‘บีโอไอ’ ดึงชิปต้นน้ำ-แบตเตอรี่ขั้นสูง สร้างฐานการผลิตครั้งใหญ่รอบ 30 ปี

‘บีโอไอ’ ดึงชิปต้นน้ำ-แบตเตอรี่ขั้นสูง สร้างฐานการผลิตครั้งใหญ่รอบ 30 ปี

"บีโอไอ" ดึงชิปต้นน้ำ-แบตเตอรี่ขั้นสูง สร้างฐานการผลิตครั้งใหญ่ในรอบ 30 ปี ย้ำการดึงการลงทุนในช่วงนี้ถือเป็นโอกาสทองที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตไปได้อีกหลายทศวรรษ

การส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ไตรมาส 1 ปี 2567 เห็นถึงทิศทางการลงทุนในไทยยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยมีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน 724 โครงการ เพิ่มขึ้น 94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 228,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% 

ในการส่งเสริมการลงทุนจะเน้นไปที่การสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมมูลค่าสูงที่จะสร้างมูลค่าให้ประเทศในอนาคต 

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า ตั้งเป้ายุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (2566-2570) มูลค่า 3 ล้านล้านบาท โดยปีแรกมีการลงทุนกว่า 8 แสนล้านบาท ซึ่งปี 2567 มั่นใจว่าจะไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาท

ปัจจุบันไทยมีจุดแข็งหลายด้านทั้งที่ตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาค มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ บุคลากรที่มีทักษะ มีซัพพลายเชนครบวงจรโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งมีพลังงานสะอาดรองรับความต้องการ และที่สำคัญนโยบายรัฐเอื้อประกอบธุรกิจ 

นอกจากนี้การที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายรัฐมนตรี นำทีมไปหารือด้วยตนเอง ถือเป็นเบอร์ 1 ของประเทศ ช่วยสร้างน้ำหนักให้ตัดสินใจลงทุนได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น

การดึงการลงทุนปี 2567 จะมีบริษัทระดับพรีเมียมเข้ามาลงทุน โดยต้องการให้ขยายการลงทุนต่อเนื่อง และเมื่อดึงรายใหม่มาแล้วจะลงทุนเพิ่มเติมในช่วง 20-30 ปีข้างหน้า ตัวเลขที่เห็นจึงเป็นเพียงตัวเลขรอบแรก แต่จะมีรอบใหม่ตามมาอีก หากช่วงนี้ทำสำเร็จจะเหมือนเหตุการณ์ 30-40 ปีแล้ว ที่ญี่ปุ่นยังใช้ไทยเป็นฐานหลักในอาเซียนถึงทุกวันนี้

"ตลอด 30 ปีเศรษฐกิจไทยพึ่งพาอุตสาหกรรมเดิม วันนี้อยู่ช่วงสำคัญถือว่าเป็นโอกาสทองในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่จะทำให้เติบโตได้ในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า”

รวมทั้งการลงทุนที่เพิ่มเติมจะเป็นของใหม่ที่เป็นไฮเทคและมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งเป็นช่วงน่าตื่นเต้นของเศรษฐกิจไทยที่จะสร้างอุตสาหกรรมใหม่ และยังมี “Top of the top” ที่เป็นหัวใจสำคัญของ 2 อุตสาหกรรม คือ เซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ, แบตเตอรี่ขั้นสูง ซึ่งเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมทั้งหมด

“อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต้องมี 2 อุปกรณ์นี้ ทั้งรถยนต์ เครื่องจักร ออโตเมชั่น เครื่องมือแพทย์ ดาต้าเซ็นเตอร์ล้วนแล้ว แต่ต้องมีเซมิคอนดักเตร์และแบตเตอรี่ ซึ่งสนับสนุนการลงทุนแบตเตอรี่ระดับเซลล์ ต้องกุมหัวใจ Top of the top ให้ได้ และถ้าบริหาร 2 ตัวนี้ให้แข็งแกร่งจะส่งผลไปอุตสาหกรรมปลายน้ำอีกมาก”

ทั้งนี้ บีโอไอกำหนดแผนการปฏิบัติงานโดยเน้นภารกิจ 5 ด้านสำคัญ คือ 1.ดึงการลงทุนเชิงรุกโดยเน้น 5 อุตสาหกรรมที่เป็นยุทธศาสตร์หลัก คือ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV), เซมิคอนดักเตอร์และสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์, ดิจิทัลขั้นสูง, พลังงานสีเขียว และการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ

ขณะที่เซมิคอนดักเตอร์กับสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ จะสนับสนุนอุตสาหกรรม EV และอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยมานาน และจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตระยะยาว 

รวมทั้งยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์มีสัดส่วนส่งออกรวม 40% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด เกิดการจ้างงานเกือบ 2 ล้านคน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเสาหลักอุตสาหกรรมไทย ดังนั้นการจะทำให้เติบโตระยะยาวจึงต้องยกระดับสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่

ส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีวิวัฒนาการและเข้ามาเป็นส่วนประกอบหลักทุกอุตสาหกรรม เช่น ระบบอัตโนมัติ เครื่องมือการแพทย์ ระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมาอิเล็กทรอนิกส์โดดเด่นช่วงกลางน้ำ แต่เป้าหมายวันนี้จะสร้างอุตสาหกรรมต้นน้ำในไทย

นอกจากนี้ ปี 2567 จะเป็นปีพลิกโฉมเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นต้นน้ำ 2 ส่วน ได้แก่

1.การตั้งศูนย์ “IC Design” ขนาดใหญ่ไทย โดยจ้างนักออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ 250 คน ซึ่งรวมตัวนักออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ พร้อมรวมบุคลากรด้านวิศวกรรม 500 คน มาช่วยพัฒนาทักษะฝีมือบุคลากรไทย โดยบริษัทดังกล่าวเดินสายร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในหลักสูตรการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ป้อนบุคลากรร่วมโครงการ

2.เวเฟอร์แฟบพลิเคชั่น จะเปิดเป็นแห่งแรก โดยบริษัทฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ตั้งบริษัทเอฟทีวัน คอร์เปอเรชั่น จำกัด (FT1) โดยร่วมทุนกับบริษัท นิวเวอ ซอลล์ จำกัด (NewVersal) บริษัทลูก ปตท.

เพื่อศึกษาลงทุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยผลิตชิ้นส่วนในอุปกรณ์พาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น รถยนต์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ระบบกักเก็บพลังงาน สมาร์ทกริด ซึ่งเป็นการผลิตชิปต้นน้ำเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันประเทศ

“ปีนี้จะมีนักลงทุนเข้ามาตั้งศูนย์ R&D ด้านเซมิคอนดักเตอร์ใหญ่ที่สุดแห่งแรกของไทย โดยจ้างนักวิจัย 500 คน จะเน้นการทดสอบด้าน IC Design และเวเฟอร์ครบวงจรขนาดใหญ่ที่สุดในไทย โดยเงินลงทุนด้านอิเล็กทรอนิกส์ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 3 แสนกว่าล้านบาท จาก 8 แสนล้านบาท ซึ่งช่วง 3 เดือนแรก ปีนี้ มีการลงทุนอิเล็กทรอนิกส์ 7.7 หมื่นล้านบาท จากยอดรวม 2.2 แสนล้านบาท”

นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) จะเป็นอีกคลัสเตอร์ที่เติบโต ปีที่แล้วลงทุนแสนล้านบาท หากดูสัดส่วนปีนี้พบว่าจากยอดอิเล็กทรอนิกส์เป็น PCB กว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยผู้ผลิตหลักคือจีนและไต้หวันที่ย้ายการลงทุนมาไทยจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เพราะไทยไม่ใช่คู่ขัดแย้ง มีโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานสะอาดรองรับการลงทุน

ขณะที่อุตสาหกรรม EV ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีพัฒนาการค่อนข้างมากจากการที่รัฐบาลมีมาตรการเชิงรุกต่อเนื่องมากที่สุดในภูมิภาค ครอบคุมทั้งในส่วนของการส่งเสริมผู้ผลิต แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนสำคัญ สถานีชาร์จและแอปพลิเคชั่น

รวมถึงความต่อเนื่องมาสู่มาตรการ EV3.5 สนับสนุนการใช้ EV ในประเทศ ที่ประสบความสำเร็จ ทั้งดึงการลงทุนแบรนด์รถระดับโลกมาไทย และดึงค่ายรถใหม่จากจีนมาลงทุน 8 ราย ประกอบด้วย BYD, MG, Great Wall Motor, Changan Automobile, GAC Aion, NETA, Foton และเชอรี 

สำหรับค่ายยุโรป คือ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่เริ่มผลิตแล้ว ในขณะที่ค่ายญี่ปุ่นทั้งโตโยต้าและอีซูซุ ประกาศลงทุนผลิต EV ในไทย โดยปี 2567 แบรนด์จีนจะเริ่มผลิตชดเชยมาตรการ EV3.0 ที่ 70,000-100,000 คัน ค่ายญี่ปุ่นจะผลิตปี 2568 

อีกหัวใจสำคัญ คือ แบตเตอรี่ ปัจจุบันไทยผลิตระดับโมดูลและแพ็ค ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนผลิตระดับเซลล์ โดยปีนี้จะมีผู้ผลิตรายใหญ่อย่างน้อย 2 ราย ลงทุนผลิตระดับเซลล์ กำลังผลิตเฟสแรกรายละ 6-10 GWh มูลค่าเงินลงทุนเฟสแรกรวมกันกว่า 30,000 ล้านบาท 

ทั้งนี้เมื่อไทยมีซัพพลายเชน EV ครอบคลุมจะช่วยสนับสนุนศูนย์กลาง EV ดังนั้น BOI จึงสนับสนุนการลงทุนมอเตอร์ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ควบคุมการขับขี่ และอินเวอร์เตอร์ และยังหารือกับผู้ผลิตทั่วโลกจากสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน โดยกรณีเทสล่ายังหารือต่อเนื่อง แม้ช่วงนี้อยู่ช่วงปรับการบริหารภายใน ดังนั้น จะหารือเชิงรุกมากขึ้น

ส่วนการลงทุนดิจิทัลขั้นสูง ถือเป็นกิจการสำคัญของดาต้าเซ็นเตอร์ และคลาวด์เซอร์วิส ที่ผ่านมาส่งเสริมการลงทุน 18 โครงการ ลงทุนเกือบ 8 หมื่นล้านบาท เช่น อเมซอน เว็บ เซอร์วิส (AWS) ที่ประกาศลงทุนเกือบ 2 แสนล้านบาท ในระยะ 15 ปี เฟสแรกลงทุนแล้ว 2.5 หมื่นล้านบาท โดยจะเปิดบริการปีนี้ และภาครัฐจะทำงานอย่างเข้มข้นเพื่อดึงรายอื่นมาลงทุน เช่น กูเกิล ไมโครซอฟท์

สำหรับด้านการสนับสนุนพลังงานสีเขียวจากความพร้อมของไทย นักลงทุนจึงมั่นใจและประกาศการลงทุน ซึ่งช่วยด้านโครงสร้างพื้นฐาน ช่วยให้ผู้ประกอบการในประเทศมีโอกาสเข้าถึงดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์เซอร์วิสที่มีคุณภาพราคาเหมาะสม

“วันนี้พลังงานสีเขียวเป็นที่ต้องการมากทั้งโซลาร์ วิน ไบโอแมส ไบโอแก๊ส ขยะ ไฮโดรเจน และเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ภาครัฐจะตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด 100% ที่มาจากโครงการ UGT2 กว่า 9,000 เมกะวัตต์ ในปี 2030 รวมถึงโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดจากเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั่วประเทศ”