เปิดปฏิทิน 'งบฯกลางปี 67' รัฐบาลเศรษฐา เร่งทำงบฯเพิ่มแสนล้านใน 3 เดือน
เปิดปฏิทินจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เพิ่มเติม หลัง ครม.ไฟเขียวทำงบฯกลางปี 67 เพื่อรองรับการแจกเงินดิจิทัลปลายปี รวมระยะเวลาทำงบฯเพิ่มเติมแสนล้านในระยะเวลา 3 เดือนเศษ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมาเห็นชอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567(งบฯกลางปี67)และปฏิทินการจัดทำงบฯกลางปี2567 เพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเดินหน้ามาตรการดิจิทัลวอลเล็ต
โดยขั้นตอนต่อไปจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยเร็วที่สุด เพื่อปรับกรอบการคลังระยะปานกลางใหม่ และนำเสนอให้ที่ประชุม ครม.รับทราบในวันที่ 28 พ.ค.นี้
ทั้งนี้การจัดทำงบฯกลางปีขึ้นทำให้ต้องมีการจัดทำงบฯกลางปี 2567 ทำให้รัฐบาลต้องทำปฏิทินงบประมาณขึ้นมารองรับการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณในส่วนนี้ ซึ่งมีวงเงินงบประมาณ1.22 แสนล้านบาทตาม ที่พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลังได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าว โดยการจัดทำพ.ร.บ.งบประมาณในส่วนนี้จะใช้เวลาในการทำงานประมาณ 3 เดือน
โดยปฏิทินงบประมาณและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. การทบทวนและวางแผนงบประมาณ
- 21 พฤษภาคม 2567 ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบปฏิทินงบประมาณและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567
- 23-27 พฤษภาคม 2567 คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ (กนร.) ปรับปรุงแผนการคลังระยะปานกลาง และนำเสนอ ครม.
- 28 พ.ค. 2567 ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับปรุงแผนการคลังระยะปานกลาง
- 29 – 31 พ.ค.2567 กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงบประมาณ ร่วมกันทบทวนการประมาณการรายได้ กำหนดนโยบาย กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย และโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 และนำเสนอ ครม.
- 4 มิ.ย. 2567 ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบนโยบาย วงเงินงบประมาณรายจ่าย และโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567
2. การจัดทำงบประมาณ
- 5-6 มิ.ย.2567 หน่วยรับงบประมาณจัดทำรายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 ที่แสดงวัตถุประสงค์ แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติราชการของหน่วยงรับงบประมาณเป้าหมายและยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน โครงสร้างงบประมาณ โดยให้ความสำคัญกับ 142 ประเด็นความต้องการของประชาชน รวมทั้งนำรายงานที่เกี่ยวข้องกับเงินนอกงบประมาณ เพื่อใช้การทำรายละเอียดคำของบประมาณ เสนอนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี เจ้าสังกัดพิจารณาให้ความเห็นชอบและส่งสำนำงบประมาณภายในวันที่ 6 มิ.ย.67
- 7-11 มิ.ย. 2567 สำนักงบประมาณ พิจารณารายละเอียดงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 และนำเสนอ ครม.
- 18 มิ.ย. 2567 ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 และมอบให้สำนักงบประมาณไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567
- 19-25 มิ.ย. 2567 สำนักงบประมาณ ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567
- 2 ก.ค. 2567 ครม. รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 และพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 และให้สำนักงบประมาณ จัดพิมพ์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 และเอกสารประกอบงบประมาณ
- 3- 5 ก.ค.2567สำนักงบประมาณ ดำเนินการจัดพิมพ์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 และเอกสารประกอบงบประมาณ
- 9 ก.ค.2567 คณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ และเอกสารประกอบ งบประมาณ และนำเสนอสภาผู้แทนราษฎร
3. การพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 โดยสภาฯ
- 17-18 กรกฎาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วาระที่ 1
- 31 ก.ค. – 1 ส.ค.67สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วาระที่ 2 – 3
- 6 ส.ค.67 วุฒิสภา พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วาระที่ 2-3
- และ 13 ส.ค.2567 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป