หอการค้านานาชาติฯ กลไกเชิงสถาบัน เสริมขีดแข่งขันผู้ประกอบการไทย
กลไกทางการค้าเชิงสถาบันเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะส่งเสริมขีดความการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ซึ่งองค์กรอย่าง
หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย หรือ International Chamber of Commerce – Thailand (ICC Thailand)
ในฐานะสมาชิกและตัวแทนของหอการค้านานาชาติ (ICC) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2542 โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.)และสมาคมธนาคารไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะสนับสนุนภาคธุรกิจไทยให้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎระเบียบการค้าและการลงทุนในเวทีโลก และเป็นตัวแทนของภาคเอกชนไทยในการเสนอข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย (ICC Thailand) เปิดเผยว่าปัจจุบันปัญหาการกีดกันทางการค้ามีการนำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นเงื่อนไขหรือข้อกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น เช่น มาตรการปรับภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของยุโรป Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนต.ค. ปี พ.ศ. 2566นำไปสู่การกำหนด Agenda Thailand ที่ว่าด้วยCBAM และ ESG ที่ประเทศไทยต้องทำ
ในปี 2567 ICC Thailand มีแผนที่จะจัดกิจกรรมร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อติดตามผลและปัญหาของผู้ประกอบการหลังจากการดำเนินการรายงานการปล่อยคาร์บอนของสินค้าเพื่อหาแนวทางที่จะช่วยผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ พร้อมแบ่งปันประสบการณ์จากหน่วยงานภาคเอกชนที่เป็นประโยชน์อีกด้วย
“ช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งแต่ละประเทศจะต้องเตรียมตัวในเรื่องการบริหารจัดการภาคอุตสาหกรรมและดูแลภาคการส่งออกให้ได้เกณฑ์มาตรฐานสิ่งแวดล้อม ซึ่งต่อไปมาตรการ CBAM จะครอบคลุมสินค้ามากขึ้นและนับรวมการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทางอ้อมอีกด้วย”
ก่อนหน้านี้ICC Thailand คณะกรรมาธิการด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมได้ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ICC สำนักงานใหญ่ และหน่วยงานภาคเอกชนจัดงาน “Understanding CBAM and its Impact for Thai Business” เมื่อปี 2566 เพื่อเตรียมความพร้อมให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวและรับมือกับมาตรการดังกล่าว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะนำมาซึ่งความได้เปรียบทางการค้าที่เป็นจุดแข็งทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ปัจจุบันตลาดการค้าระหว่างประเทศได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามและการสู้รบในหลายพื้นที่ทำให้เกิดการแข่งขันมากยิ่งขึ้น สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการได้ คือการเลือกใช้กฎระเบียบการค้าที่ถูกต้องเพื่อลดความเสี่ยงต่าง ๆ ของผู้ส่งออก เช่น กฎ Incoterms ซึ่งทาง ICC Thailand ได้มีการจัดอบรมอย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่อง Force Majeure เหตุสุดวิสัยในการค้าขาย และส่งสินค้าระหว่างประเทศ การใช้เอกสารต่าง ๆ ที่จำเป็นในการลดภาษีหรือยกเว้นภาษีนำเข้าของกรอบความร่วมมือ FTA กับประเทศต่าง ๆ และให้ความรู้เกี่ยวกับข้อกำหนด ESG เพื่อส่งสินค้าไปยังประเทศในทวีปยุโรปและสหรัฐ เป็นต้น
ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยต้องการขยายตลาดในต่างประเทศมากขึ้น โดยหอการค้านานาชาติ (ICC) เครือข่ายสมาชิกอยู่กว่า 100 ประเทศทั่วโลก จำนวน 4.5 ล้านบริษัท หากผู้ประกอบการไทยต้องการขยายตลาดไปยังต่างประเทศก็สามารถใช้เครือข่ายของ ICC ในประเทศนั้นได้
นอกจากนี้ทาง ICC ได้จัดตั้ง ICC Academy ขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสถาบันที่พัฒนาความรู้ในด้านการค้าระหว่างประเทส รวมทั้งอัพเดท กฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มนตรี กล่าวอีกว่าผู้ประกอบการที่สนใจส่งออกสินค้าแต่ยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มอย่างไร ทาง ICC ได้พัฒนาโปรแกรมที่มีชื่อว่า Digital Export Enablement Programme หรือ DEEP เป็นการพัฒนาหลักสูตรของ ICC ร่วมกับทาง Google และ International Trade Center (ITD) เพื่อที่จะช่วย SME ในหาและขยายตลาดต่างประเทศโดยใช้แพลตฟอร์มที่ร่วมกันพัฒนาขึ้น
สำหรับ ICC Thailand ได้ทดลองจัดอบรมหลักสูตร DEEP ในประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมา โดยมี SME เข้าร่วมอบรมกว่า 80 รายและเตรียมการอบรมอีกครั้งในปีนี้
สำหรับหอการค้านานาชาติ หรือ International Chamber of Commerce (ICC) เป็นองค์การเอกชนนานาชาติจัดตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1919 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของภาคเอกชนกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ในการกำหนดและจัดทำกฎระเบียบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยได้รับการยอมรับจากองค์การสหประชาชาติ (UN) และองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่ง ICC เป็นองค์กรเอกชนแห่งเดียวที่ได้รับสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ถาวรในที่ประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติ
ปัจจุบันหอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทยมีการบริหารงานโดยคณะกรรมการบริหารและดำเนินงานโดยผ่านคณะกรรมาธิการ (Commission) ด้านต่าง ๆ 11 สาขา ประกอบด้วย 1. Commission on Arbitration and ADR (ด้านอนุญาโตตุลาการและการระงับข้อพิพาท) 2. Commission on Banking (ด้านการธนาคาร) 3. Commission on Commercial Law and Practices (ด้านกฎหมายและการปฏิบัติทางการค้า) 4. Commission on Competition (ด้านการแข่งขันทางการค้า) 5. Commission on Corporate Responsibility and Anti-Corruption (ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและป้องกันการทุจริตขององค์กร)
6. Commission on Customs and Trade Facilitation (ด้านศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า)7. Commission on the Digital Economy (ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล)8. Commission on Environment and Energy (ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม)9. Commission on Food and Agricultural Products (ด้านผลิตภัณฑ์อาหารและเกษตร)10. Commission on Insurance (ด้านการประกันภัย)11. Commission on Marketing & Advertising (ด้านการตลาดและโฆษณา)