ปศุสัตว์ สกัดการลักลอบนำเข้าโคมีชีวิต ริมลำน้ำเมยชายแดนไทย-เมียนมา
เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ตาก ผนึกกำลังกับชุดเฉพาะกิจพญานาคราช เจ้าหน้าที่ทหาร ฉก. ราชมนู และเจ้าหน้าที่ศุลกากรสกัดจับกลุ่มผู้ลักลอบนำโคมีชีวิตข้ามแดนมาจากฝั่งประเทศเมียนมา แถวบริเวณท่าข้ามธรรมชาติแม่น้ำเมย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าด่านกักกันสัตว์ตาก ซึ่งร่วมกับชุดเฉพาะกิจพญานาคราช เจ้าหน้าที่ทหาร ฉก. ราชมนู และเจ้าหน้าที่ศุลกากรสกัดกั้นการลักลอบนำเข้าโคมีชีวิต ตามที่ได้รับแจ้งจากสายข่าวว่า จะมีกลุ่มบุคคลนำโคมีชีวิตข้ามฝั่งจากประเทศเมียนมา บริเวณท่าข้ามธรรมชาติแม่น้ำเมย ดอยหิวกิ่ว ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก คณะเจ้าหน้าที่จึงเข้าตรวจสอบ พบกลุ่มคนกำลังไล่ต้อนกลุ่มโคข้ามแม่น้ำเมยมายังฝั่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่จึงแสดงตัวเข้าตรวจสอบ
เมื่อกลุ่มคนดังกล่าว เห็นเจ้าหน้าที่จึงว่ายน้ำข้ามกลับไปฝั่งประเทศเมียนมา จากการตรวจสอบพื้นที่พบโค 29 ตัว ประกอบด้วยเพศผู้ 12 ตัวและเพศเมีย 17 ตัวจึงได้ยึดโคทั้งหมดเป็นของกลาง โดยเจ้าหน้าที่ กรมปศุสัตว์ได้กักโรคและเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อส่งตรวจโรคทางห้องปฏิบัติการ สำหรับการดำเนินคดี เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ดำเนินการตามพ.ร.บ.ศุลกากร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจ้าหน้าที่ศุลกากรดำเนินการในชั้นศุลกากร ส่วนเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จะดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 31 ต่อไป
"กรมปศุสัตว์บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบทุกด่านตามแนวชายแดน เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าโคเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศไทย พร้อมแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าเถื่อนอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง"
ยกระดับมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาด โดยเฉพาะสินค้าเกษตรเพิ่มความเชื่อมั่นต่อสินค้าปศุสัตว์ไทยซึ่งเป็นไปตามนโยบายของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้ประกาศสงครามกับการลักลอบนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตรเถื่อนทุกชนิด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์มีแผนยกระดับมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาด และนโยบายในการเตรียมตัวส่งออกโคมีชีวิต ผ่านการรับรองคุณภาพ “ปลอดโรคปลอดภัย” เพื่อสร้างหลักประกันและความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าว่า สินค้าไทยปราศจากโรค พร้อมกันนี้ รัฐบาลเร่งเดินหน้าเปิดตลาดใหม่ๆ เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ ในตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เพื่อให้ผู้เลี้ยงโคสามารถเติบโตในอาชีพได้อย่างยั่งยืนและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นอีกด้วย