สิทธิประโยชน์ พ.ร.บ.อีอีซี ทางออกใหม่ 'ซีพี' ลุยไฮสปีดเทรน
การรถไฟฯ ถก “ซีพี” แก้สัญญาไฮสปีดสามสนามบิน ถอนเงื่อนไขยื่นสิทธิรับบัตรส่งเสริม BOI หวังเดินหน้าลงนามสัญญาและออกหนังสือเริ่มงานก่อสร้าง
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ปัจจุบันล่าช้ากว่าแผนปประมาณ 4 ปี โดยมีการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้โครงการนี้จะครอบกำหนดการขอส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ครั้งสุดท้ายในวันนี้ (22 พ.ค.) โดยไม่สามารถขยายเวลาได้ โดยล่าสุดบริษัทเอเชียเอราวัณผู้รับสัมปทานจะมีการเจรจาขอสิทธิประโยชน์กับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แทนบีโอไอ
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการนี้ว่าขณะนี้การหารือระหว่างภาครัฐและเอกชนได้แก่บริษัทเอเชียเอราวัณ บริษัทลูกในเครือซีพี ผู้รับสัมปทานในโครงการนี้มีความคืบหน้าไปมากและใกล้ที่จะได้ข้อสรุปร่วมกัน โดยในการขอรับสิทธิประโยชน์ในการก่อสร้างโครงการนี้ซึ่งเดิมมีกำหนดว่าบริษัทต้องไปขอยื่นขอส่งเสริมการลงทุนกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งตามกำหนดนั้นระบุว่าเอกชนผู้รับสัมปทานจะต้องไปยื่นขอบีโอไอภายในวันที่ 22 พ.ค.นี้
อย่างไรก็ตามภาคเอกชนจะไม่ได้ขอสิทธิประโยชน์จากบีโอไอแล้ว แต่จะมายื่นขอสิทธิประโยชน์จากอีอีซีซึ่งตรงนี้ก็ต้องมีการหารือกันในภาพใหญ่รวมกับการแก้ไขสัญญาซึ่งในส่วนนี้รวมทั้งการหารือเกี่ยวกับการออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ซึ่งจะมีการหารือกันในเรื่องนี้ด้วยเพื่อให้มีการเริ่มการก่อสร้างได้ ซึ่งเป็นกรอบในการเจรจาที่มีอยู่
“กรอบที่จะดำเนินการนั้นมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าต้องคุยกับให้จบ ในการเจรจาต่างๆ ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้ทางอีอีซีก็ต้องคุยกับทางเอเชียเอราวัณ ก็คือเราต้องดูทั้งโปรเจ็กต์นี้ ซึ่งเหลือในรายละเอียดที่ต้องคุยในปีนี้ก็น่าจะเริ่มก่อสร้างโครงการได้ภายในปีนี้ โดยต้องมาหารือกันเรื่องของสิทธิประโยชน์ให้ชัดเจนว่าเอกชนต้องการอะไรแล้วอีอีซีเราสนับสนุนอะไรได้บ้าง อีอีซีเราสามารถเจรจาเรื่องของผลประโยชน์ได้ ซึ่งใช้ในรูปแบบของการต่อรองเพราะต้องมาดูภาพรวมของโครงการด้วย เพราะมีทั้งเรื่องของการก่อสร้างรถไฟ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งก็ต้องมาดูร่วมกันในภาพใหญ่"
ส่วนประเด็นเรื่องของการลงทุนโครงการจากสถานีรถไฟหลักสี่ไปถึงบางซื่อถึงทับซ้อนกับทางรถไฟไทย-จีน เรื่องนี้ก็อยู่ในประเด็นที่คุยกันด้วย ซึ่งก็ยึดตามการหารือเดิมที่บอกว่าใช้ความเร็วระดับ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งโครงสร้างในส่วนนี้อาจจะไม่ต้องรองรับความเร็วของรถไฟความเร็วสูงในระดับ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้ว ทำให้สามารถเริ่มก่อสร้างได้เร็วขึ้น
