โรดแมพดันไทยสู่ 'ศูนย์กลางการบิน' ตั้งเป้าปี 80 รับผู้โดยสาร 270 ล้านคน
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เปิดโรดแมพขับเคลื่อนไทยสู่ศูนย์กลางทางการบินของภูมิภาค แบ่งเป้าหมายออกเป็น 3 ระยะ สิ้นสุดในปี 2580 รับผู้โดยสารสูงสุด 270 ล้านคน พร้อมติด 1 ใน 5 ประเทศด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศสูงสุดในเอเชียแปซิฟิก
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยถึงแนวทางขับเคลื่อนการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศวิสัยทัศน์ Thailand Vision “IGNITE THAILAND : จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง” โดยจะมุ่งพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมการบิน
ผ่านวิสัยทัศน์ที่ 4 ศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ที่ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์จากการที่มีระยะทางไปยังศูนย์กลางทางเศรษฐกิจได้ทั่วโลกใกล้กว่าประเทศเพื่อนบ้านประกอบกับท่าอากาศยาน ที่มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและจำนวนเที่ยวบินเพียงพอ และมีแผนการพัฒนาศักยภาพท่าอากาสยาน รวมถึงมีการเตรียมการเพิ่มศักยภาพและปริมาณของบุคลากรในอุตสาหกรรมการบินให้เพียงพอต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในอนาคต
โดยข้อมูลจากกองนโยบายการบินพลเรือน ฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมกิจการการบิน พบว่า กพท. และหน่วยงานด้านการบิน ได้แก่ กรมท่าอากาศยาน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด สถาบันการบินพลเรือน และบริษัท โรงแรมท่อากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด มีการเตรียมความพร้อมเพื่อให้ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่จะเป็นปัจจัยเสริมสำหรับการเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่ง และการท่องเที่ยวในเส้นทางภายในประเทศ และเส้นทางระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ หน่วยงานด้านการบินของไทย ได้วางยุทธศาสตร์ปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน สำหรับการเตรียมการรองรับจำนวนผู้โดยสารและปริมาณเที่ยวบินที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อผลักดันในประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค โดยแบ่งเป้าหมายออกเป็น 3 ระยะ
เป้าหมายระยะสั้น (ปี 2567 - 2568)
- เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินให้สามารถรองรับได้ 1.2 ล้านเที่ยวบิน ภายในปี 2568
- เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารให้สามารถรองรับได้ 180 ล้านคน ภายในปี 2568
- มีกลยุทธ์ด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศ
- ลดระยะเวลาในการต่อเครื่อง โดยกำหนดให้มี MCT (Minimum Connecting time) สำหรับผู้ที่ต่อเครื่องระหว่างเส้นทางบินระหว่างประเทศและระหว่างประเทศ (International to international) ไม่เกิน 75 นาที
- การบริหารจัดการอากาศยานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
เป้าหมายระยะกลาง (ปี 2569 - 2571)
- เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินให้สามารถรองรับได้ 1.4 ล้านเที่ยวบิน ภายในปี 2571
- เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารให้สามารถรองรับได้ 210 ล้านคน ภายในปี 2571
- ได้รับการจัดลำดับของประเทศด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศดีขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
- ลดระยะเวลาในการต่อเครื่อง โดยกำหนดให้มี MCT (Minimum Connecting time) สำหรับผู้ที่ต่อเครื่องระหว่างเส้นทางบินระหว่างประเทศและระหว่างประเทศ (International to international) ไม่เกิน 60 นาที
เป้าหมายระยะยาว (ปี 2572 - 2580)
- เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินให้สามารถรองรับได้ 2.1 ล้านเที่ยวบิน ภายในปี 2580
- เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารให้สามารถรองรับได้ 270 ล้านคน ภายในปี 2580
- ได้รับการจัดลำดับของประเทศด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในลำดับ 1 ใน 5
- ลดระยะเวลาในการต่อเครื่อง โดยกำหนดให้มี MCT (Minimum Connecting time) สำหรับผู้ที่ต่อเครื่องระหว่างเส้นทางบินระหว่างประเทศและระหว่างประเทศ (International to international) ไม่เกิน 45 นาที