แรงงานไทยหนี้ท่วม ‘รายได้ไม่พอจ่าย’ ค่าครองชีพสูงกดดัน ‘คุณภาพชีวิต’

แรงงานไทยหนี้ท่วม ‘รายได้ไม่พอจ่าย’ ค่าครองชีพสูงกดดัน ‘คุณภาพชีวิต’

ม.หอการค้าไทย เผย ปี 67 แรงงานไทย แบกหนี้หลังแอ่น มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ 344,522.22 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 26.4% รายได้ไม่พอรายจ่าย จี้รัฐ ปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ลดค่าครองชีพ

สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนของแรงงานแย่ลง โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ทำการสำรวจพบมีอัตราการขยายตัวถึง 26.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว ซึ่งค่าครองชีพที่สูงขึ้นเป็นแรงกดดันที่ทำให้แรงงานต้องการให้มีการปรับค่าจ้างเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบรายได้ไม่พอรายจ่าย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยสำรวจสถานภาพแรงงานไทย ว่า จากผลสำรวจจากผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท จำนวน 1,259 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 19 – 25 เม.ย. 2567 แบ่งเป็นอยู่นอกระบบประกันสังคม 57.4% อยู่ในระบบประกันสังคม 42.6% 

สำหรับรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของกลุ่มตัวอย่างในปี 2567 พบว่า ส่วนใหญ่ 80.5 % อยู่ที่ 10,001-15,000 บาท รองลงมา 19.4% อยู่ที่ 5,000-10,000 บาท และ 0.1% รายได้ ต่ำกว่า 5,000 บาท 

และหากดูรายได้ครัวเรือน จะพบว่า ส่วนใหญ่อยู่ที่ 30,001-60,000 บาทต่อเดือน รองลงมา สูงกว่า 6 หมื่นบาทขึ้นไป และอันดับ 3 อยู่ที่ 15,001-30,000 บาท และแรงงานส่วนใหญ่ยอมรับว่าไม่มีเงินออม มีเพียง 33.8 % ที่มีเงินออม

อย่างไรก็ตาม ปี 2567 แรงงานมีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ 344,522.22 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 26.4% แยกเป็นหนี้สินในระบบ 64.8% และนอกระบบ 35.2% ซึ่งหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคล หนี้บัตรเครดิต ใช้คืนเงินกู้ ที่อยู่อาศัย เป็นต้น

แรงงานไทยหนี้ท่วม ‘รายได้ไม่พอจ่าย’ ค่าครองชีพสูงกดดัน ‘คุณภาพชีวิต’

เมื่อถามต่อว่า หนี้ส่วนบุคคลหรือหนี้บัตรเครดิตส่วนใหญ่นำไปใช้จ่ายเรื่องใดมากที่สุด พบว่า นำไปใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค รองลงมาเป็นที่อยู่อาศัย ใช้หนี้เดิม ยานพาหนะโทรศัพท์ หรือแทปเล็ต ค่ารักษาพยาบาลอย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ และการหมุนเวียนธุรกิจ เป็นประเภทหนี้ส่วนบุคคล 3 อันดับแรก ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากที่สุดเมื่อเทียบกับปี 2566

“เป็นที่น่าสังเกตว่า หนี้นอกระบบของแรงงานมีการปรับตัวลง เนื่องจากรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ แต่แรงงานก็ยังมีความกังวลต่อการเป็นหนี้ในระดับปานกลางถึงเล็กน้อย แม้ว่าแรงงานมีการปรับตัวระมัดระวังการใช้จ่าย แต่ค่าครองชีพสูงจึงต้องการให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจ” นายธนวรรธน์กล่าว

สำหรับในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาแรงงาน 45.7% เคยประสบปัญหาผิดนัดการผ่อนชำระหนี้ และไม่เคย 54.3% สาเหตุเพราะรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย 34.5% คนในครอบครัวตกงาน/เกษียณอายุ 10.5% มีเหตุฉุกเฉินทำให้เงินขาดมือ 0.7% เมื่อเทียบระหว่างรายได้ต่อหัวกับการผ่อนชำระต่อเดือน จะพบกลุ่มที่น่าห่วง คือมีหนี้สินสูงกว่ารายได้ 

แบ่งเป็นในกลุ่มที่รายได้ต่ำกว่า 5,000 บาท มีถึง 9.8% กลุ่มรายได้ 5,001-10,000 บาท 3.4 % และกลุ่มรายได้ 10,001-15,000 บาท 5%โดยรูปแบบของการใช้หนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 60.3% เลือกแบ่งชำระบางส่วน รองลงมา 36.2 % ชำระเต็มจำนวน มีเพียง 3.5 % ที่ขาดหรือผ่อนผันการชำระ

แรงงานไทยหนี้ท่วม ‘รายได้ไม่พอจ่าย’ ค่าครองชีพสูงกดดัน ‘คุณภาพชีวิต’