เร่งแก้สัญญาขอออก NTP
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างเจรจาร่วมกับกลุ่มซีพี เพื่อหาแนวทางเดินหน้าโครงเนื่องจากเงื่อนไขในสัญญา การออกหนังสือเข้าพื้นที่เริ่มงานก่อสร้าง (NTP) เอกชนจำเป็นต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แต่เนื่องด้วยในวันที่ 22 พ.ค.นี้ จะครบกำหนดยื่นรับบัตรส่งเสริมบีโอไอ และถูกตัดสิทธิ ซึ่งพบว่ากลุ่มซีพียังไม่มีการดำเนินการขอออกบัตรส่งเสริมดังกล่าว ส่งผลให้มีการเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกันและเดินหน้าโครงการไฮสปีดสามสนามบินได้ตามเป้าหมาย เบื้องต้นกลุ่มซีพีจึงมีข้อเสนอในการขอพิจารณาแก้ไขรายละเอียดในสัญญา โดยเสนอตัดเงื่อนไขการรับบัตรส่งเสริมบีโอไอ พร้อมเดินหน้าออกหนังสือ NTP เพื่อให้สามารถเริ่มงานก่อสร้างโครงการได้
“ตอนนี้กำลังพิจารณาเรื่องการขอปรับสัญญา ปรับเงื่อนไขเรื่องบีโอไอออกไป เพราะทางกลุ่มซีพีก็กำลังจะหมดสิทธิในการยื่นรับบัตรส่งเสริมบีโอไอแล้ว แต่ด้วยความพร้อมในการก่อสร้างโครงการ อยากให้การรถไฟฯ ตัดเงื่อนไขนี้ออกไปและออกหนังสือ NTP หากการเจรจาแก้สัญญาจบ ก็จะลงนามสัญญาใหม่ และเริ่มดำเนินโครงการได้”
ซีพีได้สิทธิ์บริหารแอร์พอร์ตลิงก์
อย่างไรก็ดี หากมีการลงนามสัญญาใหม่ ทางกลุ่มซีพีจะมีสิทธิ์ในการบริหารแอร์พอร์ตลิงก์ เริ่มจ่ายผลตอบแทนตามสัญญา และก่อสร้างโครงการทับซ้อนรถไฟไทยจีน ช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง ที่ใช้วงเงินลงทุนราว 9 พันล้านบาท โดยทางกลุ่มซีพีจะรับผิดชอบการลงทุนส่วนนี้ทั้งหมด ซึ่งนับเป็นทางออกที่ดีกว่า ร.ฟ.ท.จะเป็นผู้ดำเนินการลงทุนเอง เพราะกลุ่มซีพีจะสามารถก่อสร้างได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนประมูล
รายงานข่าว เผยด้วยว่า การตัดเงื่อนไขออก NTP โดยไม่ต้องรอบัตรส่งเสริมบีโอไอออกนั้น จะเป็นอีกหนึ่งทางออกที่ทำให้โครงการสามารถเดินหน้าไปได้ การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฉบับใหม่ก็จะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จ และเป็นผลบวกต่อโครงการรถไฟไทยจีน ที่จะก่อสร้างระยะ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมาให้แล้วเสร็จตามแผน เปิดบริการในปี 2571 เพราะปัจจุบันพื้นที่ทับซ้อนของทั้ง 2 โครงการอยู่ในสัญญา 4 – 1 บางซื่อ – ดอนเมือง และเป็นส่วนสุดท้ายของรถไฟไทยจีนที่ยังไม่ได้ดำเนินการ
เอกชนสามารถรับสิทธิส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ ได้ โดยเบื้องต้นกลุ่มซีพีมีการเจรจากับอีอีซี ถึงความเป็นไปได้ในการขอรับสิทธิส่งเสริมการลงทุนจากอีอีซี และพบว่าแนวทางนี้จะทำให้กลุ่มซีพีได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนที่คล่องตัวมากกว่า