'การบินไทย' พลาดเป้ายื่น 'ไฟลิ่ง' กลับซื้อขายหุ้น ผวา 'บาทอ่อน' ฉุดกำไรปี 67

'การบินไทย' พลาดเป้ายื่น 'ไฟลิ่ง' กลับซื้อขายหุ้น ผวา 'บาทอ่อน' ฉุดกำไรปี 67

“การบินไทย” รับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยเสี่ยงเฝ้าระวังปีนี้ ชี้หนึ่งในสาเหตุกระทบอัตราการทำกำไร ฉุดเป้าหมายยื่นออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ด้านตัวแทนเจ้าหนี้ระบุปัจจุบันพลาดเป้าเริ่มขั้นตอนยื่นไฟลิ่งกลางปี แต่ยังมั่นใจออกจากแผนฟื้นฟูในปี 2568

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการ โดยระบุว่า ปัจจุบันการบินไทยยังคงดำเนินการตามแผนฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง และยังคงเป้าหมายยื่นออกจากแผนฟื้นฟูกิจการภายในปี 2568 ขณะที่ผลดำเนินงานแล้วเสร็จตามแผน ปัจจุบันคือการจ่ายหนี้ให้กับเจ้าหนี้ต่างๆ การบินไทยไม่เคยผิดนัดชำระ

โดยเฉพาะในส่วนของเจ้าหนี้บัตรโดยสารได้ดำเนินการจ่ายหนี้แล้วเสร็จ มีเพียงบางส่วนราว 200 – 300 ล้านบาทที่ ไม่สามารถติดต่อจ่ายหนี้ได้ การบินไทยจึงนำเงินส่วนดังกล่าวไปวางไว้ที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ โดยเจ้าหนี้สามารถติดต่อขอรับเงินคืนส่วนดังกล่าวได้ทันที

ขณะเดียวกันผลการดำเนินงานของการบินไทยในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าเข้าหนึ่งในเงื่อนไขของการยื่นออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ในส่วนของกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เนื่องจากปัจจุบันภาพรวม 2 ไตรมาสที่ผ่านมา การบินไทยมี EBITDA สะสมอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อเงื่อนไขยื่นออกจากแผนฟื้นฟูกิจการที่ระบุว่า EBITDA ย้อนหลัง 12 เดือน เกิน 2 หมื่นล้านบาท

แต่อย่างไรก็ดี การบินไทยยังคงเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน (FX) ผลจากการอ่อนค่าของเงินบาท อัตราค่าบริการภาคพื้นและราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายปรับตัวสูง ประกอบกับหนี้สินในรูปเงินดอลลาร์เมื่อแปลงเป็นเงินบาทเพิ่มขึ้น และค่าบริการในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น อาทิ ค่าบริการการบินในต่างประเทศ ค่าซ่อมบำรุงอากาศยานและอุปกรณ์ด้านการบิน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายการบริการผู้โดยสารที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศ โดยปัจจัยเหล่านี้จะทำให้อัตราการทำกำไรลดลง

นายชาย กล่าวด้วยว่า การบินไทยมีผลประกอบการบวกเป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกันนับจากวันที่เริ่มแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อเดือน ต.ค.2565 ซึ่งดีกว่าตัวเลขประมาณการในแผนฟื้นฟูอย่างมาก แต่ยังไม่สามารถยื่นกระบวนการออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ เนื่องจากขณะนี้ยังต้องระวังปัจจัยเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ที่กังวลว่าจะส่งผลต่อธุรกิจ ดังนั้นจะขอประเมินสถานการณ์ถึงไตรมาส 4 ปีนี้ จึงจะสามารถตอบได้ถึงกระบวนการยื่นออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ แต่ยังมั่นใจว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จตามเป้าหมายในปี 2568

ด้านนางสาวเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี การบินไทย กล่าวว่า แผนการเพิ่มทุนของการบินไทย คาดว่าจะยื่นแบบคำขอเพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน (Filing) ได้ประมาณเดือน ก.ย.นี้ เนื่องจากปัจจุบันอยู่ระหว่างรอข้อมูลให้ครบถ้วนเสียก่อน รวมถึงรอประเมินผลประกอบการ ทั้งนี้ การบินไทยจะเสนอแผนการขายหุ้นเพิ่มทุนต่อผู้ถือหุ้นเดิม (RO) นักลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) และผู้บริหารและพนักงาน (ESOP) คาดขายได้ปลายปีนี้

