รถไฟทางคู่ ขอนแก่น-หนองคาย อีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญของ EEC

รถไฟทางคู่ ขอนแก่น-หนองคาย   อีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญของ EEC

ในช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทยได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าของรถไฟทางคู่อีก 1 เส้นทาง คือ โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ซึ่งมีระยะทางราว 167 กิโลเมตรและคาดว่าจะใช้เม็ดเงินในการลงทุนราว 2.97 หมื่นล้านบาท

โดยโครงการดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2566 และจะมีการเปิดประมูลโครงการราวช่วงเดือนพ.ค. 2567

โครงการดังกล่าวนอกจากจะทำให้การขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างภาคตะวันออกฉียงเหนือและภาคกลางของไทยมีความสะดวกมากขึ้นแล้ว ยังถือเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญของการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ในการเพิ่มโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการขนส่งสินค้าที่มีฐานการผลิตในพื้นที่ EEC และพื้นที่ที่เส้นทางรถไฟทางคู่พาดผ่าน ไปยังลาวและจีน เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวจะเชื่อมระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง ในพื้นที่ EEC ผ่านฉะเชิงเทรา นครนายก สระบุรี ไปยังจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย ก่อนเชื่อมต่อไปยัง เวียงจันทน์ ในลาว และคุนหมิง ในจีน ซึ่งเป็นปลายทางของรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน

 Krungthai COMPASS มองว่า สินค้าศักยภาพที่มีแนวโน้มที่จะส่งออกไปยังลาวอย่างต่อเนื่องผ่านระบบราง ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล เนื้อสัตว์มีชีวิต ซึ่งล้วนมีฐานการผลิตในและใกล้พื้นที่ EEC 

ส่วนสินค้าส่งออกไปยังจีน ประเมินว่า ผักและผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง แป้งมันสำปะหลัง เครื่องสำอางและน้ำหอม (โดยเฉพาะ makeup, ครีมบำรุง, ครีมกันแดด) ยาและเวชภัณฑ์ (โดยเฉพาะยารักษาโรคทั่วไป ผ้าพันแผล ผ้าก๊อซ พลาสเตอร์ปิดแผล) ทองแดงและผลิตภัณฑ์ ยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ของไทยที่มีแนวโน้มขยายการส่งออกไปได้ รวมถึงสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยสามารถนำเข้ามาจากจีนได้ เช่น ผักและผลไม้เมืองหนาว อีกทั้งเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นปลายทางของรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน มีตลาดดอกไม้โต่วหนาน ซึ่งเป็นตลาดดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

อย่างไรก็ดี โครงการรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย คาดว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาราว 3-5 ปีหลังจากการเริ่มก่อสร้าง ผู้ประกอบการจึงควรมีเตรียมพร้อมล่วงหน้า เช่น ศึกษาเส้นทางและกฎระเบียบในการขนส่งสินค้า วางแผนการขนส่งและกระจายสินค้า รวมถึงภาครัฐที่ต้องเตรียมพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน จุดรับส่งสินค้า เพื่อให้การขนส่งทางรางเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การขนส่งสินค้าทางรางยังมีการปลดปล่อยมลพิษที่น้อยกว่าการขนส่งทางรถบรรทุก การหันมาใช้ระบบการขนส่งทางรางจึงเป็นการช่วยลดมลพิษและส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนอีกด้วย