สถานทูตอิสราเอล จัดรำลึกทหาร-เหยื่อก่อการร้าย ภรรยาแรงงานไทยเล่าความสูญเสีย
สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลในกรุงเทพฯ จัดพิธีวัน ยม ฮาซิคารอนสำหรับชุมชนชาวอิสราเอลในประเทศไทย เพื่อรำลึกถึงทหารที่เสียชีวิตและเหยื่อของการก่อการร้าย ตามที่ได้จัดเป็นประจำทุกปี ปีนี้พิเศษภรรยาม่ายแรงงานไทยเปิดใจถึงความสูญเสีย
เมื่อวันที่ 12 พ.ค. นางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย พร้อมด้วยผู้นำทางศาสนา และตัวแทนจากชุมชนชาวอิสราเอลในประเทศไทย ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในพิธีวัน ยม ฮาซิคารอน
”ปีนี้เป็นปีที่ยากลำบากอย่างยิ่งสำหรับอิสราเอล เช่นเดียวกับชาวไทยทั้ง 39 ครอบครัวที่สูญเสียผู้เป็นที่รักไปเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 และได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวชาวอิสราเอลที่เศร้าโศกจากการสูญเสียผู้เป็นที่รักไปเช่นกัน”
งานวัน ยม ฮาซิคารอน ปีนี้แตกต่างไปจากทุกปี กล่าวคือ สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลได้เชิญนางนริสรา มาลี ภรรยาม่ายของนายเทียนชัย ยอดทองดี แรงงานคนไทยภาคการเกษตร ผู้ถูกสังหารในการโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายฮามาส ที่คิบบุตซ์อลูมิม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 มาร่วมงานพร้อมด้วยบุตรทั้งสองอายุ 12 และ 8 ขวบ
ในโอกาสนี้เธอในฐานะตัวแทนผู้สูญเสียได้แบ่งปันเรื่องราวที่ครอบครัวประสบให้บรรดาผู้มาร่วมงานได้รับทราบ เริ่มตั้งแต่เธอและสามีเริ่มรู้จักกัน ทำงานอยู่ด้วยกันในสาธารณรัฐเกาหลี การกลับมายังประเทศไทย และการเดินทางอีกครั้งของนายเทียนชัยเพื่อไปทำงานในอิสราเอล ทั้งนี้ มีชาวอิสราเอลเป็นผู้แปลคำพูดของนางนริสราเป็นภาษาฮีบรู และแปลรายละเอียดของพิธีการเป็นภาษาไทยให้นางนริสราได้รับทราบด้วย
เรื่องราวของครอบครัวสรุปได้ว่า ทั้งนางนริสราและนายเทียนชัยต่างสมัครไปทำงานที่อิสราเอลด้วยกันทั้งคู่ ตัวเธอได้รับเรียกก่อนแต่สามีต้องการไปดูลู่ทางว่าการทำงานที่นั่นเป็นอย่างไร เนื่องจากเป็นงานเกษตรที่มีแต่ผู้ชาย
นายเทียนชัยไปทำงานที่อิสราเอลได้เงินเดือนดี ภรรยาจึงสามารถเป็นแม่บ้านดูแลลูกได้เต็มที่ จนกระทั่งวันเกิดเหตุ 7 ต.ค. นางนริสราเล่าว่า วันนั้นสามีโทรมาตั้งแต่เช้าซึ่งปกติเขาจะไม่โทรมาเช้าขนาดนี้ เธอเอะใจว่าน่าจะมีอะไรผิดปกติ เมื่อรับสายก็ทราบว่า มีผู้ก่อการร้ายขี่มอเตอร์ไซค์เข้ามากราดยิงในแคมป์คนงานเนปาลก่อนมาถึงแคมป์คนงานไทย
“ทหารอิสราเอลเข้ามาไล่ผู้ก่อการร้ายไปได้แล้วในรอบแรกก็เข้ามาอีกรอบสอง พ่อของเด็ก (นายเทียนชัย) ก็โทรมาเล่าให้ฟัง ตอนนั้นเขากำลังหลบอยู่ในห้อง”
ได้ยินเช่นนั้นนางนริสราก็บอกสามีให้หลบอยู่อย่างนั้นจนกว่าทหารอิสราเอลจะออกมารับ
“ตั้งแต่ตอนเช้าพ่อก็ถ่ายคลิปวีดิโอที่เขายิงกันมาให้ดู ก็ไม่คิดว่าจะร้ายแรงขนาดนี้” นางนริสรากล่าวพร้อมย้ำว่า หลังจากกราดยิงในแคมป์คนงานชาวเนปาลในรอบแรกไปแล้ว ถ้าผู้ก่อการร้ายไม่เข้ามาในรอบที่ 2 แรงงานไทยจะไม่เสียชีวิต
“พอเข้ามาก็อย่างที่ทราบ เสียชีวิตกันหลายคน” นางนริสราพูดเสียงเครือ เหตุการณ์นี้ทำให้เธอสูญเสียเสาหลักของครอบครัว
นางนริสราขอบคุณรัฐบาลไทยและรัฐบาลอิสราเอลที่ให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้สูญเสีย โดยเฉพาะรัฐบาลอิสราเอลที่ให้เงินช่วยเหลือบุตร เดือนละ 20,000 บาท จนอายุครบ 21 ปี
ด้านเอกอัครราชทูตซากิฟกล่าวเสริมถึงความช่วยเหลือจากรัฐบาลอิสราเอล
1. ภรรยาม่ายประมาณเดือนละ 120,000-150000 บาท ตามค่าเงิน รับไปตลอดชีวิตแม้ว่าจะแต่งงานใหม่
2. เงินช่วยเหลือบุตร คนละประมาณเดือนละ 20,000 บาท จนอายุ 21 ปี
3. พ่อแม่ได้ทุกเดือนจนกระทั่งเสียชีวิต ถ้าพ่อแม่ยังอยู่ด้วยกันได้เงินช่วยเหลือจำนวนพอๆ กับภรรยาม่าย ถ้าพ่อแม่หย่าร้างกันเลิกกัน ได้รับเงินทั้งสองคนแบบแยกบัญชี
4. เงินค่าทำศพได้ทันทีไปแล้วประมาณ 100,000 บาท และจะได้อีกประมาณนี้ทุกปีเป็นเงินทำบุญครบรอบการเสียชีวิต