'มนพร' สั่ง สบพ. เร่งลงทุนศูนย์ฝึกหัวหิน รับอุตฯ การบินฟื้นตัว
"มนพร" สั่งสถาบันการบินพลเรือนเร่งพัฒนา - สร้างบุคลากร รับการขยายตัวอุตสาหกรรมการบิน พร้อมสนับสนุนเป้าหมายศูนย์กลางการบินของภูมิภาค
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) พร้อมระบุว่า เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย และผลักดันการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (Aviation Hub) โดยตนได้มอบหมายให้ สบพ.เป็นกลไกหลักในการกำหนดมาตรฐานการผลิตบุคลากรของประเทศ และเป็นหน่วยงานหลักในการผลิตบุคลากรต้นแบบด้านการบินให้กับสถานศึกษาอื่นๆ ในประเทศ
นอกจากนี้ ให้เร่งดำเนินการพัฒนาศูนย์ฝึกการบิน หัวหิน เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งในด้านอาคารสถานที่ หลักสูตร อากาศยานที่ใช้ฝึกบิน เครื่องช่วยฝึกบิน และการเตรียมบุคลากรครูการบิน รวมถึงใช้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิกระดับ Training Center of Excellence (TCE) หรือ Platinum Member ของโครงการ ICAO TRAINAIR PLUS ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่อุตสาหกรรมการบินของประเทศ
ขณะเดียวกัน ได้เน้นย้ำเรื่องความสำคัญของการฝึกอบรมหลักสูตรด้านความปลอดภัย (Safety Management) ซึ่งเป็นหัวใจของการบิน และหลักสูตรด้านการบินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) ตลอดจนทักษะที่สำคัญต่อการปฏิบัติงาน และการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการให้บริการด้านการบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (Drone)
นางมนพร กล่าวอีกว่า ได้ให้ สบพ. พิจารณาใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเพิ่มพูนรายได้ และควบคุมค่าใช้จ่าย เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต รวมทั้งให้เร่งศึกษาความเป็นไปได้โครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภาให้เสร็จโดยเร็ว โดยยึดหลักคุ้มค่ากับเงินลงทุน เหมาะสมกับเวลา โปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ และองค์กรได้รับประโยชน์สูงสุด
ด้านนางสาวภัคณัฎฐ์ มากช่วย ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้จัดสรรงบประมาณเพื่อให้ สบพ.ปรับปรุงศูนย์ฝึกการบิน หัวหิน เพราะต้องการเร่งผลิตบุคลาการด้านการบินรองรับต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน โดยศูนย์ฝึกแห่งนี้จะตอบโจทย์การผลิตนักบินมากขึ้น คาดว่าในระยะที่ 1 จะก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2570 ส่วนระยะที่ 2-3 จะแล้วเสร็จเปิดบริการได้ในปี 2572 ซึ่งจะเร่งช่วยเพิ่มการผลิตนักบินได้เพิ่มขึ้นจาก 100 คนต่อปี เป็น 150 คนต่อปี