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการเจ้าหนี้การบินไทย ระบุกับกรุงเทพธุรกิจว่า ในฐานะเจ้าหนี้ได้รับทราบข้อมูลการดำเนินงานของการบินไทยมาอย่างต่อเนื่อง และทราบว่ามีความคืบหน้าของการปฏิบัติตามแผนฟื้นฟู ซึ่งดำเนินการตามเป้าหมายแล้วบางส่วน ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายหนี้ และการสะสม EBITDA เป็นบวกต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันยังมีเงื่อนไขบางประการที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ จึงส่งผลให้การบินไทยยังไม่สามารถยื่นขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ

โดยปัจจุบันเงื่อนไขที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ คือ ส่วนทุนเป็นบวกให้เพียงพอต่อการดำเนินงานในอนาคต และเงื่อนไขการแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่ โดยปัจจุบันได้รับทราบความคืบหน้าจากผู้บริหารแผนของการบินไทยว่า ธุรกิจยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่จะส่งผลต่อการทำให้ส่วนทุนเป็นบวก เพราะจะกระทบต่อการทำกำไร ดังนั้นจำเป็นต้องประเมินสถานการณ์ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ เพื่อให้มีความแน่นอนของการดำเนินธุรกิจ

“ตอนนี้ยังถือว่าอยู่ในกรอบเป้าหมายยื่นออกจากแผนฟื้นฟูภายในปี 2568 คาดว่าผู้บริหารแผนน่าจะต้องรอดูงบการเงินสิ้นปีนี้ก่อน ว่าจะมีแนวโน้มบวกอย่างไร ถ้าสิ้นปีนี้ทำกำไรได้ดีก็น่าจะมีการยื่นออกจากแผนฟื้นฟูในช่วงสิ้นปี หรือต้นปี 2568 และแล้วเสร็จออกจากการฟื้นฟูกิจการในปี 2568”

ทั้งนี้ ยอมรับว่าแผนดำเนินงานยื่นออกจากการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย เคยมีการชี้แจงต่อเจ้าหนี้ โดยมีเป้าหมายออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 2567 ซึ่งเร็วกว่าแผนกำหนดไว้จากเดิมประมาณปี 2568 มีรายละเอียดดังนี้

ไตรมาส 1 ปี 2567 จะเริ่มขั้นตอนร่างหนังสือชี้ชวนการขายหุ้นเพื่อเสนอขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือการแปลงหนี้เป็นทุน

ไตรมาส 2 ปี 2567 คาดว่าสำนักงาน กลต.จะอนุมัติหนังสือชี้ชวน และสามารถเริ่มขั้นตอนดำเนินการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน หรือการแปลงหนี้เป็นทุนได้

ไตรมาส 3 ปี 2567 การบินไทยจะตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) เป็นไปตามขั้นตอนกำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ และยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งยื่นคำขอไปยัง ตลท.เพื่อปลดเครื่องหมาย SP และ NCs

ไตรมาส 4 ปี 2567 การบินไทยคาดว่าหากดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามแผนกำหนดไว้ จะส่งผลให้ในช่วงนี้หุ้นของ THAI จะกลับเข้ามาทำการซื้อขายใน ตลท.ได้ และทำให้การฟื้นฟูกิจการของการบินไทยแล้วเสร็จ มีความเข้มแข็งและสามารถบริหารกิจการได้อย่างยั่งยืน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลสำเร็จของแผนตามที่การบินไทยได้ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางไว้นั้น ประกอบด้วย 4 ข้อ ได้แก่

1.การเพิ่มทุนจดทะเบียน โดยจะต้องดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มทุนและได้รับสินเชื่อใหม่ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผน และมีจำนวนที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ

2.ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่ผิดนัดชำระหนี้ได้ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วย

3.มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าซื้อเครื่องบิน เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ใน 2 ปีก่อนที่จะรายงานผลสำเร็จของแผนฟื้นฟู

4.การแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น