ฤดูการเพาะปลูก ปี67 เริ่มแล้ว อย่าลืมลงทะเบียนเกษตรกร กันนะ
กรมส่งเสริมการเกษตร ชวน ขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน รับฤดูแห่งการเพาะปลูก ปี2567 “นาข้าว”ดำเนินการหลังเพาะปลูกพืชแล้ว 15 วัน ไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ปลูกแล้ว 30 วัน ได้ทั้ง สำนักงานฯในพื้นที่ e-Form และ Farmbook Application
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผย ว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นช่วงที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝน จึงถือเป็นสัญญาณเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ โดยเฉพาะข้าว ซึ่งเกษตรกรมักจะถือเอาฤกษ์ไถหว่านตามพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นวันเริ่มต้นปลูกข้าวนาปี เพื่อความเป็นสิริมงคล กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรแจ้งขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร หลังจากทำการเพาะปลูกพืชแล้ว 15 วัน หากเป็นไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ให้แจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้เมื่อทำการเพาะปลูกแล้ว 30 วัน
กรมส่งเสริมการเกษตร ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรในการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร โดยแจ้งข้อมูลได้ 3 ช่องทาง คือ
(1) แจ้งข้อมูล ณ สถานที่รับขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ได้แก่ สำนักงานเกษตรอำเภอ ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช หรือจุดนัดหมายที่สำนักงานเกษตรอำเภอ กำหนด
(2) แจ้งขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรออนไลน์ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ผ่านเว็บไซต์ e-Form ทบก. (efarmer.doae.go.th)
และ (3) กรณีเกษตรกรรายเดิม สามารถปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรได้ด้วยตนเอง ผ่าน Farmbook Application
จากการประเมินผลการดำเนินงานในปี 2566 มีเกษตรกรแจ้งขึ้นทะเบียนและปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรด้วยตนเอง ผ่านระบบ e-Form และ Farmbook Application มากกว่า 3 ล้านครัวเรือน ซึ่งมากกว่าร้อยละ 50 ของเกษตรกรทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาการเกษตรที่ดี
ปัจจุบันมีข้อมูลเกษตรกรที่ยังไม่สิ้นสถานภาพ จำนวน 6.93 ล้านครัวเรือน โดยในปี 2566 มีเกษตรกรปรับปรุงข้อมูลกิจกรรมการเกษตร จำนวน 6 ล้านครัวเรือน 21 ล้านแปลง และเนื้อที่ทำการเกษตร 147 ล้านไร่ (จำนวนแปลงและเนื้อที่ทำการเกษตรนับรวมแบบสะสม)
สำหรับ ข้อมูลทะเบียนเกษตรกร เป็นข้อมูลที่มีความถูกต้อง (Accuracy) ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลแบบออนไลน์กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และการนำเทคโนโลยีช่วยในการตรวจสอบ มีความน่าเชื่อถือ (Reliability) เนื่องจากผ่านตรวจสอบด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (GIS) และการตรวจสอบทางสังคม เช่น การปิดประกาศข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรในชุมชนหรือการทำประชาคม
อีกทั้งยังมีความปลอดภัย (Security) มีมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล การให้สิทธิในการเข้าถึงเฉพาะผู้ที่มีสิทธิ์เข้าถึงเท่านั้น นอกจากข้อมูลทะเบียนเกษตรกรจะเป็นฐานข้อมูลในการช่วยเหลือเมื่อเกษตรกรประสบภัยพิบัติด้านพืช รวมถึงเป็นข้อมูลในการรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เมื่อมีโครงการช่วยเหลือจากภาครัฐแล้วยังเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมภาคการเกษตร
เนื่องจากข้อมูลครอบคลุมถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนเกษตรกรและสมาชิกในหลายมิติ เช่น โครงสร้างประชากร อาชีพและการทำการเกษตร เนื้อที่ถือครองทำการเกษตร รายได้และหนี้สินของครัวเรือนเกษตร สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้วิเคราะห์และวางแผนส่งเสริมและพัฒนาภาคการเกษตร ทำให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและสถานการณ์ในภาคเกษตรไทยได้ดียิ่งขึ้น นำไปสู่การต่อยอดเชิงนโยบายได้
"กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอเชิญชวนเกษตรกรทุกท่าน ได้แจ้งขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรตามจริง เป็นปัจจุบัน ทั้งนี้การแจ้งขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรถือเป็นหน้าที่ของเกษตรกรที่ต้องดำเนินการ เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ ของเกษตรกรที่จะได้รับบริการจากหน่วยงานของภาครัฐต่อไป"