ดัน พ.ร.บ.รายจ่ายเพิ่มเติมแสนล้าน-เมินรายได้ปี 67 พลาดเป้า

ดัน พ.ร.บ.รายจ่ายเพิ่มเติมแสนล้าน-เมินรายได้ปี 67 พลาดเป้า

ครม.อนุมัติหลักการออก พ.ร.บ.รายจ่ายเพิ่มเติมปี 67 ดันดิจิทัลวอลเล็ต ชงกรอบวงเงินให้ ครม.พิจารณา 28 พ.ค.นี้ “พิชัย” ชี้เศรษฐกิจไทยโตต่ำเป็นเหตุจำเป็นต้องกระตุ้น ระบุออกงบเพิ่มเติมมีข้อจำกัดน้อยกว่าโอนงบ “เผ่าภูมิ” รับกู้ขาดดุลเพิ่มแต่มั่นใจเศรษฐกิจโต

แหล่งเงินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตวงเงิน 500,000 ล้านบาท เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถแจกเงินได้ตามกำหนดเดิมในเดือน ก.พ.2567 โดยหลังการจัดตั้งรัฐบาลมีแนวทางจัดการแหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและรายได้จากภาษีที่จัดเก็บได้เพิ่ม

ต่อมารัฐบาลมีแผนที่จะออก พ.ร.บ.กู้เงิน แต่ได้รับการทักท้วงจากหลายหน่วยงาน ซึ่งทำให้รัฐบาลปรับแผนมาใช้วิธีการโอนงบประมาณรายจ่ายปี 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาท โดยการประเมินล่าสุดไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนด ทำให้ล่าสุดรัฐบาลเลือกใช้แนวทางออก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567

ทั้งนี้หลายรัฐบาลที่ผ่านมาได้ออก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือ งบประมาณกลางปี โดยเมื่อปี 2559 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตั้งงบประมาณกลางปี วงเงิน 56,000 ล้านบาท หลังจากรัฐบาลมีรายได้เพิ่มเติมจากการประมูล 4จี

สำหรับการจัดทำงบกประมาณกลางปี 2567 รัฐบาลยอมรับถึงการจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยในช่วง 6 เดือน แรกของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.2566-มี.ค.2567) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1.16 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 27,819 ล้านบาท หรือ 2.3%

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 พ.ค.2567 เห็นชอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 และปฏิทินการจัดทำงบประมาณรายจ่ายงบฯกลางปี 2567 เป็นงบประมาณเพิ่มเติมจากกรอบงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่รัฐบาลตั้งไว้แต่เดิม 3.48 ล้านล้านบาท

นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เพิ่มเติม หรือ งบประมาณกลางปี 2567 จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต โดยหลังจากนี้จะประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่นายกรัฐมนตรี เป็นประธานโดยเร็ว เพื่อปรับกรอบการคลังระยะปานกลางใหม่ และเสนอ ครม.รับทราบวันที่ 28 พ.ค.2567

ทั้งนี้ มติ ครม.วันที่ 23 เม.ย.2567 มอบหมายให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ ดูความเหมาะสมของแหล่งเงินสำหรับโครงการเงินดิจิทัล 500,000 ล้านบาท 

สำหรับวงเงินจากงบประมาณ 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาท ทั้ง 2 หน่วยงานหารือกันและรัฐบาลมีทางเลือกใช้งบกลางหรืออาจโอนงบประมาณ ซึ่งทำให้เรื่องอื่นล่าช้าออกไปไม่สามารถที่จะดำเนินการได้และไม่ได้เป็นทางเลือกที่ดี

“แม้ว่าจะเร่งอนุมัติงบประมาณในปี 2567 ที่ออกไปตั้งแต่เดือน เม.ย.ซึ่งเป็นเรื่องดีกับระบบเศรษฐกิจที่เร่งรัดการเบิกจ่ายได้ตามเป้า ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการออก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 เพื่อไม่ให้กระทบการจัดทำงบประมาณส่วนอื่น” 

ทั้งนี้ รัฐบาลต้องพิจารณากฎหมาย 3 ส่วน คือ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย , พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และกรอบหนี้สาธารณะไม่เกิน 70% โดยรายละเอียดทั้งหมดจะเข้าสู่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง และจะเสนอให้ ครม. 

“เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2567 ขยายตัวได้ 1.5% เติบโตต่ำสุดในอาเซียนจึงเป็นเหตุจำเป็นให้กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และระยะต่อไปจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการดึงการลงทุนเข้ามา เพราะการที่เศรษฐกิจทั้งปีขยายตัวได้ 2.5% ยังไม่น่าพอใจ” นายพิชัย กล่าว 

“คลัง”ยอมกู้เพิ่มขาดดุลงบประมาณ

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แหล่งเงินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในปี 2567 กำหนดไว้ 175,000 ล้านบาท ซึ่งมีแนวทางจัดวงเงินจากงบกลางบางส่วน และตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 

“ยังไม่ทราบว่าวงเงินทั้ง 2 ส่วนจะใช้เท่าไหร่ ต้องรอการหารือกันในคณะกรรมการการเงินการคลังของรัฐ ส่วนการออกงบประมาณเพิ่มเติมยอมรับว่าต้องมีการกู้ขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติม”

ทั้งนี้ การดำเนินการจะอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังเพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้จีดีพีขยายตัวขึ้น ดังนั้นมองแง่การขาดดุลงบประมาณเพิ่มอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดูการใส่เม็ดเงินลงไปให้เศรษฐกิจขยายตัวจากมาตรการนี้ 

สำหรับประเด็นการกู้ขาดดุลงบประมาณเพิ่มจะทำให้เกิดความตึงตัวในตลาดพันธบัตรหรือไม่ เพราะภาครัฐต้องการระดมเงินผ่านการออกพันธบัตรมากขึ้น นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า รัฐบาลได้หารือสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) และยืนยันไม่มีปัญหานี้ เพราะโครงการดิจิทัลวอลเล็ตออกแบบให้ประชาชนทยอยใช้เงินและหมุนเงินจากประชาชน และในรอบ 2 จะเป็นร้านค้าที่ภาครัฐบริหารสภาพคล่องส่วนนี้ได้ 

คลังรอประเมินจัดเก็บรายได้ 

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า งบประมาณสำหรับโครงการดังกล่าวในปี 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาท ทำได้โดยการออก พ.ร.บ.เงินโอนเปลี่ยนงบประมาณ การใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง ซึ่งเป็นเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และการทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 

ทั้งนี้ หลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 มีผลบังคับใช้เดือน เม.ย.2567 กรมบัญชีกลางรายงานว่าการเบิกจ่ายและการผูกพันงบประมาณเป็นไปได้ด้วยดี ดังนั้นการโอนเปลี่ยนงบประมาณอาจกระทบการลงทุนภาคเอกชนที่ผูกพันกับงบประมาณรัฐ 

"แนวทางที่เหมาะสมสุด คือ การทำงบประมาณเพิ่มเติม โดยมีที่มา 2 แหล่ง คือ รายได้ใหม่ ซึ่งรัฐบาลมีรายได้ที่ไม่ได้บรรจุในงบประมาณ และการกู้ชดเชยขาดดุล ซึ่งเป็นไปตามกรอบ พ.ร.บวินัยการเงินการคลัง และ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ”

ย้ำไม่กระทบไทม์ไลน์แจกเงินดิจิทัล

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า การออก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมไม่กระทบไทม์ไลน์โครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยเปิดให้ลงทะเบียนไตรมาร 3 และเริ่มใช้จ่ายในไตรมาส 4 ปี 2567

สำหรับแหล่งเงินจากการใช้เงินจากมาตรา 28 ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 172,300 ล้านบาท จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการ

รวมทั้งจะหารือในคณะกรรมการ ธ.ก.ส.ในสิ้นเดือน พ.ค.2567 เพื่อสั่งการให้ฝ่ายจัดการวางแผนเพื่อเตรียมการรองรับและเตรียมกลไกการดำเนินงานให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย รวมทั้ง ธ.ก.ส.เป็นสถาบันการเงินที่จะเข้ามาเชื่อมต่อกับระบบจ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต รวมทั้งการปรับปรุงแอปพลิเคชันให้รองรับการเชื่อมต่อด้วย

เร่งทำงบประมาณเพิ่มเติม 3 เดือน 

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มเติมปี 2567 รัฐบาลจัดทำให้เสร็จภายใน 3 เดือน โดยภายหลังจากที่ ครม.เห็นชอบจะเสนอสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 17 ก.ค.2567 เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วาระที่ 1

หลังจากนั้นวันที่ 31 ก.ค.-1 ส.ค.2567 สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.วาระที่ 2-3 จากนั้นวันที่ 6 ส.ค.2567 วุฒิสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วาระที่ 2-3 และวันที่ 13 ส.ค.2567 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำร่าง พ.ร.บ.ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย

ดัน พ.ร.บ.รายจ่ายเพิ่มเติมแสนล้าน-เมินรายได้ปี 67 พลาดเป้า

ไฟเขียว 95 ล้านพัฒนาแฟลตฟอร์มชำระเงิน 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า ครม. มีมติเห็นชอบโครงการแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) งบประมาณ 95 ล้านบาท โดยมอบหมายให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร.ดำเนินโครงการนี้ รวมทั้งมีมติให้หน่วยงานรัฐและสถาบันการเงินร่วมมือกับ สพร. ในการสนับสนุนข้อมูล และร่วมกำหนดแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระยะต่อไป

ทั้งนี้ สพร.จัดทำโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มการชำระเงิน เพื่อเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินกลางของประเทศที่เชื่อมผู้ให้บริการทางการเงินที่หลากหลาย โดยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ ลดต้นทุนระบบเศรษฐกิจ ยกระดับศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลอันก่อให้เกิดประโยชน์ทุกภาคส่วน

รวมทั้งยังสอดคล้องนโยบายรัฐบาลที่จะยกระดับการพัฒนาพื้นฐานทางสังคมด้วยกระบวนการทำงานภาครัฐที่มีความโปร่งใสและเพิ่มประสิทธิภาพระบบงานภาครัฐ เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็ว โดยมีระยะเวลาดำเนินระยะแรก 160 วัน (ไม่รวมระยะเวลาการจัดซื้อจัดจ้าง) ช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2567 จัดซื้อจัดจ้างและประชุมเชิงปฏิบัติการ เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2567 ดำเนินการพัฒนาและทดสอบระบบ และเดือนตุลาคม 2567 – มีนาคม 2568 ให้บริการระบบและสนับสนุนการใช้งานในระยะต่อไป