ปิด'ช่องแคบฮอร์มุซ'ดันราคาน้ำมันพุ่ง 250 ดอลลาร์/บาร์เรล
ทุกครั้งที่เกิดความตึงเครียดขึ้นในตะวันออกกลาง ดูเหมือนว่าทั้งโลกจะหยุดหายใจแล้วหันมาจับตาพื้นที่ส่วนนี้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันและมีเส้นทางขนส่งน้ำมันสำคัญคือ “ช่องแคบฮอร์มุซ” ถ้าเกิดอะไรขึ้นกับช่องแคบนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานข้อมูลจากบริษัทวิเคราะห์วอร์เท็กซา (Vortexa) ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.ย.2566 น้ำมันหนึ่งในห้าของการบริโภคทั่วโลกทั้งในรูปน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันต้องผ่านเส้นทางนี้ เฉลี่ย 20.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ความหวาดวิตกล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อสถานทูตอิหร่านในกรุงดามัสกัสของซีเรียถูกโจมตีทางอากาศ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (ไออาร์จีซี) เสียชีวิตเจ็ดนาย ในจำนวนนี้เป็นระดับผู้บัญชาการสองนาย อิหร่านเชื่อว่าเป็นฝีมือของอิสราเอล
ต่อมาวันที่ 9 เม.ย.อลิเรซา ตังซิรี ผู้บัญชาการกองทัพเรืออิหร่าน เผยกับสำนักข่าวอัลเมยาดีนที่สนับสนุนกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ของเลบานอน
“เราสามารถปิดช่องแคบฮอร์มุซได้ แต่เราไม่ทำ อย่างไรก็ตามถ้าศัตรูเข้ามาป่วนเรา เราจะทบทวนนโยบาย” ผบ.ทร.อิหร่านกล่าวและว่า ถ้าเรือพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐเข้ามายังน่านน้ำอิหร่าน ช่องแคบฮอร์มุซ “จะใช้การไม่ได้ไปอีกหลายปี”
ในอดีตอิหร่านเคยขู่ว่าจะปิดช่องแคบฮอร์มุซหลายครั้งเมื่อเกิดความตึงเครียดกับสหรัฐและอิสราเอล
รู้จักช่องแคบฮอร์มุซ
น่านน้ำยุทธศาสตร์แห่งนี้มีรูปร่างเหมือนตัว V หัวตั้ง เชื่อมอ่าวเปอร์เซียกับมหาสมุทรอินเดีย มีอิหร่านอยู่ทางตอนเหนือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และโอมานอยู่ทางตอนใต้ความยาวของช่องเกือบ 161 กิโลเมตร ส่วนแคบสุดกว้าง 33.8 กิโลเมตร ความลึกของช่องแคบไม่มากนักทำให้เรือเสี่ยงต่อทุ่นระเบิด และระยะทางห่างจากแผ่นดินโดยเฉพาะอิหร่านไม่ไกลนัก ทำให้เรือมีโอกาสถูกโจมตีจากขีปนาวุธยิงจากฝั่ง หรือถูกเรือลาดตระเวนและเฮลิคอปเตอร์ตรวจจับได้
ความสำคัญของช่องแคบ
