อินฟลูฯไทยโตเร็วเบอร์ 2 อาเซียน ‘สภาพัฒน์’ เปิดโมเดล 4 ประเทศออกกฎหมายคุม

อินฟลูฯไทยโตเร็วเบอร์ 2 อาเซียน  ‘สภาพัฒน์’ เปิดโมเดล 4 ประเทศออกกฎหมายคุม

อินฟลูเอนเซอร์ไทยกว่า 2 ล้านคน โตเร็วอันดับ 2 ของอาเซียน แนวโน้มยังมีจำนวนเพิ่มขึ้น และมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจ สังคม "สภาพัฒน์" แนะให้ลงทะเบียนอาชีพ รัฐช่วยพัฒนาทักษะ สามารถลงโทษได้หากมีการเผยแพร่เนื้อหาที่ไม้ถูกต้อง หรือหลอกลวงผู้อื่น ถอดบทเรียน 4 ประเทศใช้กฎหมายคุม

KEY

POINTS

  • อินฟลูเอนเซอร์ในไทยเติบโตเร็วอันดับ 2 ในอาเซียน มีประมาณ 2 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
  • ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมอินฟลูเอนเซอร์โดยเฉพาะมีแต่กฎหมายที่เกี่ยวข้อง อินฟลูเอนเซอร์บางรายนำเสนอเนื้อหาที่ไม่ถูกต้อง บิดเบือน หรือหลอกลวงผู้บริโภค
  • สภาพัฒน์แนะออกกฎหมายควบคุมอินฟลูเอนเซอร์โดยเฉพาะกำหนดให้ลงทะเบียนและขอใบอนุญาต ควบคุมเนื้อหาที่นำเสนอ ควบคู่ยกทักษะดิจิทัลประชาชน 

 

“อินฟลูเอนเซอร์” เป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมสูง และเติบโตเร็วทั่วโลก โดยข้อมูลจาก Nielsen ระบุว่าปี 2565 ประเทศในอาเซียน (AEC) มีอินฟลูเอนเซอร์รวมกันถึง 13.5 ล้านคน 

การเติบโตที่รวดเร็วเพราะเป็นช่องทางสร้างรายได้ทั้งจากการโฆษณาสินค้าและรีวิวสินค้ากับกลุ่มผู้ติดตาม (Follower) โดยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ภาคธุรกิจทั่วโลก 19,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2566 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 140,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 7.4 เท่า ภายใน 7 ปี

สำหรับประเทศไทยมีอินฟลูเอนเซอร์ 2 ล้านคน เป็นอันดับ 2 ในอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจำเป็นที่ภาครัฐต้องกำหนดนโยบายดูแลที่เหมาะสม รวมทั้งจัดทำข้อกฎหมายรองรับเหมือนหลายประเทศที่ตื่นตัวเรื่องนี้

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า อินฟลูเอนเซอร์ที่มีจำนวนมากและเป็นในอาชีพที่มีความนิยมมากขึ้น ซึ่งเป็นอาชีพที่ในกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ที่มีผู้สนใจจำนวนมาก 

อินฟลูฯไทยโตเร็วเบอร์ 2 อาเซียน  ‘สภาพัฒน์’ เปิดโมเดล 4 ประเทศออกกฎหมายคุม

ทั้งนี้ เพราะเป็นอาชีพมีรายได้และผลตอบแทนดี และตรงพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่เข้าถึงและรู้จักใช้เทคโนโลยีและมีการรับข้อมูลข่าวสารจากโซเชียลมีเดียและเลือกที่จะเชื่อข้อมูลจากบุคคลทั่วไปที่มีอิทธิพลต่อความคิด หรือ อินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามมาก

สำหรับอินฟลูเอนเซอร์เป็นอาชีพอิสระ โดยปัจจุบันการกำหนดกฎเกณฑ์และข้อกฎหมายยังไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด ขณะที่การจัดสวัสดิการสังคมดูแลแรงงานส่วนนี้ยังไม่ครอบคลุม โดยแนวทางการบริหารจัดการและดูแลผู้ประกอบอาชีพอินฟลูเอนเซอร์ต้องมีแนวทางคล้ายการดูแลกลุ่มอาชีพทีเป็นแรงงานอิสระหรือแรงงานนอกระบบในกลุ่มอื่น

ดังนั้นภาครัฐควรเปิดให้ลงทะเบียนคนในกลุ่มอาชีพนี้ เพื่อให้กำหนดนโยบายที่เหมาะสมในการดูแลคนที่ทำกลุ่มอาชีพนี้ได้ รวมทั้งทำโครงการให้ความรู้และความช่วยเหลือเพิ่มเติมได้ 

รวมทั้งหากมีวิกฤติในวงกว้างจนกระทบรายได้และการจ้างงานจะให้ความช่วยเหลือกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ได้เร็ว ซึ่งภาครัฐต้องกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบ ควบคู่กับการจัดทำข้อกฎหมายในการป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้องหรือเฟคนิวส์ รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากอินฟลูอินเซอร์เช่นกัน

