ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค เม.ย.ลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค เม.ย.ลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

ผู้บริโภคกังวลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพสูง การเมือง ฉุดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2   ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยยังทรงตัว  ภาคธุรกิจกังวลภัยแล้ง ต้นทุนสูง วอนรัฐ เยียวยาภาคธุรกิจหากมีการปรับค่าแรง 400 บาท

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า จากการสำรวจตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศจำนวน 2,242 คน พบว่า  ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน เม.ย.67 อยู่ที่  62.1  ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2566 เป็นต้นมา  ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 56.0   ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมอยู่ที่ 58.9  และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 71.5ปรับตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 9 เดือนเช่นกัน

สาเหตุที่ทำให้ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงมาจากผู้บริโภคเริ่มกลับมากังวลว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซลและผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อบานปลาย อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันเริ่มมีความผันผวนมากขึ้นในมุมมองของผู้บริโภค

ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไม่โดดเด่นมาจาก 3 สัญญาณ คือ 1. ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ค่าครองชีพสูงตามไปด้วย ทำให้ความเชื่อมั่นลดลง  และกังวลเรื่องเงินเฟ้อ จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท 2.เสถียรภาพการเมืองที่ไม่นิ่ง คนไม่แน่ใจ กระแสต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งการปรับครม. การลาออกของรัฐมนตรี และ 3.เศรษฐกิจฟื้นช้า

“แม้เดือนเม.ย.จะเป็นช่วงการจัดงานสงกรานต์คึกคัก แต่ก็ไม่สามารถกระตุกสถานการณ์เศรษฐกิจขึ้นได้มาก การจับจ่ายซื้อสินค้าถูกกลบด้วยต้นทุนค่าครองชีพที่สูงขึ้น หลังสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล รวมถึงปัจจัยเรื่องเสถียรภาพการเมือง หลังนายปานปรีย์ ยื่นลาออกทุกตำแหน่งใน ครม. ขณะเดียวกัน ประชาชนยังมองว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า และฟื้นตัวไม่ทั่วถึง” นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ตามแม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่ยังไม่ถือว่าเป็นขาลง เพราะหากจะเป็นขาลงต้องเป็นการลดลงต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือนติดต่อกัน ซึ่งความเชื่อมั่นของผู้บริโภค น่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ ในระยะต่อไป จากแรงกระตุ้นของนโยบายการคลังของรัฐบาล 

โดยเฉพาะงบลงทุน 7 แสนล้านบาทที่จะเริ่มลงในระบบเศรษฐกิจในเดือน ก.ค.หรือส.ค.ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มเป็นเดือนละ  5 หมื่นล้านหรือ 1 แสนล้านล้านบาท

ทั้งนี้ม.หอการค้าไทยยังไม่ได้ปรับประมาณการณ์จีดีพีปี67 ยังคงไว้ที่ 2.6 %   ไม่รวมดิจิทัลวอลเล็ตและการปรับค่าแรงขั้นต่ำ  ซึ่งการปรับค่าแรงขั้นต่ำมีผลกระทบแน่ แต่เงินดิจิทัลออกมาใช้ได้ในช่วงปลายปีประกอบกับงบลงทุนก็ยังมีโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจกิจไทยขยายตัวได้ 3 %

 

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือน เม.ย.ม.ค. 67 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23-30   เม.ย.67 โดยดัชนีอยู่ที่ระดับ 55.3   เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 55.2 ในเดือน มี.ค.  โดยมีปัจจัยบวกมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมามากขึ้นทำให้ภาคการท่องเที่ยงและบริการภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัว ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์จากภาครัฐ เพื่อเป็นการสนับสนุนการมีที่อยู่อาศัยของประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ความหวังของประชาชนจากการมีสัญญาณของการขึ้นค่าจ้างงาน และเริ่มจะมีในการจับจ่ายใช้สอยที่กลับมามากขึ้น แต่ยังคงมีการระวังการเลือกซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังกังวลกับการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี  การส่งออกของไทยเดือน มี.ค. 67 ติดลบ ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง ภัยแล้งที่จะกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตร ความกังวลในเรื่องของต้นทุนทางการผลิตสูง

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจมีข้อเสนอแนะคือ ขอให้รัฐบาลกาบริหารจัดการน้ำให้มีใช้เพียงพอกับภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือนหาแนวทางการแก้ไขหรือมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ หากมีการขึ้นอัตราค่าแรงขั้นค่าขึ้นตามประกาศรัฐบาลมาตรการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจ

รวมทั้งแนวทางการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มีการจับจ่ายซื้อของเพื่อเพิ่มกำลังซื้อในพื้นที่ การดูแล และรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และการค้าการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