เสียงร้อง 'เอสเอ็มอี' เจอสารพัดปัญหา มาตรการรัฐเอื้อ 'กลุ่มทุนใหญ่'

เสียงร้อง 'เอสเอ็มอี' เจอสารพัดปัญหา มาตรการรัฐเอื้อ 'กลุ่มทุนใหญ่'

"ส.อ.ท." ระบุ กลุ่ม "เอสเอ็มอี" เจอสารพัดปัญหา โดยมาตรการภาครัฐที่สนับสุน จะได้ประโยชน์ที่แท้จริงคือกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ ยืนยันค้านขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2567 อยู่ที่ระดับ 90.3 ปรับตัวลดลงจาก 92.4 ในเดือนมีนาคม 2567 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่า ปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดขายโดยรวม คำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ 

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ อาทิ สินค้ายานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน

ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี มีความกังวลต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนการผลิต ขณะที่การสิ้นสุดมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐ ส่งผลให้ต้นทุนด้านพลังงานและค่าขนส่งปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันปัญหาภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตรและทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทยและอาเซียน อย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายนมีวันทำงานน้อยเนื่องจากมีวันหยุดต่อเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ส่งผลให้การผลิตสินค้าลดลง ด้านการส่งออกชะลอลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ลดลงจากปัญหาความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในตลาดโลก รวมถึงปัญหาความไม่สงบในประเทศเมียนมาที่ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดน 

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,268 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนเมษายน 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก 79.4% ราคาน้ำมัน 56.6% เศรษฐกิจในประเทศ 56.4% สถานการณ์การเมืองในประเทศ 40.2% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 39.5% ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 68.5% ตามลำดับ 

ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.3 ปรับตัวลดลง จาก 100.8 ในเดือนมีนาคม 2567 โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตร และทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค รวมถึงในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันการเข้าสู่ช่วง Low Season ของภาคการท่องเที่ยวทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง นอกจากนี้ ปัญหาความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์จากความขัดแย้งในตะวันออกกลางรวมถึงสงครามรัสเซีย - ยูเครน กดดันเศรษฐกิจโลกและภาคการส่งออก อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากการเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2567 จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ส.อ.ท. จะเร่งช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีจาก การทำให้เอสเอ็มอีเป็นสมาร์ทเอสเอ็มอีผ่านนโยบาย 3 Go คือ 1.Go Digital 2.Go Innovation และ 3.Go Global ในวาระปี 2567-2569 โดยจะเพิ่มเป็น 4 Go คือ Go Green เนื่องจากปัจจุบันเอสเอ็มอียังมีอาการไม่ดี และต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ 

ทั้งนี้ เนื่องจาก การที่ภาครัฐประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ทำให้เอสเอ็มอีผวา เพราะเอสเอ็มอีจะดูต้นทุนการผลิตเป็นส่วนหนึ่งในต้นทุนสำคัญ ซึ่งความสามารถในการจ่ายเงินค่าแรงของนายจ้างจะมีได้อย่างไรหากต้นทุนเพิ่มขึ้น 

"เอสเอ็มอีถูกซ้ำเติมจากความเชื่อมั่นที่ลดลง ผลิตสินค้าได้น้อยลงโอกาสทำกำไรลดลง อีกส่วนที่ขายไม่ได้เพราะมีสินค้าหนีภาษีราคาถูกไหลทะลักเข้ามา อีกทั้งยังมีการเทรดวอร์ สหรัฐตั้งกำแพงภาษีเพิ่มขึ้นในจีน จะทำให้สินค้าส่งออกมาในไทยมากขึ้นอีกเช่นเดียวกัน" 

นอกจากนี้ เมื่อเอสเอ็มอีเจอแต่ปัญหาหลากหลายที่ถาถม ทำให้เอสเอ็มอีไม่รู้จะทำอย่างไร มีหลายคนเสนอทั้งมาตรการลดหย่อนภาษี จึงต้องบอกว่าผู้ประกอบการจะจ่ายภาษีได้ก็ต้องมีกำไรจากการผลิต การค้าขาย แต่ถ้าวันนี้ผลิตแล้วไม่มีกำไรจะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายภาษี ความช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐจะมีประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความมั่นคง

"ส.อ.ท.มีความพยายามช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างมีระบบจากนโยบาย 3 Go จะทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีมีเทคโนโลยีมาช่วยเหลือทำให้ความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น อยู่ที่เอสเอ็มอีจะเดินมาหาความช่วยเหลือหรือไม่ หากวันนี้ผลิตแล้วทำสินค้าเดิมๆ ก็อยู่ไม่ได้ ในขณะที่ตลาดในประเทศข้อมูลความเชื่อมั่นลดลง เราพยายามพาเอสเอ็มอีทั้งหมดที่มาพาไปตลาดต่างประเทศ และ Go สุดท้ายตัวนี้จะมีปัญหาซึ่งเอสเอ็มอีต้องมีความพร้อม ดังนั้นในส่วนนี้เอสเอ็มอีจะ โก กรีน ได้อย่างไร ในเมื่อต้นทุนยังสูง"