ช่องแคบฮอร์มุซสำคัญยิ่งต่อการค้าน้ำมันโลก สำนักข่าวบลูมเบิร์กรวบรวมข้อมูลพบว่า ในไตรมาสหนึ่งของปี 2567 เรือบรรทุกน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันจากซาอุดีอาระเบีย อิรัก คูเวต ยูเออีและอิหร่านผ่านช่องแคบนี้เกือบ 15.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ทั้งยังเป็นเส้นทางขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) กว่าหนึ่งในห้าของอุปทานโลก ส่วนใหญ่มาจากกาตาร์
ชนวนล่าสุด
วันที่ 13 เม.ย. หลายชั่วโมงก่อนใช้โดรนและขีปนาวุธโจมตีอิสราเอล ไออาร์จีซียึดเรือเอ็มเอสซีแอรีส์ ซึ่งเป็นเรือขนส่งสินค้าเกี่ยวข้องกับอิสราเอลใกล้ช่องแคบฮอร์มุซระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมาน
กองกำลังพิเศษโรยตัวจากเฮลิคอปเตอร์ลงเรือแล้วบังคับเรือเข้าน่านน้ำอิหร่าน ทอดสมอระหว่างหมู่เกาะเคชม์ของอิหร่านกับช่องแคบฮอร์มุซในอ่าวเปอร์เซีย
ทำไมอิหร่านต้องป่วนการเดินเรือ
อิหร่านคุกคามเรือในอ่าวเปอร์เซียมาหลายสิบปีเพื่อแสดงความไม่พอใจที่ถูกคว่ำบาตร หรือแสดงอำนาจเหนือกว่าเมื่อเกิดข้อพิพาท
กรณีล่าสุดรัฐบาลเตหะรานอ้างว่ายึดเรือไว้เพราะละเมิดกฎหมายทางทะเล แต่นักวิเคราะห์มองว่า น่าจะเป็นเพราะอิสราเอลเป็นเจ้าของเรือมากกว่า
ตอนที่อิหร่านยึดเรือบรรทุกน้ำมันมุ่งหน้าไปสหรัฐในเดือน เม.ย.2566 ได้ให้เหตุผลว่า เรือลำนี้โจมตีเรือลำอื่น แต่ดูเหมือนอิหร่านทำไปเพื่อตอบโต้ทางการสหรัฐยึดเรือบรรทุกน้ำมันอิหร่านนอกชายฝั่งมาเลเซียโทษฐานละเมิดมาตรการคว่ำบาตร
เดือน พ.ค.2565 อิหร่านยึดเรือบรรทุกน้ำมันกรีซสองลำไว้นานถึงหกเดือน สันนิษฐานว่าเพื่อตอบโต้ทางการกรีซและสหรัฐที่ยึดน้ำมันอิหร่านจากเรืออีกลำหนึ่ง สุดท้ายเรือทั้งสองลำก็ถูกปล่อยเป็นอิสระ
อิหร่านเคยปิดช่องแคบฮอร์มุซหรือไม่
จนถึงขณะนี้อิหร่านยังไม่เคยปิดช่องแคบฮอร์มุซ ระหว่างสงครามอิรัก-อิหร่าน ปี 2523-2531 กองทัพอิรักโจมตีสถานีส่งออกน้ำมันบนเกาะคาร์จ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของช่องแคบ เป็นชนวนหนึ่งให้อิหร่านต้องตอบโต้ซึ่งเป็นการดึงสหรัฐเข้ามาร่วมวงความขัดแย้งนี้ด้วย
หลังจากนั้นเกิดสงครามเรือบรรทุกน้ำมัน ทั้งสองฝ่ายโจมตีเรือของกันและกัน 451 ลำ เพิ่มต้นทุนการขนส่งน้ำมันอย่างมหาศาลดันราคาน้ำมันพุ่งสูงตามไปด้วย
ตอนถูกคว่ำบาตรในปี 2554 อิหร่านขู่ว่าจะปิดช่องแคบฮอร์มุซแต่สุดท้ายก็ไม่ทำ
ผู้ค้าน้ำมันสงสัยว่าอิหร่านจะปิดช่องแคบทั้งหมดได้หรือไม่ เพราะอิหร่านก็ส่งออกน้ำมันของตนไม่ได้เหมือนกัน
ยิ่งไปกว่านั้น กองทัพเรืออิหร่านยังเทียบกันไม่ได้กับกองเรือที่ 5 ของสหรัฐและกองกำลังอื่นๆ ในภูมิภาค
ก่อนเกิดเหตุยึดเรือลำล่าสุดในเดือน เม.ย.ได้ไม่นาน ผบ.กองทัพเรืออิหร่านพูดว่า อิหร่านสามารถใช้ช่องแคบฮอร์มุซป่วนการเดินเรือได้แต่เลือกที่จะไม่ทำ