ส่วนภาระหนี้ในปัจจุบันส่งผลต่อการใช้จ่ายในภาพรวมของแรงงงานหรือไม่ ส่วนใหญ่บอกว่ามีผลทำให้มีการใช้จ่ายลดลงประมาณ 48% แล้ว 3 เดือนข้างหน้าก็ยังมีผลอยู่ประมาณ 41.6% ทำให้รายได้ไม่พอกับรายจ่าย เนื่องจากราคาสินค้าแพงขึ้น ภาระหนี้มากขึ้น รายได้ไม่เพิ่มแต่ราคาสินค้าเพิ่ม ดอกเบี้ยสูงขึ้น โดยการแก้ปัญหารายได้ไม่พอจ่าย จะเลือกกู้ยืมเงินในระบบ 30.9% หาอาชีพเสริม 17% ขอความช่วยเหลือจากญาติพี่น้อง 16.6% กู้ยืมเงินนอกระบบ 15.7% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงขึ้นกว่าปี 2566 ที่อยู่ประมาณ 9.7% ด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แรงงานต้องทำเพื่อประคองหนี้และประหยัดในสิ่งที่จำเป็น ทั้งนี้ แรงงานต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแล ในเรื่องของการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและค่าครองชีพ การเงินช่วยเหลือในกรณีที่ตกงาน และหนี้ของแรงงานตามลำดับ

นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังได้สำรวจทัศนะผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ไทย ทั้งภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคบริการ ต่อผลกระทบหลังปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ400 บาทต่อวัน โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 403 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 22-26 เม.ย. ที่ผ่านมา พบว่า การปรับอัตราค่าแรงในแต่ละครั้ง มักจะมีผลกระทบต่อทั้ง GDP เงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน รวมถึงอัตราการว่างงานทั้งบวกและลบ

ผลเชิงบวก คือ เมื่อผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) เพิ่มขึ้น จะช่วยผลักดันให้จีดีพีโตขึ้นตามไปด้วย กระตุ้นกำลังซื้อดีส่งผลให้การผลิตและการลงทุนดีขึ้น 

ผลเชิงลบ คือ หากค่าแรงเพิ่มเร็วเกินไป อาจเกิดการว่างงาน และกำลังซื้อลดลง ขณะเดียวกัน นายจ้างอาจปลดพนักงานหากรับมือต้นทุนไม่ไหว กระทบกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ ต้นทุนค่าแรงอาจถูกผลักไปที่ราคาสินค้าทำให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ

สำหรับค่าแรงขั้นต่ำ ที่เอกชนมองว่าเหมาะสม ควรอยู่ที่ 370 บาท ต่อวัน ซึ่ง การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ วันละ 400 บาท แบบกระชากในบางจังหวัด ทำให้ต้นทุนค่าแรงของผู้ประกอบการบางจังหวัดสูงขึ้นกว่า 10% ทันทีขณะที่เศรษฐกิจไทยยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัว อาจโตต่ำกว่า 3% คาดว่าอยู่ที่ระดับ 2.6-2.8% กำลังซื้อกลับมาไม่ทัน 

แต่ภาระภาคเอกชนขึ้นมาทันที อาทิ ค่าน้ำมัน ค่าไฟ ทำให้เอกชน 64.7% มองว่าจะปรับราคาสินค้าและบริการ 15% ขึ้นไป และ17.2% จะลดปริมาณ ซึ่งผู้ประกอบการกว่า 48.7% กังวลมากว่าต้นทุนธุรกิจสูงขึ้น แต่ทักษะลูกจ้างเท่าเดิม เมื่อต้นทุนขึ้น 12.3% ต้องขึ้นราคา หรือไม่ลดปริมาณ ส่งผลต่อเงินเฟ้อแน่นอน

“หากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไทยทั้งประเทศจะมีผลต่อแรงงาน 7.5 ล้านคน เป็นอย่างน้อย และจะทำให้ภาคเอกชนมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเดือนละ 9,000 ล้านบาทหรือ 300 ล้านบาทต่อวันและ จะทำให้ ไทยเป็นประเทศที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดในอาเซียน ไม่นับสิงคโปร์และบรูไน โดยมาเลเซียอยู่ 392 บาทต่อวันเวียดนามอยู่ที่ 230 บาทต่อวัน ในขณะที่เวียดนามมีแต้มต่อเรื่องเอฟทีเอและจีดีพีที่โตมากกว่า“ นายธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับวันหยุดแรงงานวันนี้ 1 พ.ค. 2567 คาดว่าจะทำให้มีเงินสะพัดประมาณ 2,117 ล้านบาท ขยายตัว 2.4% เทียบกับปี 2566 ถือเป็นการใช้จ่ายสูงสุดในรอบ 5 ปี และเฉลี่ยใช้จ่าย 2,655 บาทต่อคน