'พิชัย' ถก 'เศรษฐพุฒิ' เล็งรื้อกรอบเงินเฟ้อ-ปรับเงื่อนไขสินเชื่อ
"รมว.คลัง" พบ "ผู้ว่าแบงก์ชาติ" สางปมร้าว ถกเดินหหน้านโยบายการเงินการคลังร่วมแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือนสูง เล็งรื้อกรอบเงินเฟ้อ ปรับเงื่อนไขสินเชื่อช่วยประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินเพิ่ม
วันนี้ (16 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นัดหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วงเวลาประมาณ 10.00 น. ที่กระทรวงการคลัง
โดยในช่วงเช้านายพิชัยได้เดินทางมาถึงกระทรวงการคลัง โดยมีรถยนต์ส่วนตัวและขบวนรถนำ มาจอดบริเวณหน้าตึกสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นที่จอดประจำของรมว.คลัง อย่างไรก็ดีพบว่า รมว.คลังได้เดินอ้อมขึ้นตึกผ่านทางอื่นเพื่อหลบเลี่ยงสื่อมวลที่มาดักรอบริเวณหน้าตึกและเดินทางเชื่อมเข้าห้องทำงานแล้ว ขณะที่ฝั่งผู้ว่า ธปท. ที่เดินทางมาถึงกระทรวงการคลังก็เดินขึ้นตึกผ่านทางเชื่อมเพื่อหลบเลี่ยงการพบกับสื่อมวลชนเช่นกัน
ถกรื้อกรอบเงินเฟ้อ
ซึ่งภายหลังการประชุมร่วมกันกว่า 2 ชั่วโมง นายพิชัย เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า การนัดหารือกับผู้ว่า ธปท.ในวันนี้เป็นการนัดอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อทำความเข้าใจตรงกันในเรื่องนโยบายการเงิน ซึ่งในการหารือร่วมกันมีการประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ ประเด็นแรก การปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ตกลงร่วมกับกระทรวงการคลัง ซึ่งโดยปกติจะมีการทบทวนทุกปี ปัจจุบันเป้าหมายเงินเฟ้ออยู่ที่ 1-3% มานานกว่า 4 ปี
ทั้งนี้ ธปท. จะใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ โดยคำนึงถึงโอกาสว่าเงินเฟ้อว่าจะเป็นอย่างไรในระยะสั้นและระยะปานกลาง แล้วจึงกลับมาเสนอต่อกระทรวงการคลังอีกครั้งให้ได้ข้อยุติ
เมื่อถามว่าควรมีการปรับกรอบเงินเฟ้อหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาหลุดกรอบมาโดยตลอด นายพิชัย กล่าวว่า การไม่เข้ากรอบเลย ธปท.คงมีวิธีคิดของท่าน แต่ท่านต้องมองไปว่าอีก 6-9 เดือน จะเข้ากรอบหรือไม่ ก็ต้องมาหารือร่วมกันอีกครั้ง เพราะต้องมีข้อมูลอื่นๆ เข้ามาประกอบด้วย
ผ่อนเงื่อนไขเข้าถึงสินเชื่อ
ประเด็นที่สอง การเพิ่มความยืดหยุ่นเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้กลุ่มที่มีปัญหาหนี้ในปัจจุบันเข้าถึงแหล่งเงินทุน ปัจจุบันปัญหาของประชาชน และภาคธุรกิจ ที่รัฐบาลมีความเป็นห่วง คือ การไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่กว่าการปรับอัตราดอกเบี้ย
“การเข้าถึงสินเชื่อเป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อ อาทิ รายย่อย เอสเอ็มอี ลูกหนี้ช่วงโควิด ลูกหนี้ NPL ซึ่งควรนำเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มเหล่านี้กลับมาพิจารณาอีกครั้ง ว่ามีเรื่องที่สามารถปรับปรุงโปรแกรมการชำระหนี้ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และสนับสนุนให้กลับมาเข้าถึงสินเชื่อได้"
ส่วนจะมีการปรับเกณฑ์ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) หรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า เป็นเกณฑ์ที่ ธปท.ให้ความสำคัญและดำเนินการตามมาตรฐานระดับโลก ซึ่งทำให้ภาคการเงินของไทยมีความเข้มเข็ง