จะปกป้องช่องแคบฮอร์มุซได้อย่างไร
ระหว่างสงครามเรือบรรทุกน้ำมัน กองทัพเรือสหรัฐกลับมาลาดตระเวนติดตามเรือในอ่าวเปอร์เซียอีกครั้งหนึ่ง ปี 2562 สหรัฐส่งเรือบรรทุกเครื่องบินหนึ่งลำและเครื่องบินทิ้งระเบิดบี-52 จำนวนหนึ่งเข้ามาในภูมิภาคนี้
ปีเดียวกันสหรัฐเริ่มปฏิบัติการ Operation Sentinel ตอบโต้อิหร่านก่อกวนการเดินเรือ ต่อมาอีกสิบชาติ อาทิ สหราชอาณาจักร ซาอุดีอาระเบีย ยูเออี และบาห์เรน เข้าร่วมด้วย เรียกว่า โครงสร้างความมั่นคงทางทะเลระหว่างประเทศ
นับตั้งแต่ปลายปี 2566 ปฏิบัติการปกป้องเรือสินค้าส่วนใหญ่ย้ายจากช่องแคบฮอร์มุซมายังทะเลแดงตอนใต้และช่องแคบบับเอลมันเดบ ที่เชื่อมช่องแคบกับอ่าวเอเดนและมหาสมุทรอินเดีย
การโจมตีเรือสินค้าเข้าออกทะเลแดงโดยฮูตีในเยเมนกลายเป็นความน่ากังวลมากกว่าช่องแคบฮอร์มุซ กองกำลังในทะเลแดงนำโดยสหรัฐจึงพยายามปกป้องการเดินเรือในพื้นที่นี้
ใครพึ่งพาช่องแคบฮอร์มุซมากที่สุด
การส่งออกน้ำมันของซาอุดีอาระเบียส่วนใหญ่ผ่านช่องแคบนี้ แต่ก็สามารถเปลี่ยนไปใช้ท่อส่งความยาว 1,200.5 กิโลเมตรข้ามประเทศไปสู่สถานีน้ำมันในทะเลแดงได้
ยูเออีสามารถเลี่ยงช่องแคบฮอร์มุซได้บ้าง ด้วยการส่งน้ำมัน 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันผ่านท่อส่งจากบ่อน้ำมันของตนไปยังท่าเรือฟูไจราห์ในอ่าวโอมาน
น้ำมันอิรักบางส่วนใช้เรือบรรทุกจากท่าเรือซีฮานของตุรกี แต่ 85% ขนส่งผ่านช่องแคบฮอร์มุซ อิรักจึงต้องพึี่งพาเส้นทางนี้อย่างมาก
คูเวต กาตาร์ และบาห์เรนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้เส้นทางนี้เท่านั้น
แนวโน้มราคาน้ำมันหากปิดช่องแคบฮอร์มุซ
ต้นเดือน พ.ย.2566 ไม่กี่สัปดาห์หลังสงครามระหว่างฮามาสกับอิสราเอลปะทุขึ้น เกิดความกังวลกันมากว่าความขัดแย้งจะบานปลาย แบงก์ออฟอเมริการายงานว่า การปิดช่องแคบฮอร์มุซอาจดันราคาน้ำมันไปสูงกว่า 250 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ผู้ติดตามอุตสาหกรรมน้ำมันหลายคนมองว่า การปิดช่องแคบยังไม่น่าจะเป็นไปได้
แอนดี ลิโปว์ ประธาน Lipow Oil Associates กล่าวว่า ผู้ผลิตน้ำมันอย่างซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน อิรัก และคูเวตยังต้องพึ่งพารายได้จากน้ำมันผ่านช่องแคบฮอร์มุซ
โกลด์แมนแซคส์แสดงความคิดเห็นแบบเดียวกัน คณะนักวิเคราะห์นำโดยแดน สตรูว์เยน หัวหน้าฝ่ายวิจัยน้ำมันรายงานไว้เมื่อวันที่ 26 ต.ค.
“ฉากทัศน์ซัพพลายลดลงอย่างรุนแรง” ผลจากช่องแคบฮอร์มุซปั่นป่วนไม่น่าจะเป็นจริง