วันแรงงาน เปิดข้อมูลสำคัญ "แรงงานไทย" ยุค "ค่าแรงขั้นต่ำ400บาทไม่ถ้วนหน้า"
วันแรงงาน เปิดข้อมูลสำคัญแรงงานไทย โรครุมเร้า ค่าแรงขั้นต่ำ400บาท ขึ้นไม่ถ้วนหน้า สวนทางราคาสินค้าแพงขึ้นถ้วนทั่ว แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ กว่า 1.3 แสนคน มากสุดอยู่ในไต้หวัน พร้อมยอดเงินส่งกลับ และโรคที่ต้องตรวจแรงงานต่างด้าวในไทย
KEY
POINTS
- วันแรงงาน ส่องสถานการณ์ที่สำคัญของแรงงานไทย กำลังแรงงานรวม 40.45 ล้านคน มี.ค.2567 ผู้มีงานทำลดลง ค่าแรงขั้นต่ำ400บาท ปรับเพิ่มไม่ถ้วนหน้า เผชิญ 12 โรคจากการประกอบอาชีพและการทำงาน
- แรงงานไทย ไปทำงานต่างประเทศ ยังทำงานอยู่ กว่า 1.3 แสนคน มากที่สุดในไต้หวันกว่า 50,000 คน รองลงมาเกาหลีใต้ พร้อมเปิดยอดประมาณการรายได้ส่งกลับ
- แรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ที่ได้รับอนุญาตทำงานกว่า 3.3 ล้านคน และต้องตรวจโรคก่อนตามข้อกำหนด 6 โรค
1 พ.ค.ของทุกปีเป็น วันแรงงานแห่งชาติ กับสถานการณ์สำคัญแรงงานไทยกำลังเผชิญ อาจไม่ได้สวยงามเสียทั้งหมด แม้จะมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ400 บาท ก็เป็นเพียงเฉพาะกลุ่มบริการในโรงแรมระดับ 4 ดาว บางพื้นที่ของ 10 จังหวัดเท่านั้น
แรงงานไทย ผู้มีงานทำลดลง
สถิติแรงงานรายเดือน มี.ค.2567 ของกองเศรษฐกิจการแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยข้อมูล
- ประเทศไทยมีกำลังแรงงานรวม 40.45 ล้านคน ตอนเดือนก.พ.2567 มี 40.54 ล้านคน
- ผู้มีงานทำ 39.79 ล้านคน ตอนเดือนก.พ. จำนวน 39.92 ล้านคน
- ภาคเกษตร 11.53 ล้านคน เดือนก.พ. จำนวน 11.06 ล้านคน
- นอกภาคเกษตร 28.86 ล้านคน เดือนก.พ. จำนวน 28.86 ล้านคน
- ผู้ว่างงาน อัตรา 1 % เท่ากับเดือน.ก.พ.
ขณะที่จำนวนผู้ว่างงาน โอยอ้างถึงไตรมาส 4/2566 จำแนกตามอายุ - 15-19 ปี ว่างงาน 28,489 คน
- 20-24 ปี ว่างงาน 143,460 คน
- 25-29 ปี ว่างงาน 70,617 คน
- 30-34 ปี ว่างงาน 30,523 คน
- 35-39 ปี ว่างงาน 16,335 คน
- 40-49 ปี ว่างงาน 21,081 คน
- 50-59 ปี ว่างงาน 16,131 คน
- มากกว่า 60 ปี ว่างงาน 2,655 คน
นอกจากนี้ ผลการตรวจแรงงาน สถานประกอบการตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ในเดือน มี.ค.2567 พบว่า สถานประกอบการ ปฏิบัติถูกต้อง 1,661 แห่ง ปฏิบัติไม่ถูกต้อง 124 แห่ง ลูกจ้างได้รับการปฏิบัติถูกต้อง 54,461 คน ได้รับการปฏิบัติไม่ถูกต้อง 5,069 คน
ค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นไม่ถ้วนหน้า แต่ราคาสินค้าแพงขึ้น
สำหรับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ400บาท ของรัฐบาลนั้น สามารถดำเนินการได้ตามที่พูด แต่เป็นการขึ้นแบบไม่ถ้วนหน้า เนื่องจากมีการกำหนดล็อคกลุ่มที่ได้ขึ้นในตอนนี้ไว้
1.ต้องเป็นลูกจ้างทำงานในประเภทกิจการโรงแรมที่ได้รับมาตรฐานที่พักเพื่อการท่องเที่ยวประเภทโรงแรมระดับการให้บริการ 4 ดาวขึ้นไป
2.กิจการโรงแรมระดับการให้บริการ 4 ดาวขึ้นไปนั้น ต้องมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป
3.กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ต่อวัน เฉพาะบางพื้นที่ของ 10 จังหวัด
- กรุงเทพมหานคร เฉพาะเขตปทุมวัน วัฒนา
- จังหวัดกระบี่ เฉพาะเขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนา
- จังหวัดชลบุรี เฉพาะเขตเมืองพัทยา
- จังหวัดเชียงใหม่ เฉพาะเขตเทศบาลนครเชียงใหม่
- จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะเขตเทศบาลหัวหิน
- จังหวัดพังงา เฉพาะเขตเทศบาลตำบลคึกคัก