นอกจากนี้ สศช.เปิดเผยรายงานเรื่อง “Influencer : เมื่อทุกคนในสังคมล้วนเป็นสื่อ” โดยระบุว่าการขยายตัวของอินฟลูเอนเซอร์ส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านเนื้อหา ซึ่งนำไปสู่การมุ่งสร้างเนื้อหาให้เป็นกระแสโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องและเหมาะสมเท่าที่ควร และอาจสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคมรวมทั้งบางกรณียังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย 

ทั้งนี้ หลายประเทศกำกับดูแลชัดเจน ซึ่งไทยนำแนวทางดังกล่าวมาปรับใช้กำกับดูแลการผลิตและการนำเสนอเนื้อหาของอินฟลูเอนเซอร์ได้

สำหรับอินฟลูเอนเซอร์ของไทยสร้างรายได้ 800-700,000 บาทต่อโพสต์ ขึ้นกับจำนวนผู้ติดตาม ทำให้คนจำนวนมากสนใจเป็นอินฟลูเอนเซอร์ เพราะหารายได้ได้ค่อนข้างสูงในเวลารวดเร็ว

ผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเกี่ยวกับ 10 อาชีพในฝันของเด็กรุ่นใหม่ในปี 2567 พบว่า อินฟลูเอนเซอร์ , Streamer และ Youtuber เป็นอาชีพในฝันอันดับที่ 4 สูงกว่าทนายความ นักบินและข้าราชการ

อย่างไรก็ตาม อาชีพอินฟลูเอนเซอร์จำเป็นต้องผลิตเนื้อหา (Content) เพื่อให้มียอดผู้ติดตามและอัตราการมีส่วนร่วม (Engagement) มากขึ้น อาทิ การกดถูกใจ กดติดตาม การแสดงความคิดเห็น การแชร์ จึงมักสร้าง Content ให้เป็นกระแสโดยไม่คำนึงความถูกต้องเหมาะสมของเนื้อหาก่อนเผยแพร่

ทั้งนี้ แม้แพลตฟอร์มจะคัดกรองเนื้อหาที่อ่อนไหวระดับหนึ่ง เช่น การปิดกั้นภาพความรุนแรง การปิดกั้นภาพอนาจาร แต่มีเนื้อหาบางประเภทอาจสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคม เช่น การนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง เช่น ช่วงเริ่มต้นของการระบาดของ COVID-19 มีการส่งต่อข้อมูลปลอมและบิดเบือนจำนวนมาก เช่น การบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ การรับประทานอาหาร

นอกจากนี้ รายงานผลการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประจำปีงบประมาณ 2566 ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบยอดสะสมผู้โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายเป็นข่าวปลอม 7,394 บัญชี โดยมีจำนวนข่าวปลอมและข่าวบิดเบือนรวม 5,061 เรื่อง 

รวมทั้งการชักจูงหรือชวนเชื่อที่ผิดกฎหมาย เช่น การตลาดของเว็บพนันออนไลน์โดยใช้การโฆษณาผ่าน Influencer ซึ่งอาจส่งผลให้กลุ่มผู้ติดตามเข้าไปใช้บริการจำนวนมาก 

ขณะที่อินฟลูเอนเซอร์บางรายเสนอข่าวอาชญากรรมราวกับละคร เพื่อสร้างความน่าตื่นเต้นเร้าใจในรูปแบบแอนิเมชัน จำลอง เช่น การฆาตกรรม การข่มขืน การฆ่าตัวตาย โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เสียหาย ครอบครัว หรือบุคคลใกล้ชิด

รวมถึงการได้มาของแหล่งข่าวและการนำเสนอเนื้อหาข่าวของอินฟลูเอนเซอร์ยังขาดความระมัดระวัง และไม่คำนึงความถูกต้องเหมาะสม เช่น การทำข่าวโดยใช้ภาพผู้คนที่ไม่ได้รับอนุญาต การตั้งคำถามชี้นำหรือกดดันเพียงเพื่อต้องการยอดรับชม การติดตามและการแชร์ต่อจนเป็นกระแสในวงกว้าง 

นอกจากนี้การสร้างคอนเทนต์ “การอวดความร่ำรวย” ที่ส่งผลให้มีการมีพฤติกรรมอวดร่ำรวยบนโซเชียลมีเดีย ในเนื้อหายอดนิยม 3 อันดับแรก ได้แก่ สินค้าแบรนด์เนม การบริการที่ประทับใจ และไลฟ์สไตล์ชีวิตประจำวัน

โดยเหตุผลที่อยากอวด คือ เพื่อต้องการให้คนอื่นรู้ว่าตนเองมีสิ่งที่ดีที่สุด และเพื่อบ่งบอกถึงสถานะทางสังคม จนกลายเป็นกระแสหรือแคมเปญ เช่น #ของมันต้องมี หรือแคมเปญล้มอวดรวย (Falling Stars Challenge) ซึ่งเป็นโอกาสทางการตลาดแก่ภาคธุรกิจ จากพฤติกรรมการอวดที่เรียกว่า “Bragger Marketing” เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยอาจส่งผลให้มีการก่อหนี้เพื่อนำมาซื้อสินค้าและบริการดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอภาพบุคคลที่ได้รับการปรับแต่งให้ดูดีจนกลายเป็นมาตรฐานความงามที่ไม่แท้จริง (Unrealistic Beauty Standards) ซึ่งอาจสร้างค่านิยมที่ผิดให้กับสังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนอีกด้วย ตัวอย่างข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลเชิงลบของอินฟลูเอนเซอร์ต่อสังคมในหลายแง่มุม

