ไฮสปีด 3 สนามบินเริ่มสร้างปีนี้ ‘CP’ ยื่นขอสิทธิประโยชน์ ‘EEC’ แทน ‘BOI’
"ไฮสปีด 3 สนามบิน" EEC เผยเอกชนไม่ยื่นขอ BOI แล้ว หลังสิ้นสุดเดดไลน์ 22 พ.ค.เตรียมเจรจาสิทธิประโยชน์ตรงกับ “อีอีซี” “จุฬา” เผยหารือเอกชนออก NTP เร่งขั้นตอนการก่อสร้าง คาดตอกเสาเข็มได้ปีนี้หลังโครงการล่าช้ากว่า 4 ปี
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ว่าขณะนี้การหารือระหว่างภาครัฐและเอกชนได้แก่บริษัทเอเชียเอราวัณ บริษัทลูกในเครือซีพี ผู้รับสัมปทานในโครงการนี้มีความคืบหน้าไปมากและใกล้ที่จะได้ข้อสรุปร่วมกัน โดยในการขอรับสิทธิประโยชน์ในการก่อสร้างโครงการนี้ซึ่งเดิมมีกำหนดว่าบริษัทต้องไปขอยื่นขอส่งเสริมการลงทุนกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
ซึ่งตามกำหนดนั้นระบุว่าเอกชนผู้รับสัมปทานจะต้องไปยื่นขอบีโอไอภายในวันที่ 22 พ.ค.นี้ โดยภาคเอกชนจะไม่ได้ขอสิทธิประโยชน์จากบีโอไอแล้ว แต่จะมายื่นขอสิทธิประโยชน์จากอีอีซีซึ่งตรงนี้ก็ต้องมีการหารือกันในภาพใหญ่รวมกับการแก้ไขสัญญาซึ่งในส่วนนี้รวมทั้งการหารือเกี่ยวกับการออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ซึ่งจะมีการหารือกันในเรื่องนี้ด้วยเพื่อให้มีการเริ่มการก่อสร้างได้ ซึ่งเป็นกรอบในการเจรจาที่มีอยู่
“กรอบที่จะดำเนินการนั้นมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าต้องคุยกับให้จบ ในการเจรจาต่างๆ ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้ทางอีอีซีก็ต้องคุยกับทางเอเชียเอราวัณ ก็คือเราต้องดูทั้งโปรเจ็กต์นี้ ซึ่งเหลือในรายละเอียดที่ต้องคุยในปีนี้ก็น่าจะเริ่มก่อสร้างโครงการได้ภายในปีนี้”
ทั้งนี้ยอมรับว่าโครงการนี้ล่าช้ากว่าแผนไปประมาณ 4 ปี โดยการมที่มาหารือกับอีอีซีเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ในการทำโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินก็ถือว่าไม่ได้ทำให้โครงการต้องล่าช้าออกไปอีก
แต่เพียงแค่ต้องมาหารือกันเรื่องของสิทธิประโยชน์ให้ชัดเจนว่าเอกชนต้องการอะไรแล้วอีอีซีเราสนับสนุนอะไรได้บ้าง เพราะอีอีซีเราสามารถเจรจาเรื่องของผลประโยชน์ได้ ซึ่งใช้ในรูปแบบของการต่อรองเพราะต้องมาดูภาพรวมของโครงการด้วย เพราะมีทั้งเรื่องของการก่อสร้างรถไฟ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งก็ต้องมาดูร่วมกันในภาพใหญ่
ส่วนประเด็นเรื่องของการลงทุนโครงการจากสถานีรถไฟหลักสี่ไปถึงบางซื่อถึงทับซ้อนกับทางรถไฟไทย-จีน เรื่องนี้ก็อยู่ในประเด็นที่คุยกันด้วย ซึ่งก็ยึดตามการหารือเดิมที่บอกว่าใช้ความเร็วระดับ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งโครงสร้างในส่วนนี้อาจจะไม่ต้องรองรับความเร็วของรถไฟความเร็วสูงในระดับ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้ว ทำให้สามารถเริ่มก่อสร้างได้เร็วขึ้น