โจทย์ใหญ่ ‘ครม.เศรษฐกิจ’ ยุค ‘รัฐบาลเศรษฐา’ เร่งฟื้นเชื่อมั่นประชาชน – เอกชน
จับตา ครม.เศรษฐกิจครั้งแรกรัฐบาลเศรษฐา คาดถกตัวเลขเศรษฐกิจ หลังจีดีพีไทยโตต่ำสุดในอาเซียนจับตามาตรการที่ชัดเจน หลังการประชุม กับโจทย์ใหญ่สร้างความเชื่อมั่นนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล แนะควรทำได้จริง
KEY
POINTS
- การประชุม ครม.เศรษฐกิจถูกนำมาใช้อีกครั้งในรัฐบาลนี้หลังจากเศรษฐกิจไทยที่เติบโตต่ำที่สุดในอาเซียน โดยประชุมครั้งแรกของรัฐบาลนี้ในวันที่ 27 พ.ค.นี้
- รัฐบาลก่อนหน้าเคยมีการใช้กลไก ครม.เศรษฐกิจในรัฐบาลที่ผ่านมาทั้งในภาวะปกติและวิกฤติ
- โจทย์สำคัญของ ครม.เศรษฐกิจ คือกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่หดตัว เพิ่มแรงส่งเศรษฐกิจจากภาคเอกชน และสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาต้องจับต้องได้
ในวันพรุ่งนี้ (27 พ.ค. 2567) จะมีการประชุม “ครม.เศรษฐกิจ” ถือว่าเป็นการประชุม ครม.เศรษฐกิจครั้งแรกของรัฐบาลที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี โดยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชัย วัชรงค์ ระบุว่านายกรัฐมนตรีจะมีการเรียกประชุมเศรษฐกิจทุกวันจันทร์ของแต่ละสัปดาห์เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
การประชุม ครม.เศรษฐกิจเป็นอีกเครื่องมือในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ผ่านมาในหลายรัฐบาลมีทั้งการประชุม ครม.เศรษฐกิจในภาวะปกติเพื่อผลักดันวาระสำคัญ และบางครั้งการประชุม ครม.เศรษฐกิจเพื่อรองรับวิกฤติที่เกิดขึ้น การประชุม ครม.เศรษฐกิจจึงมี “ฟังก์ชั่น” ในการขับเคลื่อน และแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย
ในสมัยที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี การประชุม ครม.เศรษฐกิจ มอบหมายให้กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลังในขณะนั้นดำเนินการประชุม โดยประเด็นในขณะนั้นเป็นการพูดคุยในเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ใน พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท
ต่อมาในสมัยรัฐบาล คสช.หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดึงสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ การประชุม ครม.เศรษฐกิจในสมัยนั้นก็มีการประชุมอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งมีการเกิดสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2563 ก็มีการตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของ. โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ “ศบค.เศรษฐกิจ” ซึ่งองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดนี้นอกจากมีคณะรัฐมนตรี และข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ก็ยังมีตัวแทนจากภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ตัวแทนจากหอการค้าฯและสมาคมธนาคารที่เข้ามาร่วมกันทำงานออกมาตรการสำคัญๆในการฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19
ซึ่งข้อดีของ ศบค.เศรษฐกิจของรัฐบาลที่แล้วก็คือหากมีวาระหรือข้อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมและผ่านความเห็นชอบแล้วจะเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ได้ทันทีทำให้การแก้ไขปัญหาต่างๆสามารถทำได้รวดเร็ว
กลับมาที่การประชุม ครม.เศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบัน การประชุมครั้งแรกเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที1 ขยายตัวได้เพียง 1.5% และทั้งปีนั้น สศช.คาดการณ์ว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ 2.5% ซึ่งข้อมูลที่ออกมาบอกว่าประเทศไทยมีการเติบโตต่ำที่สุดในอาเซียน ทำให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายนโยบายอยู่เฉยไม่ได้ต้องมีการเรียกประชุมครม.เศรษฐกิจ
หากไปดูรายละเอียดของตัวเลขเศรษฐกิจของไทยตัวที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 กลับเป็นการใช้จ่ายและการลงทุนรวมของภาครัฐ โดยการลงทุนของภาครัฐหดตัวถึง 27.7% ขณะที่การอุปโภคภาครัฐก็ลดลง 2.1% ซึ่งในส่วนนี้เป็นผลจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ล่าช้า แต่มองในอีกมุมหนึ่งก็คือในช่วงที่ภาครัฐไม่มีกำลังการใช้จ่าย แรงส่งทางเศรษฐกิจจากภาคเอกชนก็ไม่สามารถที่จะเข้ามาทดแทนได้ในอัตราที่เพียงพอจะพยุงเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวในระดับศักยภาพที่ระดับ 3 – 4% ได้ จะมีก็เพียงแค่ภาคการท่องเที่ยวที่เข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยให้อยู่ในแดนบวกไม่ขยายตัวต่ำหรือว่าติดลบเหมือนที่นักเศรษฐศาสตร์บางคนคาดการณ์
อย่างไรก็ตามการที่จะผลักดันให้การลงทุนของเอกชนเพิ่มขึ้นนั้นจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนอกจากความชัดเจนของนโยบาย แผนการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงก็สำคัญไม่แพ้กัน
โจทย์สำคัญในการประชุม ครม.เศรษฐกิจของรัฐบาลนั้นจะต้องทำให้ผลที่ออกมาจากการประชุมนั้นเป็นรูปธรรม จับต้องได้ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับวาระ และประเด็นที่จะนำเข้าสู่การประชุม มีแผน ระยะเวลาไทม์ไลในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆให้สำเร็จถึงจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน และภาคเอกชนที่จับตาดูผลการประชุม ครม.เศรษฐกิจครั้งนี้ว่า “ครม.เศรษฐกิจยุครัฐบาลเศรษฐา” ผลจากการประชุมที่ได้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร หากมีความชัดเจนในทางที่บวกความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจจึงจะกลับมา