เกษตรกรรมเชิงฟื้นฟู (Regenerative agriculture) โอกาสเติบโตภาคเกษตรใน EEC

เกษตรกรรมเชิงฟื้นฟู (Regenerative agriculture)  โอกาสเติบโตภาคเกษตรใน EEC

ปัจจุบันการทำเกษตรในพื้นที่ EEC กำลังเผชิญความท้าทายจากการทำการเกษตรกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ขาดการปกป้องดิน

การใช้ปุ๋ยเคมี การใช้สารเคมีกำจัดโรคและแมลง ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเกษตรกรรมเชิงฟื้นฟูนับเป็นอีกโอกาสสำคัญในการพื้นฟูภาคเกษตรใน EEC

กษตรกรรมเชิงฟื้นฟู เป็นรูปแบบการเกษตรที่มุ่งผลลัพธ์ (Outcome based agriculture) โดยเน้นฟื้นฟูและส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบการเกษตรกระแสหลักในปัจจุบัน ที่เน้นใช้ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติให้หมดไปและนำสารเคมีมาใช้ 

โดยแพลตฟอร์มความริเริ่มเกษตรยั่งยืน (Sustainable agriculture initiative platform) ซึ่งเป็นความร่วมมือของหลากหลายองค์กรทั่วโลก ได้ให้คำนิยามของคำว่า “เกษตรกรรมเชิงฟื้นฟู” ว่าเป็นการเกษตรที่มุ่งผลลัพธ์ โดยมุ่งปกป้องและเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความหลากหลายทางชีวภาพ สภาพภูมิอากาศและทรัพยากรน้ำ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจเกษตร ซึ่งคำนิยามที่ยึดโยงกับผลลัพธ์ส่งผลให้เกษตรกรรมเชิงฟื้นฟูไม่มีรูปแบบที่ตายตัว แต่จะขึ้นอยู่กับลักษณะและบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยรูปแบบการทำการเกษตรที่สอดคล้องกับหลักการของเกษตรกรรมเชิงฟื้นฟูมีอยู่หลากหลาย เช่น การลดหรืองดการไถพรวนซึ่งกระทบต่อโครงสร้างดินและสิ่งมีชีวิตในดิน การปลูกพืชคลุมดิน การปลูกพืชหมุนเวียน การใช้ปุ๋ยชีวภาพ เป็นต้น

เกษตรกรรมเชิงฟื้นฟู นับเป็นอีกหนึ่งโอกาสและความท้าทายสำคัญในการพัฒนาภาคเกษตรในพื้นที่ EEC ที่กำลังเผชิญกับปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ จากทั้งการทำการเกษตรและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจากข้อมูล พบว่า พื้นที่เกษตรใน EEC มากกว่า 70% มีปัญหาดินเสื่อมสภาพ ขณะที่อีกกว่า 80% จำเป็นต้องพึ่งพาน้ำฝนในการเพาะปลูก ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศค่อนข้างมาก ดังนั้น การนำเกษตรกรรมเชิงฟื้นฟูมาปรับใช้จะเปิดโอกาสให้เกษตรกรใน EEC สามารถฟื้นฟูผืนดินให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง โดยสุขภาวะดินที่ดีขึ้น จะช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่และความสามารถในการกักเก็บน้ำและคาร์บอนของดิน ซึ่งจะช่วยให้ผลผลิตทางการเกษตรมีความยั่งยืนและสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ดียิ่งขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทในไทยก็ได้เริ่มมีการส่งเสริมให้มีการทำเกษตรกรรมเชิงฟื้นฟูบ้างแล้ว 

ตัวอย่างเช่น บริษัทเนสท์เล่ ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ มีการปลูกกาแฟแซมหรือควบคู่กับการปลูกป่า ปลูกพืชคลุมดิน และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมี ซึ่งทำให้ผลผลิตเมล็ดกาแฟที่ได้ผ่านมาตรฐานความยั่งยืนระดับสากล นอกจากนี้ จากการประเมินของบริษัทบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (BCG) ในปี 2023 พบว่า การทำเกษตรกรรมเชิงฟื้นฟูในเยอรมนี ยังช่วยเพิ่มกำไรต่อไร่ในการทำการเกษตรได้สูงถึง 60% เมื่อเทียบกับการทำการเกษตรแบบกระแสหลัก โดยในช่วงปลายปี 2023 องค์กรเกษตรชั้นนำของโลกมากกว่า 25 องค์กร ได้มีการประกาศในเวทีการประชุม COP28 ว่าจะเร่งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการเกษตรไปสู่เกษตรกรรมเชิงฟื้นฟูในพื้นที่กว่า 1,000 ล้านไร่ทั่วโลก หรือราว 6.8 เท่าของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดในไทย

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนผ่านไปสู่เกษตรกรรมเชิงฟื้นฟูใน EEC ยังมีความท้าทายอีกหลายด้าน เช่น เกษตรกรขาดช่องทางเข้าถึงองค์ความรู้และตลาด ขาดเงินทุน การเข้าสู่สังคมสูงวัย เป็นต้น ซึ่งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ต้องมีบทบาทสำคัญในการให้การสนับสนุนด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทุน การฝึกอบรม การเข้าถึงเทคโนโลยีและตลาด ในขณะเดียวกัน เกษตรกรเองก็ต้อง “ช่วยตัวเอง” และ “ช่วยกันเอง” ด้วยการรวมกลุ่มให้เข้มแข็ง เพื่อใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการปรับตัวร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ

เกษตรกรรมเชิงฟื้นฟู ไม่เพียงเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นกลยุทธ์สำคัญและทางรอดที่จะช่วยให้ภาคเกษตรใน EEC เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

 

บทความโดย

ดร.เกียรติศักดิ์ คำสี

นักวิเคราะห์อาวุโส

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)

[email protected]| EIC Online:www.scbeic.com