- จังหวัดภูเก็ต
- จังหวัดระยอง เฉพาะเขตตำบลเพ
- จังหวัดสงขลา เฉพาะเขตเทศบาลนครหาดใหญ่
- จังหวัดสุราษฎร์ธานี เฉพาะเขตเทศบาลนครเกาะสมุย
ขณะที่เนื่องในวันแรงงาน 2567 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจสถานภาพแรงงานไทย กรณีศึกษาผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท จากการสำรวจทั่วประเทศจำนวน 1,259 ตัวอย่างระหว่างวันที่ 19-25 เม.ย.2567
ในข้อคำถามสถานภาพทางการเงินของแรงงานไทยทำให้การใช้จ่ายในปัจจุบันมีปัญหาหรือไม่ กลับพบว่า ส่วนใหญ่ 79.5 % ตอบว่ามีปัญหา
ในจำนวนนี้ตอบว่า เป็นสาเหตุจาก ราคาสินค้าแพงขึ้น ภาระหนี้มากขึ้น รายได้ไม่เพิ่มแต่ราคาของเพิ่ม อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น รายได้ลดลง และมีของที่ต้องการมากขึ้น ตามลำดับ
12 โรคจากการทำงาน แรงงานไทย
ข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขปี 2566 พบสถานการณ์ปัญหาโรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพและโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงานที่สำคัญ ได้แก่
1.การบาดเจ็บจากการทำงาน
2.โรคกระดูกและกล้ามเนื้อจากการทำงาน
3.โรคหัวใจขาดเลือด
4.โรคจากพิษสารกำจัดศัตรูพืช
5.โรคผิวหนัง
6.โรคประสาทหูเสื่อมจากเสียงดัง
7.โรคจากพิษสารตัวทำละลายอินทรีย์
8.โรคปอดฝุ่นหิน (Silicosis)
9. โรคหอบหืด
10.โรคจากความร้อน หรือ Heat stroke
11. Office Syndrome
12. ปัญหาด้านสุขภาพจิต
แรงงานไทยในต่างประเทศ ยอดเงินส่งกลับ
วันแรงงาน สำรวจจำนวนแรงงานไทยไปไปทำงานต่างประเทศ ที่ยังทำงานอยู่ ณ เดือน มี.ค.2567 รวม 138 ประเทศ จำนวน138,021 คน แยกเป็น
- กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง 12 ประเทศ รวม 16,800 คน ทำอยู่ในประเทศอิสราเอลมากที่สุด 13,546 คน
- กลุ่มประเทศยุโรป อเมริกา และอื่นๆ 71 ประเทศ รวม 12,865 คน ทำอยู่ในประเทศโปรตุเกสมากที่สุด 2,156 คน
- กลุ่มประเทศเอเชียและเอเชียใต้ 27 ประเทศ รวม 107,751คน ทำอยู่ในประเทศไต้หวันมากที่สุด 55,675 คน รองลงมาเป็นเกาหลีใต้ 21,507 คน และญี่ปุ่น 15,949 คน
- กลุ่มประเทศแอฟริกา 28 ประเทศ รวม 605 คน ทำอยู่ในประเทศสาธารณรัญเซาท์ซูดานมากที่สุด 176 คน
ประมาณการรายได้ที่ส่งกลับประเทศไทย ปีงบประมาณ 2567 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย และกรมการจัดหางาน รวมทั้งสิ้น 131,129 ล้านบาท แยกเป็น
เดือนม.ค. 23,387 ล้านบาท
เดือนก.พ.22,194 ล้านบาท
เดือนมี.ค. 21,658 ล้านบาท
เมื่อปี 2566 อยู่ที่ราว 245,414 ล้านบาท
แรงงานต่างด้าว ต้องตรวจ 6 โรค
ส่วนของแรงงานต่างด้าว ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ราว 3.3 ล้านคน แยกเป็น
มาตรา 59 จำนวน 709,890 คน
มาตรา 62 ส่งเสริมการลงทุน BOI จำนวน 53,377 คน
มาตรา 63/1 ชนกลุ่มน้อย 90,090 คน
มาตรา 63/2 มติครม. 7 ก.พ.2566 จำนวน 1,614,722 คน มติครม. 3 ต.ค.2566 จำนวน 812,869 คน
มาตรา 64 คนต่างด้าวทำงานไป-กลับหรือตามฤดูกาล 31,477 คน
ทั้งนี้ การตรวจสุขภาพขอใบรับรองแพทย์เพื่อทำใบอนุญาตทำงาน (Work Permit)
จะต้องตรวจครอบคลุม 6 โรค คือ
- โรคเรื้อน (Leprosy)
- วัณโรคระยะอันตราย (Advanced Pulmonary Tuberculosis)
- โรคยาเสพติดให้โทษ (Drug Addiction)
- โรคพิษสุราเรื้อรัง (Chronic Alcoholism)
- โรคเท้าช้าง (Elephantiasis)
- โรคซิฟิลิสในระยะที่ 3 (VDRL)
อ้างอิง : กระทรวงแรงงาน , กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค