ไทยยึดเบอร์ 1 เอเชีย แชมป์ส่งออกไอศกรีม ธุรกิจโตต่อเนื่องแข่งระดับโลก
ปี 66 ไทยส่งออกไอศกรีม มูลค่าแตะ 5.1 พันล้านบาท ครองเบอร์ 1 ของเอเชีย แม้ไตรมาสแรกปีนี้หดตัว สนค.มั่นใจทั้งปีโตมากกว่าปี66 จากอากาศร้อน ด้าน “แม็คซ์ฟู๊ด กรุ๊ป จำกัด”ผู้ผลิตไอศกรีมรายใหญ่ สบช่อง ซึ่งเร่งขยายโรงงาน-เพิ่มกำลังการผลิต ตอบรับตลาดเติบโต
“ไอศกรีม”ถือขนมหวานของโปรดของใครต่อใครหลายคนทั่วโลก ซึ่งน้อยคนจะรู้บ้างว่า “ไอศกรีม” เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยในบรรดาสินค้าอื่นที่ส่งออก
จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกสินค้าไอศกรีมเติบโตต่อเนื่องติดต่อกัน 7 ปี มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ตั้งแต่ปี 2560 – 2566 มีการเติบโต 12.43 % ต่อปี โดย ปี 2566 มีมูลค่าการส่งออกไอศกรีมรวม 148.21 ล้านดอลลาร์ หรือ 5,099 ล้านบาท ขยายตัว 7.3 %
พบว่าไทยเป็นผู้ส่งออกไอศกรีม อันดับที่ 11 ของโลก รองจาก เยอรมนี ฝรั่งเศส เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ อิตาลี โปแลนด์ สหรัฐอเมริกา สเปน สหราชอาณาจักร และ ฮังการีและไทยยังเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของเอเชีย
ปัจจุบันความต้องการในสินค้าไอศกรีมยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยรายงานมูลค่าตลาดไอศกรีมของ Euromonitor International พบว่า ปี 2566 ตลาดไอศกรีมโลกมูลค่าค้าปลีก 86,719.4 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 8.8 % เมื่อเทียบปี 2565 โดยประเทศที่ตลาดไอศกรีมใหญ่ที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
- สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าค้าปลีก 19,994.5 ล้านดอลลาร์
- จีน มีมูลค่าค้าปลีก 8,247.1 ล้านดอลลาร์
- ญี่ปุ่น มีมูลค่าค้าปลีก 5,581.2 ล้านดอลลาร์
- รัสเซีย มีมูลค่าค้าปลีก 3,576.0 ล้านดอลลาร์
- บราซิล มีมูลค่าค้าปลีก 3,232.7 ล้านดอลลาร์
ขณะที่ตลาดไอศกรีมของไทยมีมูลค่าค้าปลีก 396.0 ล้านดอลล่าร์ ขยายตัว 11.0% มีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพอากาศที่ร้อน ความนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และไลฟ์สไตล์ที่ต้องเดินทาง (On The Go Lifestyles) เพิ่มขึ้นของคนไทย
สอดคล้องกับความเห็นของผู้ผลิตไอศกรีมไทย จากบริษัท แม็คซ์ฟู๊ด กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำในการผลิตไอศกรีมซอร์เบในลูกผลไม้ ไอศกรีมผลไม้ และ โมจิไอศกรีม โดยเป็นการผลิตเพื่อส่งออกเกือบ 99% และขายในประเทศเพียง 1%
”ฐานพงศ์ จุ้ยประเสริฐ “กรรมการผู้จัดการ มองว่า อุตสาหกรรมไอศกรีมไทยยังเติบโตได้ต่อเนื่องจากความต้องการของตลาดโลก ทำให้บริษัทต้องขยายโรงงานและจัดหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ เพิ่ม และสต๊อกผลไม้เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้ตลอดปี ทำให้จะสามารถส่งผลิตภัณฑ์ไอศกรีมแก่ลูกค้าได้ในทุกคำสั่งซื้อ ทั้งคำสั่งซื้อที่ค้างอยู่ คำสั่งซื้อใหม่ และรองรับลูกค้าใหม่ๆ ที่จะเพิ่มขึ้น
สำหรับตลาดส่งออกนั้น นายฐานพงศ์ มองว่า ตลาดที่น่าสนใจ มีศักยภาพสูงและเป็นประตูบานสำคัญ คือ ซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากมีกำลังการซื้อสูงและเชื่อมต่อไปยังประเทศในแถบอาหรับและแอฟริกาได้ ส่วนจีนเป็นตลาดใหญ่ มีการบริโภคสูง
โดยทางบริษัทฯ ได้เริ่มมีการส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายบ้างแล้วและผลตอบรับเป็นไปด้วยดี คาดว่าจะสามารถพัฒนาต่อไปเป็นตลาดสำคัญของเราได้ นอกจากนั้นยังได้เริ่มมีการเปิดตลาดใหม่กับทางอเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจาและพัฒนาสูตร คาดว่าจะสามารถส่งผลิตภัณฑ์เข้าไปจำหน่ายได้ประมาณปลายปีนี้ หรือ ต้นปีหน้า
“พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์” ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกไอศกรีมอันดับ 1 ของเอเชีย เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกหลัก ไทยเป็นรองเพียงแค่สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร แสดงให้เห็นว่าไอศกรีมเป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกศักยภาพของไทย
แม้ว่าการส่งออกไอศกรีม ไตรมาส 1 มูลค่า 35.35 ล้านดอลลาร์ หดตัว 2.8%แต่ตลาดส่งออกหลักที่มีสัดส่วนสูงอย่างมาเลเซีย ยังคงขยายตัวได้ดี ขณะที่ตลาดส่งออกที่หดตัว คือ ตลาดเกาหลีใต้ เนื่องจากในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ฐานสูง โดยมีการเติบโตมากถึง 66.2%
คาดว่า แนวโน้มการส่งออกไอศกรีมปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวจากปี 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ คือ อุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้นทั่วโลก ทำให้เกิดความนิยมรับประทานไอศกรีมคลายร้อน
ขณะที่ไทยมีความสามารถทางการแข่งขันด้านด้านราคา เนื่องจากวัตถุดิบที่มีอยู่ภายในประเทศ ประกอบกับมีการสร้างความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและโดดเด่นให้กับผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสุขภาพและความยั่งยืนมากขึ้น ผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวและปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อสามารถพัฒนาไอศกรีมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค
และแสวงหาโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าใหม่ ๆ มากขึ้น เนื่องจากไอศกรีมไทยยังมีช่องว่างในการเติบโตได้อีกมากทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดโลก