พาณิชย์เชิญผู้แทนสถานทูตและหน่วยงานระหว่างประเทศแจงกม.คนต่างด้าว
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เชิญ ผู้แทนสถานทูตและหน่วยงานระหว่างประเทศ 19 ประเทศ ชี้แจงกฎหมาย แนวทางการอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย ทำความเข้าใจใช้นอมินีลงทุนในไทย พร้อมแนะนำ e-Foreign Business บริการออนไลน์ใหม่สำหรับนักลงทุนต่างชาติ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้จัดประชุมเรื่อง “Thailand’s Foreign Business Act, Update on Revision and Introduction of e-Foreign Business Service” โดยเชิญผู้แทนจากสถานทูตต่างๆ หน่วยงานระหว่างประเทศ และหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 19 หน่วยงาน 36 คน อาทิ สถานทูตออสเตรเลีย สถานทูตอังกฤษ EU สถานทูตจีน สถานทูตญี่ปุ่น Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand (JFCCT),Japan External Trade Organization (JETRO Bangkok),Korea Trade-Investment Promotion Agency (KORTA Bangkok), European Association for Business and Commerce (EABC) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น
เพื่อรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับสาระสำคัญของพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 กระบวนการในการขอรับใบอนุญาต/หนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ตลอดจนการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของนักลงทุนต่างชาติ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของกฎหมาย และสร้างความเข้าใจในกฎหมาย รวมถึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยภายใต้การกำกับของกฎหมายฉบับดังกล่าว
“ปัจจุบันมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจ โดยอาจจะปฏิบัติตนไม่ถูกต้องหรือยังไม่เข้าใจในเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ตามกฎหมายของประเทศไทย หรือมีการลงทุนประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย ใช้คนไทยถือหุ้นแทน (นอมินี) ดังนั้น ในการเชิญหน่วยงานฯ เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ได้พยายามสร้างความเข้าใจ ความตระหนักรู้ และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้กับนักลงทุนต่างชาติเพื่อประกอบธุรกิจได้อย่างถูกต้องด้วย เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติให้เข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายอย่างครอบคลุม กว้างขวางมากขึ้น”นางอรมน กล่าว
นางอรมน กล่าวว่า ภาพรวมภารกิจของกรมฯ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ การส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการซึ่งรวมถึงผู้ประกอบธุรกิจ SMEs และการกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล โดยปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามกฎระเบียบหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยในส่วนของพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจของนักลงทุนต่างชาติ ตั้งแต่กระบวนการจัดตั้งบริษัท กำหนดประเภทธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับของกฎหมาย กระบวนการในการขอใบอนุญาต หนังสือรับรองการประกอบธุรกิจ ตลอดจนการกำกับดูแลให้นักลงทุนต่างชาติปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย
การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) การออกใบอนุญาต/หนังสือรับรองแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Foreign Business License/e-Foreign Certificate) ทั้งนี้ ผู้รับบริการสามารถดาวน์โหลดใบอนุญาต หนังสือรับรองผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทันที ระบบ e-Foreign Business จะช่วยลดปริมาณเอกสาร ลดระยะเวลา และเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ผู้รับบริการได้เป็นอย่างดี เป็นการเสริมสร้างบรรยากาศที่ดีในการลงทุนอีกทางหนึ่ง
กรมฯ ให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนต่างชาติ โดยเตรียมเปิดให้บริการออนไลน์ระบบใหม่ ‘e-Foreign Business’ คือ ระบบการยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจของนักลงทุนต่างชาติภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งพร้อมให้บริการได้เต็มรูปแบบในเดือนก.ค. 2567 นี้ โดยจะเป็นการให้บริการด้านอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร ได้แก่ การยื่นคำขอรับใบอนุญาต/หนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวผ่านช่องทางออนไลน์ การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt)
นอกจากการเปิดให้บริการออนไลน์ระบบใหม่แล้ว กรมฯ ยังมีการทบทวน ปรับปรุงประเภทธุรกิจตามบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัติฯ เป็นประจำทุกปี เมื่อธุรกิจใดที่ถอดออกจากบัญชีท้ายพระราชบัญญัติฯ แล้ว นักลงทุนต่างชาติก็ไม่ต้องยื่นขออนุญาตในธุรกิจนั้น ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนต่างชาติ
ทั้งนี้ ได้แจ้งข้อมูลความคืบหน้าการทบทวนประเภทธุรกิจตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติฯ จำนวน 10 ธุรกิจ ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการสรุปร่างกฎกระทรวงกำหนดธุรกิจที่ไม่ต้องขออนุญาต และร่างพระราชกฤษฎีกาแก้ไขถ้อยคำของธุรกิจฯ ที่ผ่านการรับฟังความเห็นไปแล้วเพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป