เปิดระดับความรุนแรง ‘หลุมอากาศ’ ภัยร้าย 'แอร์ไลน์'
การเดินทางโดยเครื่องบิน แม้จะเป็นการเดินทางที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุต่ำสุดเมื่อเทียบกับการเดินทางประเภทอื่น แต่หากเกิดอุบัติเหตุในแต่ละครั้ง มูลค่าความเสียหายหรือความสูญเสียมักจะรุนแรงกว่าการเดินทางประเภทอื่นเช่นกัน
หนึ่งในอุบัติเหตุที่สายการบินมักจะเจออยู่บ่อยครั้ง คือ การตกหลุมอากาศ หรือ Air Turbulence ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลง ของการไหลของอากาศอย่างรุนแรงฉับพลัน เนื่องจากอากาศส่วนบนและส่วนล่างมีความเร็วในการเคลื่อนที่แตกต่างกัน หรือมีความหนาแน่นต่างกันบริเวณรอยต่อ จึงเกิดการปั่นป่วนและเคลื่อนที่คล้ายกับระลอกคลื่น เมื่อเครื่องบินผ่านเข้าสู่บริเวณดังกล่าวจึงเกิดการสั่นสะเทือน
ข้อมูลจากท่าอากาศยานขอนแก่น ในสังกัดกรมท่าอากาศยาน ระบุว่า Air Turbulence เกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น กระแสอากาศปั่นป่วนจากแรงเฉือนของลม พายุฝนฟ้าคะนอง กระแสลมพัดปะทะภูเขา หรือเกิดจากเครื่องบินลำอื่น
ส่วนความรุนแรงของ Air Turbulence แบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ
1.รุนแรงเล็กน้อย โดยความสูงลดหรือเพิ่มในระยะไม่เกิน 3 ฟุต ผู้โดยสารจะต้องรัดเข็มขัด ส่วนสิ่งของต่างๆในเครื่องบินยังคงอยู่นิ่งกับที่
2.รุนแรงปานกลาง ความสูงลดหรือเพิ่มในระยะไม่เกิน 20 ฟุต ผู้โดยสารอาจถูกโยนตัวขึ้นเป็นครั้งคราวแม้นั่งรัดเข็มขัดอยู่ สิ่งของต่างๆในเครื่องบินสามารถเคลื่อนที่ได้
3.ระดับรุนแรงมาก ความสูงลดหรือเพิ่มในระยะไม่เกิน 100 ฟุต ซึ่งเป็นระดับที่นักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องบินได้ชั่วขณะ ผู้โดยสารจะถูกโยนตัวขึ้นลงอย่างรุนแรงขณะรัดเข็มขัด สิ่งของต่างๆจะลอยขึ้นในอากาศ
4.ระดับรุนแรงมากที่สุด โดยความสูงลดหรือเพิ่มในระยะเกินกว่า 100 ฟุต เครื่องบินจะถูกโยนขึ้นลงอย่างรุนแรงมากจนนักบินไม่สามารถควบคุมได้ และโครงสร้างลำตัวเครื่องอาจได้รับความเสียหาย หรือเป็นอันตรายต่อชีวิตหากผู้โดยสารไม่รัดเข็มขัด
สิงคโปร์แอร์ไลน์รับเหตุฉุกเฉินแบบ 'มืออาชีพ'
ล่าสุดสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ เที่ยวบิน SQ 321 เส้นทางบินจากท่าอากาศยานฮีทโธรว์ ประเทศอังกฤษ ปลายทางท่าอากาศยานชางงี ประเทศสิงคโปร์ บรรทุกผู้โดยสาร 211 คน และลูกเรือ 18 คน ประสบเหตุตกหลุมอากาศและต้องลงจอดฉุกเฉินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และความรุนแรงของการตกหลุมอากาศดังกล่าว
ทั้งนี้ ทำให้มีผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บถึง 71 ราย ในจำนวนนี้อยู่ในระดับวิกฤติ 6 ราย และเสียชีวิต 1 ราย จากจำนวนผู้ที่อยู่บนเครื่องบินทั้งหมด 229 ราย
อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์แอร์ไลน์สามารถรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยส่งทีมเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องบินลำใหม่มารับผู้โดยสารทั้งหมดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสามารถนำผู้โดยสารส่วนที่เหลือเดินทางออกจากสุวรรณภูมิเมื่อเวลา 01.00 น. ของวันพุธ 22 พ.ค. หรือภายในเวลา 8 ชั่วโมงหลังเที่ยวบิน SQ 321 ลงจอดฉุกเฉินที่สุวรรณภูมิ
ขณะเดียวกันผู้บริหารของสิงคโปร์แอร์ไลน์ Goh Choon Phong ซีอีโอของบริษัท ได้สื่อสารผ่านคลิปทาง Facebook โดยแสดงความเสียใจต่อผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้เสียชีวิต พร้อมบอกรายละเอียดชัดเจนว่าบริษัทจะดูแลให้ความช่วยเหลืออย่างไร และขั้นตอนจะเป็นอย่างไร
การตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินทั้งหมดนี้ สิงคโปร์แอร์ไลน์ดำเนินการภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังเที่ยวบิน SQ 321 เกิดเหตุฉุกเฉิน สะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานด้านความปลอดภัยและการให้บริการของสายการบินที่ได้รับการจัดอันดับจาก SKYTRAX ให้เป็นสายการบินที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2566
เหตุการณ์ตกหลุมอากาศครั้งล่าสุดที่มีระดับความเสียหายค่อนข้างรุนแรง ตอกย้ำว่าในการโดยสารเครื่องบินทุกครั้ง ผู้โดยสารจำเป็นต้องรัดเข็มขัดไม่ว่าจะนั่งหรือนอนราบ 180 องศาก็ตาม เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้แม้ในขณะนั้นจะไม่มีพายุฝนฟ้าคะนองก็ตาม