นักเศรษฐศาสตร์ห่วง ปัญหา ‘ภูมิรัฐศาสตร์’รุนแรง ทุบจีดีพีไทยเสี่ยงติดลบ

นักเศรษฐศาสตร์ห่วง ปัญหา ‘ภูมิรัฐศาสตร์’รุนแรง ทุบจีดีพีไทยเสี่ยงติดลบ

“ซีไอเอ็มบีไทย” หวั่นปัญหาภูมิรัฐศาสตร์รุนแรงทุบศก.ไทยมีโอกาสเสี่ยง “ติดลบ” จากผลกระทบ “ท่องเที่ยว-ส่งออก-การลงทุน” หดตัว “เคเคพี” ชี้ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น “ไทยพาณิชย์” แนะจับตา 3 ความเสี่ยงส่อกระทบการลงทุน

ความขัดแย้งจากปัญหา “ภูมิรัฐศาสตร์” ที่เกิดขึ้นหลายจุดของโลก ทั้งเป็นความขัดแย้งระดับสงครามอย่างรัสเซีย-ยูเครน , อิสราเอล-ฮามาส (ปาเลสไตน์) หรือสงครามการค้า แม้กระทั่งความขัดแย้งภายในประเทศอย่างสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งทั้งหมดถือเป็นปัจจัยความเสี่ยงสำคัญที่กระทบต่อ “เศรษฐกิจไทย” ที่ส่งผ่านผลกระทบจาก “ราคาน้ำมัน-เงินเฟ้อ” ที่เร่งตัวขึ้น และเข้ามาซ้ำเติมความเปราะบางของปัญหาในประเทศจากตัวเลข “หนี้ครัวเรือน” ที่อยู่ในระดับสูง 

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB) กล่าวว่า สงครามภูมิรัฐศาสตร์ถือเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยอย่างมาก และเป็นหนึ่งในความเสี่ยง ที่ธนาคารมีการรวมอยู่ในการทำผลทดสอบภาวะวิกฤติของธนาคาร หรือ Stress Test ในปี 2567 นี้ เพราะความเสี่ยงมีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง   

โดยสงครามอิสราเอล-อิหร่าน ส่งผลกระทบผ่านราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ เพิ่มขึ้นได้ หากความขัดแย้งทางสงครามหนักขึ้นกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทย ทำให้เศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตช้าไปอีก จากการชะลอตัวของโลก

ส่วนกรณีรุนแรง เช่น สงครามปะทุกระทบต่อราคาน้ำมัน ผนวกกับเศรษฐกิจจีนมีปัญหา จะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก และมีโอกาสเห็นเศรษฐกิจไทยติดลบได้ จากการส่งออกที่ติดลบ บรรยากาศการลงทุนต่ำต่อเนื่อง เงินบาทอ่อนค่า ต้นทุนนำเข้าเพิ่ม 

“แม้สถานการณ์รุนแรงจากสงคราม อาจไม่ใช่กรณีที่เราคาดไว้ แต่หากเหล่านี้ทวีความรุนแรง ก็มีความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทยติดลบได้ จากท่องเที่ยวหาย ส่งออกติดลบ ลงทุนไม่เกิด เงินบาทอ่อนค่าแรง ต้นทุนนำเข้าพุ่ง กรณีนี้เงินบาทอาจไปแตะระดับ 40 บาทต่อดอลลาร์ได้ 

ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทวีความรุนแรงขึ้น

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญ และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยหากย้อนดูในอดีตจนถึงปัจจุบัน มี 3 จุดที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสงครามจากรัสเซีย-ยูเครน  สงครามตะวันออกกลาง  และการคว่ำบาตรสินค้าจีน เหล่านี้กระทบต่อไทยทุกด้าน ทั้งส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น เหล่านี้ล้วนกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งสิ้น ที่ถือเป็นจุดที่อ่อนไหว และกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก 

“ความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์เป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ  และสร้างปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งรัสเซีย ยูเครน ที่เห็นผลกระทบอย่างรุนแรงมากแล้ว ผ่านราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวขึ้น หรือสงครามจากตะวันออกกลาง แม้กระทบต่อไทยไม่มากแต่กระทบต่อ ราคาน้ำมัน ค่าขนส่ง และอิสราเอล อิหร่าน หากลุกลามก็มีโอกาสกระทบต่อไทยมากขึ้น และจุดที่สามคือ สหรัฐจีน ที่มีผลกระทบมากขึ้นจากการที่สหรัฐคว่ำบาตรจีน และหากจีนกับไต้หวันเกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้นอีก ความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์จะรุนแรงและกระทบต่อเรามากขึ้น”

สงครามรุนแรงกระทบไทย 0.1%

นางสาวฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า กรณีสงครามภูมิรัฐศาสตร์ จากอิสราเอล และอิหร่าน เบื้องต้นประเมินว่า ผลกระทบอาจไม่ได้ลุกลาม ไม่สู่การปิดช่องแคบ เฮอร์มุซ ซึ่งอาจไม่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมากนัก และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยไม่มากนัก 

หากกรณี Worst case หรือกรณีเลวร้าย หากสงครามยืดเยื้อ รุนแรงมากขึ้น อาจกระทบต่อราคาน้ำมันไปไกลมากกว่า 100 ดอลลาร์ แต่ไม่ถึง 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งมีผลโดยตรง ทำให้เงินเฟ้อทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น กรณีนี้ ประเมินว่า มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกราว 0.5-0.8 %  และกระทบต่อเศรษฐกิจไทยราว 0.1% จ่อจีดีพี  ซึ่งกรณีนี้มีความเป็นได้ไม่สูงมากนัก 

อย่างไรก็ตาม มองว่า จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ถือเป็นความเสี่ยงนอกประเทศ ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น และมีโอกาสมากขึ้นในระยะข้างหน้า เช่นเดียวกับสงครามการค้า ระหว่างสหรัฐ และจีน ที่ยังคงมีต่อเนื่องและอาจทวีความรุนแรงมากขึ้นในระยะข้างหน้า ไม่ว่าประธานาธิบดีจะเป็นใคร ระหว่าง โจ ไบเดน หรือ โดนัลด์ ทรัมป์ ความรุนแรงจากการกีดกันทางการค้ามีโอกาสเพิ่มขึ้น ทั้งการขึ้นกำแพงภาษีสินค้าจีน การกีดกันสินค้าจีน เข้าประเทศที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงในสหรัฐ 

ดังนั้น ความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์ ถือเป็นความเสี่ยงนอกประเทศที่เป็นความเสี่ยงใหญ่ ที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากก็น้อยในระยะข้างหน้า 

“น้ำหนักจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ไม่ว่าสงคราม หรือการกีดกันทางการค้า ล้วนเป็นความเสี่ยงที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทย หากเทียบกับความเสี่ยงอื่นๆ เช่นจากดอกเบี้ยขึ้นสูง หรือลงช้า และวันนี้เศรษฐกิจไทยก็เผชิญปัญหาด้วยตัวเราเองอยู่แล้ว ที่มาจากทั้งปัจจัยชั่วคราวและเชิงโครงสร้าง แม้จะเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชั่วคราวบางช่วง แต่พอหมดแรงกระตุ้นก็กลับมาอาการเดิม เพราะเราไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ” 

แนะจับตา 3 ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์

นายศรชัย สุเนต์ตา, CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมเหตุการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยจากข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความถี่ของเหตุการณ์สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

โดยมีทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน และ สงครามที่เกิดความรุนแรง ได้แก่ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ,อิสราเอล-ฮามาส (ปาเลสไตน์) และล่าสุดอิสราเอล-อิหร่าน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เป็นหนึ่งในปัจจัยลบ ที่ทำให้นักลงทุนมีความกังวลเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ SCB CIO แนะนำให้ผู้ลงทุนจับตาว่า ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) จะมีผลกระทบต่อการลงทุนมากน้อยเพียงใด ผ่านปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา 3 ด้าน ได้แก่ 1.ผลกระทบจากราคาพลังงาน โดยเฉพาะความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันและก๊าซหลักของโลก 2.ผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานของโลกหยุดชะงัก ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจ และ 3.ผลกระทบต่อ Sentiment การลงทุนในตลาด 

ทั้งนี้ หากดูกรณีศึกษาในอดีตจากสงครามคูเวตที่อิรักมีการบุกเข้ายึดครองคูเวตที่มีน้ำมันมหาศาล และมีการต่อสู้กับกองกำลังประเทศพันธมิตรตะวันตก ซึ่งอิรักตอบโต้กลับด้วยการระเบิดบ่อน้ำมันในคูเวต พร้อมเทน้ำมันจำนวนมหาศาลลงในอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ราคาน้ำมันมีการปรับขึ้นไปถึง 50% ส่งผลต่อ Sentiment ของตลาด จึงทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วง 3 เดือนหลังเกิดเหตุการณ์ ปรับตัวลดลงถ้วนหน้า 

หรือกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กระทบราคาอาหาร เมล็ดพันธุ์พืช และพลังงานอย่างมาก โดยราคาน้ำมันปรับขึ้นไป 15% ซึ่งเหตุการณ์นี้มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นโลกค่อนข้างสูง โดยพบว่า ดัชนี MSCI World ปรับลดลง 7.08% ส่วนดัชนี MSCI EM ปรับลดลง 11.71%  

สำหรับ สถานการณ์สงครามอิสราเอล-อิหร่าน ที่เกิดขึ้นล่าสุด ช่วงกลางเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา มองว่า ความขัดแย้ง ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมานับตั้งแต่ปี 2522 แล้ว เพียงแต่ในอดีตเป็นการทำสงครามตัวแทน  ผ่านกลุ่มต่างๆ ที่อิหร่านสนับสนุน แต่ขณะนี้เริ่มกลายเป็นสงครามระหว่างกันโดยตรง ที่ความรุนแรงเริ่มมากขึ้น แต่ยังประเมินว่าความเสียหายยังอยู่ในวงจำกัด 

เปิด 3 ซินาริโอ้ สงครามอิสราเอล-อิหร่าน

ทั้งนี้ ประเมินผลกระทบจากสงครามอิสราเอล-อิหร่าน เป็น 3 กรณี คือ

1.Baseline กรณีสงครามอยู่ในวงจำกัด ซึ่งปัจจุบันเรามองว่ายังอยู่ในกรณีนี้ จะทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นบ้าง แต่ไม่ทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่อาจยืนอยู่ในระดับ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่ประเทศต่างๆ ยังรับมือกับเงินเฟ้อได้และทำให้ยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช้าลงกว่าเดิม ตลาดหุ้นทั่วโลกอาจได้รับผลกระทบเชิง Sentiment ระยะสั้น

จึงแนะนำให้ทยอยลงทุนในตลาดหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี เช่น ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ตลาดหุ้นเวียดนาม และกองทุนผสม (multi asset) ที่มีความยืดหยุ่น ผู้จัดการกองทุนปรับตามสถานการณ์ของตลาดได้ดี

2.Challenging กรณีสงครามยืดเยื้อ การสู้รบเป็นแบบเอาจริงเอาจังมากขึ้น มีการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานการผลิตพลังงานของแต่ละประเทศ โจมตีจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่มีประชากรอาศัยอยู่มาก จะส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 100-120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลก ไม่สามารถยืนอยู่ในระดับปัจจุบันได้ อาจปรับฐานมากขึ้น

จึงแนะนำให้หยุดลงทุนในหุ้นเพิ่มเติม พร้อมเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในทองคำ แต่เรามองว่า โอกาสเกิดกรณีนี้ยังมีไม่มากนัก

3.Extreme กรณีสงครามเกิดขึ้นจริง และ ขยายวงเป็นสงครามภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่มีความรุนแรงมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันอย่างมาก โดยเฉพาะ หากอิหร่านปิดช่องแคบเฮอร์มุซ อาจกระทบราคาน้ำมันอาจปรับขึ้นไปไกลมากกว่า 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อาจส่งผลให้ธนาคารกลางหลักๆ ของโลกอาจจะมีนโยบายลดดอกเบี้ย ก็อาจต้องเปลี่ยนมาเป็นปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ จากผลกระทบราคาน้ำมัน

สถานการณ์นี้จะส่งผลกระทบการลงทุนมาก หากนักลงทุนมีกำไรจากการลงทุนในตลาดหุ้น แนะนำให้ขายเพื่อทำกำไร แล้วซื้อเงินดอลลาร์ และทองคำ เนื่องจาก เงินดอลลาร์ เป็นสกุลเงินที่อยู่ในทุนสำรองทั่วโลก ดังนั้นค่าเงินก็อาจจะแข็งค่าขึ้นได้

ขณะที่ ทองคำมีความน่าสนใจ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนมองว่าปลอดภัย (Safe Haven) เพราะสู้เงินเฟ้อได้ และสู้กับความเสี่ยงภาวะสงครามได้ ในช่วงที่สงครามรุนแรงมากขึ้น