกเขาจะอยู่ไม่ได้ และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่หอการค้าทั้ง  76 จังหวัด 92 สมาคมทั้งเจ้าของโรงงาน ผู้ประกอบการรายย่อยได้ยื่นหนังสือพร้อมกัน ขอให้ยกระดับปรับรายได้ของพี่น้องแรงงานที่เป็นไปตามคณะอนุกรรมการจังหวัด และคณะกรรมการไตรภาคี  ขอให้เห็นใจรายย่อย และอยากให้ธุรกิจฟื้นตัวมากกว่านี้”  ดร.ชนินทร์ กล่าว

ปรับค่าแรง ควรอยู่ในกรอบกฎหมาย

นายสุชาติ จันทรานคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับรมว.แรงงาน ซึ่งได้เปิดใจถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ว่าเป็นนนโยบายของรัฐบาล และไม่ว่าอย่างไรก็จะต้องปรับขึ้นค่าแรง ซึ่งสภาอุตสาหกรรม อยากจะเรียกร้องว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท นั้น ควรจะเป็นไปตามกลไก และพิจารณาจากดัชนี้ชี้วัดทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ จีดีพีของประเทศ

ขณะนี้ ตามดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจในเรื่องอัตราเงินเฟ้อสอดคล้องกับสินค้า อุปโภค บริโภค เท่าที่ได้ประมาณการ ลดต่ำมากเหลือเพียง0.5% ถึง 1%  อัตราการเจริญเติบโตของประเทศเหลือเพียง 2.2% ส่งออกเหลือเพียง 0.5% ฉะนั้น ดัชนีเศรษฐกิจชี้ไปในทางความพร้อมมีน้อยมาก คณะกรรมการค่าจ้างมีตัวแทนฝ่ายรัฐบาลจากธนาคารแห่งประเทศ สภาพัฒน์ ที่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับความจำเป็น และดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ ว่าควรจะปรับขึ้นค่าแรงได้มากน้อยขนาดไหน

“รมว.แรงงาน ให้ข้อคิดเห็นว่า อาจจะเป็นการปรับขึ้นค่าแรงตามประเภทกิจการ หรือตามพื้นที่ ซึ่งตรงนี้อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการค่าจ้างที่สามารถปรับค่าแรงตามประเภทกิจการ ตามพื้นที่ได้ แต่การปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศนั้น กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ และการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ในปีหนึ่งปรับถึง 3 ครั้ง เป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล” นายสุชาติ กล่าว

นายสุชาติ กล่าวต่อว่าตามดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ สภาอุตสาหกรรมฯ พร้อมให้ความร่วมมือในการหารือ จะทำอย่างไรให้การปรับค่าจ้าง เป็นธรรมระหว่างลูกจ้าง นายจ้าง และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการต้องอยู่ได้ ลูกจ้างจึงอยู่ได้ แต่ถ้าผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้ เลิกกิจการ ลูกจ้างก็จะอยู่ไม่ได้ อยากฝากรมว.แรงงาน ในเรื่องนี้ และฝากถึงปลัดแรงงาน ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการค่าจ้าง การพิจารณาควรอยู่ในกรอบของกฎหมายที่ให้ไว้