ทั้งนี้ สศช.ระบุว่าด้วยว่าในต่างประเทศเริ่มมีการออกกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลอินฟลูเอนเซอร์อย่างชัดเจน ดังนี้ 

สาธารณรัฐประชาชนจีน ออกระเบียบข้อห้ามเผยแพร่เนื้อหาในลักษณะอวดความร่ำรวยบนโลกออนไลน์ และการใช้ชีวิตประจำวันแบบกินหรูอยู่สบายเกินความเป็นจริง เช่น การโชว์เงินสด รถยนต์หรูหรา การกินอาหารแบบทิ้งขว้าง จนเป็นกระแสทำตาม แต่เป็นการสร้างค่านิยมในทางที่ผิด

นอร์เวย์ มีการออกกฎหมายกำหนดให้อินฟลูเอนเซอร์ ต้องแจ้งรายละเอียดการปรับแต่งภาพบุคคลที่ใช้สำหรับการขายและโฆษณาสินค้าบนโซเชียลมีเดียต่อหน่วยงานรัฐพร้อมแสดงเครื่องหมายกำกับลงบนภาพ เพื่อลดปัญหาความกดดันทางสังคมต่อมาตรฐานความงามที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน

สหราชอาณาจักร ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาร่างกฎหมายสำหรับรูปภาพที่ผ่านการปรับแต่งดิจิทัล เพื่อกำหนดให้ผู้โฆษณา ผู้ผลิตสิ่งพิมพ์ และ อินฟลูเอนเซอร์ต้องแสดงเครื่องหมายลงบนภาพที่ได้มีการปรับแต่งส่วนหนึ่งส่วนใดบนร่างกายเช่นกัน

โดยจัดรณรงค์ผ่านโครงการ “Diligent and Thrifty” เพื่อเน้นย้ำถึงเรื่องความประหยัดและสนับสนุนให้ชาวจีนใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล นอกจากนี้ ยังมีมาตรการยกเลิกการจัดอันดับความนิยมด้านชื่อเสียงเฉพาะบุคคลเพื่อให้ความสำคัญกับคุณภาพผลงานมากขึ้น

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออกกฎหมายให้ผู้ที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ต้องจดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตจากสภาสื่อแห่งชาติ (NMC) เพื่อป้องกันการโฆษณาเนื้อหาหรือกิจกรรมที่ผิดกฎหมายบนโซเชียลมีเดีย

ขณะที่ประเทศไทยแม้ว่าจะมีกฎหมายในการกำกับดูแลการนำเสนอข้อมูลอยู่บ้าง เช่น พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 เพื่อควบคุมการนำเข้าข้อมูลที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522

รวมทั้งกำลังพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ที่ปรับปรุงการกำกับดูแลการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้เท่าทันกับสื่อในยุคปัจจุบัน แต่ยังไม่มีกฎระเบียบเจาะจงกับกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์อย่างชัดเจน

อีกทั้ง แนวทางการกำกับดูแลส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการที่เน้นไปที่การตรวจสอบและเฝ้าระวังการนำเสนอข้อมูลของสื่อ ตักเตือนหรือแก้ไขในกรณีสื่อนำเสนอเนื้อหาไม่เหมาะสมการส่งเสริมกลไกการตรวจสอบกันเองของสื่อ และการตรวจสอบจากภาคประชาชน รวมถึงให้การช่วยเหลือประชาชนหากได้รับความเสียหาย ขณะที่ยังไม่มีแนวทางในการกำกับหรือควบคุมการผลิตและนำเสนอเนื้อหาตั้งแต่ต้น

นอกจากนี้ ทักษะด้านดิจิทัล (Digital Literacy) ของครัวเรือนไทยยังมีปัญหา โดยเฉพาะกลุ่ม Baby Boomer ซึ่งหากไทยจะขยายขอบเขตการกำกับดูแลให้ครอบคลุมถึงกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลมากต่อสังคมไทยอาจต้องทบทวนการกำหนดนิยามของสื่อออนไลน์ให้ชัดมากขึ้น รวมถึงควรมีแนวทางการกำกับดูแลที่สอดคล้องกับการผลิตเนื้อหาของสื่อกลุ่มต่างๆ ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ อาจศึกษาจากกรณีตัวอย่างของกฎหมายและมาตรการของต่างประเทศ และนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทสังคมไทย ควบคู่การยกระดับทักษะด้านดิจิทัล เพื่อให้คนไทยทุกคนรู้เท่าทัน และมีภูมิคุ้มกันต่อการรับข้อมูลข่าวสารที่จะตรวจสอบได้ยากขึ้นในอนาคต