อย่างไรก็ตาม คลังมองว่าอาจจะต้องเพิ่มความยืดหยุ่นในบ้างข้อ และดึงเงินสำรองออกมาใช้บางส่วน เพื่อช่วยปล่อยสินเชื่อให้รายย่อย ซึ่งเป็นการดึงออกมาจากพอร์ตสินเชื่อโดยรวมเล็กน้อยเท่านั้น จากพอร์ตแต่ละแบงก์มีประมาณ 4 ล้านล้านบาท เชื่อว่าไม่กระทบเรื่องการปล่อยสินเชื่อตามเกณฑ์ปกติ
“เชื่อว่าหลังจากคุยกันแล้ว จะมีการสร้างความยืดหยุ่นให้คนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ หรือสามารถทำได้ในกรอบที่ทำได้ ซึ่งบางตัวก็อยู่ในสิ่งที่แบงก์ตัดสินใจได้อยู่แล้ว เช่น ลูกหนี้ที่มีการตั้งสำรองไว้ครบถ้วน ทั้งนี้ ผู้ว่าธปท. เห็นด้วยกับปัญหาขาดสภาพคล่องของรายย่อย ส่วนนี้ก็คงต้องมานั่งคุยกัน โดยคลัง และธปท.ก็กำกับสถาบันการเงินเช่นเดียวกัน ซึ่งเราสามารถลงไปดูรายละเอียดได้ เชื่อว่าธปท.คงทำเช่นเดียวกันกับที่คลังได้ดำเนินการไปแล้ว”
สำหรับการหารือกันวันนี้ คุยอยู่ในกรอบนี้ก่อน และหลังจากนี้ต้องกลับไปทำการบ้าน ว่าแต่ละคนคิดอะไร อาจจะเจอรายละเอียดมากยิ่งขึ้น แต่อยู่ภายใต้โจทย์ต้องช่วยให้คนเข้าถึงแหล่งเงินได้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าสิ่งที่เห็นคล้ายกัน คือ เมืองไทยต้องปรับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ อาทิ เอสเอ็มอี ธุรกิจขนาดกลาง และขนาดใหญ่
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เร่งทำในเรื่องขีดความสามารถด้านโลจีสติกส์ เรื่องน้ำ ซึ่งประเทศไทยว่างเว้นการพัฒนามาหลายปีแล้ว ฉะนั้น คงไม่ได้เป็นเรื่องที่ทำให้เสร็จภายในเร็วๆ นี้ ส่วนผู้ที่จะเข้ามาลงทุนใหม่จะต้องมีการคัดเลือกผู้มาลงทุนใหม่ ที่ไม่ใช่การทำธุรกิจสินค้าแบบเดิมๆ
เชื่อหลังจากนี้นัดคุย ธปท. บ่อยขึ้น
“หลังจากนี้เราก็คงมาคุยกันบ่อย ครั้งต่อไปไม่ต้องมานัดเจอกันแล้ว แต่การหารือครั้งนี้เป็นครั้งแรก จึงได้นัดเจอกันที่กระทรวงการคลัง และการคุยกันวันนี้นานเกือบ 2 ชั่วโมง ส่วนครั้งต่อไปขอเวลาทำงานก่อน แต่ถ้ามีความคืบหน้าใกล้เคียง จะมีการนัดคุยกันอีกสักรอบ เพ่อหาข้อยุติ สรุปแล้วทั้งคลัง และธปท.ต้องกลับไปทำการบ้าน”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันมีความสอดคล้องกับเศรษฐกิจหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยส่วนนี้ ธปท. ต้องมีการทบทวน ขณะเดียวกันเราได้มองปัญหา อัตราส่วนนี้ แม้ว่าจะมีการทบทวน แต่ธปท.ก็จะมีอิสระทางความคิด เพื่อให้ออกมาดีที่สุด
แต่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องมามองมากกว่าเรื่องนี้ คือ เรื่องหนี้เสีย สภาพคล่องที่คนไทยยังเข้าไม่ถึง และหนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นเรื่องที่สถาบันการเงิน และแบงก์รัฐจะต้องร่วมกันแก้ไข
เมื่อถามว่าบรรยากาศโดยรวมในการหารือกันชื่นมื่นหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า โดยส่วนตัวเรา 2 คนต่างรู้จักกันดี ผมเป็นกรรมการหลายแห่งก็เจอกัน ท่านเป็นคนที่เก่ง เมื่อคุยกันแล้ว เราต่างพร้อมใจที่จะแก้ไขปัญหา เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ทั้งนี้ หลังจากการหารือนโยบายการเงิน และการคลังจะต้องสอดประสานกันมากที่สุด
ขณะที่เรื่องมาตรการผ่อนปรน LTV นั้น ทั้งหมดนี้จะอยู่ในส่วนที่เราจะปล่อย หากทำให้คนที่ทำเรื่องนี้เพิ่มสภาพคล่องอย่างมีเหตุมีผล อยู่ในหลักเกณฑ์ที่รับได้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ควรดูแลธุรกิจกลุ่มอื่นๆ ด้วย เช่น ท่องเที่ยว และพลังงาน ภาพรวมการคุยไม่ได้ผิดคาด ผมคิดว่าจะได้ผลลัพธ์อย่างนี้อยู่แล้ว