ขึ้น "ค่าแรงขั้นต่ำ400บาท" ขณะที่ยอด "หยุดกิจการ"ปี 67 มากกว่าปี 66

ขึ้น "ค่าแรงขั้นต่ำ400บาท" ขณะที่ยอด "หยุดกิจการ"ปี 67 มากกว่าปี 66

แรงงานประกาศจะขึ้น "ค่าแรงขั้นต่ำ400บาท" ทั่วไทยใน 1 ต.ค.2567 ขณะที่ยอดหยุดกิจการ เดือนมี.ค.67 เทียบ มี.ค.66 มากขึ้นราว 7 เท่า 

KEY

POINTS

  • รมว.แรงงาน ประกาศเมื่อวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค.2567 ว่าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำ400บาทต่อวัน ทุกกิจการ ทุกอาชีพ ทุกจังหวัด ใน 1 ต.ค.2567
  • ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ400บาท ขณะที่ตัวเลขสถานประกอบการที่หยุดกิจการชั่วคราว หยุดกิจการถาวร เดือนมี.ค.2567 เทียบกับเดือนมี.ค.2566 พบเพิ่มสูงขึ้นราว 7 เท่า สอดรับกับตัวเลขกรมโรงงานอุตสาหกรรม
  • ภาคเอกชน ค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ400บาททั่วประเทศใน1 ต.ค.2567 พร้อมยื่น 4 ข้อเรียกร้อง เตรียมส่งข้อเสนอให้รมว.แรงงาน 13 ต.ค.2567 ก่อนประชุมไตรภาคี 14 ต.ค.นี้  ส่วนปลัดแรงงานบอก ยังต้องรอผลศึกษาของแรงงานจังหวัด

เมื่อวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค.2567 ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.แรงงาน) ได้กล่าวว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ต่อวันในทุกกิจการ ทุกอาชีพ ทุกจังหวัด ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้ประกาศไว้ในปี 2567 ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศอย่างชัดว่า จะมีการประกาศค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันในวันที่ 1 ต.ค. 2567 แน่นอน 

ค่าแรงขั้นต่ำ400บาท ขณะที่หยุดกิจการพุ่ง

ท่ามกลางรัฐบาลที่จะเดินหน้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ400บาท ทั่วไทยในต.ค.2567 และเป็นขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นครั้งที่ 3 ภายในปีเดียวนั้น 

เมื่อดูข้อมูลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน  เกี่ยวกับสถานประกอบการที่มีการใช้มาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ซึ่งระบุว่า  ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญ อันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง จนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง

พบว่า ปี 2567  เดือนก.พ. สถานประกอบการหยุดกิจการบางส่วน 62 แห่ง  ลูกจ้าง 12,562 คน หยุดกิจการทั้งหมด 35 แห่ง  ลูกจ้าง 7,139 คน

  • เดือนมี.ค. หยุดกิจการบางส่วน 321 แห่ง  ลูกจ้าง 116,759 คน หยุดกิจการทั้งหมด 173 แห่ง  ลูกจ้าง 50,163 คน

จะเห็นได้ว่าในส่วนที่หยุดกิจการทั้งหมด ปี 2567 เดือนมี.ค.มากกว่าเดือนก.พ.ถึง  138 แห่ง

  • ส่วนเมื่อช่วงเดียวกันของปี 2566   เดือนก.พ. หยุดกิจการบางส่วน 69 แห่ง  ลูกจ้าง 22,099 คน หยุดกิจการทั้งหมด 29 แห่ง  ลูกจ้าง 19,979 คน
  • เดือนมี.ค. หยุดกิจการบางส่วน 93 แห่ง  ลูกจ้าง 30,253 คน หยุดกิจการทั้งหมด 23 แห่ง  ลูกจ้าง 6,457 คน

จะเห็นได้ว่าช่วงมี.ค.2567 มีสถานประกอบการหยุดกิจการทั้งหมด มากกว่ามี.ค.2566 ถึงราว 7 เท่า

สอดคล้องกับข้อมูลสถิติการเลิกกิจการโรงงาน ไตรมาส 1/2567 ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่า

  •  มีการเลิกกิจการ 367 โรง เงินลงทุน 9,417.27 ล้านบาท เลิกจ้าง 10,066 คน
  • แบ่งเป็นโรงงานจำพวก 2 (เครื่องจักรไม่เกิน 75 แรงม้า) 19 โรง เงินลงทุน 195.38 ล้านบาท โรงงานจำพวก 3 (เครื่องจักรเกิน 75 แรงม้า) 348 โรง เงินลงทุน 9,221.79 ล้านบาท

 สูงสุด คือ จังหวัดชลบุรี กรุงเทพฯ และพระนครศรีอยุธยา

ส่วนเมื่อไตรมาส 1/2566 มีการเลิกกิจการ 169 โรง เงินลงทุน 2,432.72 ล้านบาท เลิกจ้าง 3,745 คน สูงสุด คือ สมุทรปราการ กรุงเทพฯ และชลบุรี

จะเห็นได้ว่าการเลิกกิจการช่วงไตรมาส 1 /2567 เพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว  เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2566

ค้านขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ400บาท ยื่น 4 ข้อเสนอ

เรื่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ400บาท ทั่วไทย 1 ต.ค.2567 ได้รับเสียงคัดค้านจาก หอการค้าจังหวัด 76 แห่ง และสมาคมการค้า 53 แห่ง โดยร่วมกันแถลงเมื่อวันที่ 7 พ.ค.2567 และจะส่งความเห็นให้กับรมว.แรงงานในวันที่ 13 พ.ค. ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมค่าจ้างในวันที่ 14 พ.ค.2567 โดยมีข้อเสนอต่อรัฐบาล  4 ข้อ คือ

1.การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีควรปรับตามที่กฎหมายบัญญัติกำหนดไว้ในมาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ส่วนการยกระดับรายได้ลูกจ้างให้สูงขึ้นก็ทำได้โดยกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน

2.ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยไม่คำนึงถึงผลการศึกษาและการรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) อีกทั้ง ปัจจุบัน รัฐบาลได้ดำเนินการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2567 ไปแล้ว 2 ครั้ง จึงไม่ควรปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีเป็นครั้งที่ 3

3.อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงอัตราค่าจ้างของแรงงานแรกเข้าที่ยังไม่มีฝีมือ แต่การปรับอัตราจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน  รัฐบาลควรเร่งส่งเสริมมาตรการทางภาษี ลดอุปสรรคต่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน

ขึ้น \"ค่าแรงขั้นต่ำ400บาท\" ขณะที่ยอด \"หยุดกิจการ\"ปี 67 มากกว่าปี 66

4.การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรให้มีการรับฟังความคิดเห็น และศึกษาถึงความพร้อมของแต่ละพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ รวมทั้งควรให้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจก่อนปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ดังกล่าวของตลาดแรงงาน และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน

ค่าแรงขั้นต่ำ400บาท ขึ้นตามเหมาะสมแต่ละจ.

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความกังวลใจของหลายฝ่ายต่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสำรวจและศึกษาข้อมูล ซึ่งได้สั่งการให้แรงงานจังหวัดในแต่ละพื้นที่ประชุมหารือกับผู้ประกอบการเพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาความเหมาะสมในแต่ละจังหวัด  ทั้งหมดจะอยู่ในหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดอย่างมีหลักวิชาการและเป็นมาตรฐาน ภายใต้อำนาจของไตรภาคี คือ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล 

“ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้แรงงานได้รับความเดือดร้อน ประกอบกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนและทำให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน”นายไพโรจน์กล่าว 

 กระทรวงแรงงานได้นำนโยบายรัฐบาลมาศึกษาและขยายผลในการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ผ่านกลไกระบบไตรภาคี  โดยจะพิจารณาการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อนายจ้างและลูกจ้าง 

ในส่วนของความกังวลใจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น กระทรวงแรงงานจะมีการรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการว่ากิจการประเภทไหนได้รับผลกระทบ รวมทั้งจะรับฟังข้อเสนอมาตรการความช่วยเหลือจากภาคเอกชน เพื่อนำข้อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อออกเป็นมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวต่อไป อย่างไรก็ดี จะพยายามให้ทุกฝ่ายได้รับผลกระทบน้อยที่สุด