‘คลัง’ เล็งปรับพอร์ต เคลียร์ ‘หุ้นประสิทธิภาพต่ำ’ มูลค่า 3 หมื่นล้าน
“เผ่าภูมิ” สั่งตั้งคณะกรรมการทบทวนความคุ้มค่าหลักทรัพย์-หุ้น ล็อกเป้า 100 หุ้น กว่า 30,000 ล้าน จากการยึดทรัพย์และนิติเหตุ หวังจัดพอร์ตลงทุนรัฐให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาทบทวนและกลั่นกรองความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ ของหลักทรัพย์ของรัฐที่กระทรวงการคลังถือครอง นอกเหนือจากการใช้ตัวชี้วัดทางบัญชีและข้อกฎหมาย
โดยเฉพาะหลักทรัพย์ในส่วนที่ไม่มีความจำเป็นต้องถือครอง และควรจำหน่ายออก เช่น หุ้นที่ได้รับจากการยึดทรัพย์ หรือนิติเหตุ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนราว 100 หุ้น มูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท
ทั้งนี้หลักทรัพย์ดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นหุ้นตัวเล็กๆ ที่ได้จากการยึดทรัพย์ การลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนกลับมาเป็นหุ้น การช่วยเหลือสังคม ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังไม่ได้มีการขายออกไป แม้จะเป็นการถือครองหลักทรัพย์ที่ขาดประสิทธิภาพก็ตาม ดังนั้นจึงต้องมีการกลับมาทบทวนเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของรัฐ
“ที่ผ่านมากระทรวงการคลังไม่ได้มีการขายหุ้นเหล่านี้ออกไป เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎหมายที่กำหนดว่ารัฐบาลจะสามารถขายได้เมื่อใด อาทิ เป็นหุ้นที่ไม่สร้างประโยชน์ หุ้นที่ไม่อยู่ในแผนการพัฒนา โดยการตั้งคณะกรรมการจะต้องมีความรอบด้าน ครบบถ้วน และทำหน้าที่ประเมินหลักทรัพย์ของรัฐในเชิงเศรษฐศาสตร์ เพื่อประโยชน์สูงสุดของภาครัฐ ทั้งนี้จะยังไม่ได้พูดคุยกันว่าจะซื้อจะขายหุ้นตัวไหน"
นายเผ่าภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประเมินความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์จะมองถึงแนวโน้มของหลักทรัพย์ดังกล่าวในอนาคตด้วย นอกเหนือจากมาตรฐานทางบัญชี ดูกำไร-ขาดทุน และกรอบกฎหมาย อาทิ การตัดสินใจขายหุ้นในราคาขาดทุน ณ ปัจจุบัน แต่ไม่ได้ประเมินว่าในอนาคตอาจมีมูลค่าต่ำกว่าปัจจุบันอีก
รายงานจาก สคร. เปิดเผยว่า ไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2567 มีหลักทรัพย์ของรัฐที่ถือครองโดยกระทรวงการคลัง ทั้งสิ้น 109 หลักทรัพย์ (ไม่รวมหุ้นในรัฐวิสาหกิจ) มูลค่ารวม 376,997.38 ล้านบาท สำหรับมูลค่าหลักทรัพย์ของรัฐ 108 หลักทรัพย์ (ไม่รวมมูลค่ากองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง) อยู่ที่ 35,304 ล้านบาท ส่วนมูลค่าของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง อยู่ที่ 341,693 ล้านบาท (ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ธ.ค.2566)
ทั้งนี้ หลักทรัพย์ของรัฐที่จ่ายเงินปันผลสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธนาคารทหารไทยธนชาติ จำกัด (มหาชน) 602.31 ล้านบาท, บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) 478.27 ล้านบาท, กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย 186.27 ล้านบาท, บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด 108.12 ล้านบาท และ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 98.32 ล้านบาท (ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ก.ย.2566)