เร่งยกระดับ“ทุเรียนไทย”ในตลาดจีน เน้นคุณภาพ ก่อนวืดแชมป์เบอร์ 1 จีน
สถานการณ์ทุเรียนไทยในตลาดจีน สั่นคลอน เจอสารพัดปัญหา ทั้งต้นทุนสูง คู่แข่งเพียบ แถม จีน ยังปลูกทุเรียนได้ “นักวิชาการ” จับตาเวียดนาม คู่แข่งสำคัญไทยได้เปรียบทั้งต้นทุน ใกล้จีน ระยะเวลาขนส่งสั้น เร่งปรับกลยุทธ์เน้นคุณภาพครองใจคนจีนกระเป๋าหนัก ยึดตลาดเบอร์ 1 จีนต่อ
Key Point
- 3 เดือนแรกปี 67 ไทยส่งออกทุเรียนสดแช่เย็นปริมาณ 28,989.63 ตัน
- 3 เดือนแรกปี 67 เวียดนามส่งออกทุเรียนไปจีน 36,800 ตัน
- จีนปลูกทุเรียนที่มณฑลไห่หนาน
ประเทศจีนเป็นตลาดบริโภคทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในโลก และทุเรียนได้กลายเป็นหนึ่งในผลไม้ที่มีปริมาณการนำเข้าสูงสุดของจีนตลอดหลายปีที่ผ่านมา ด้วยมูลค่าประกอบกับค่าขนส่ง
จากข้อมูลสถิติการส่งออกทุเรียนของกรมศุลกากร พบว่า ในปี 2567 (ม.ค. - มี.ค.) ไทยส่งออกทุเรียนและผลิตภัณฑ์ปริมาณ 39,714.86 ตัน มูลค่า 8,380.03 ล้านบาท เป็นทุเรียนสดแช่เย็นปริมาณ 28,989.63 ตัน มูลค่า 5,785.99 ล้านบาท ส่งออกไปจีน หรือ 96.65% กัมพูชา 2.20% และสหรัฐอเมริกา 0.34% ของมูลค่าการส่งออก และทุเรียนแช่แข็งปริมาณ 10,502.07 ตัน มูลค่า 2,398 ล้านบาท มีปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้น 11.53 % และ 41.13 % ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาโดยส่งออกไปจีน 95.95% แคนาดา 1.17% และออสเตรเลีย 1.10% ของมูลค่าการส่งออก
ข้อมูลจากเว็ปไซต์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่รายงานโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เมืองชิงตาว ประเทศจีน ถึงสถานการณ์ทุเรียนในจีนส่วนหนึ่งว่า ในปี 2566 จีนนำเข้าทุเรียนสูงเป็นอันดับหนึ่งของมูลค่าการนำเข้าผลไม้ของจีน โดยมีมูลค่าถึง 6,699 ล้านดอลลาร์ เติบโต 66.16 % จากปีก่อน มีปริมาณการนำเข้าถึง 1.42 ล้านตัน เติบโต 72.78 % จากปีก่อน โดยทั้งปริมาณและมูลค่าเติบโตเกือบ 3 เท่า เมื่อเทียบจากปี 2563 โดยปริมาณนำเข้าจากคู่ค้าหลัก ได้แก่ ไทย 65.19% และ เวียดนาม 34.55 %
ปัจจุบันทุเรียนในตลาดจีนพึ่งพาการนำเข้า แต่ด้วยความต้องการของตลาดจีนเป็นปริมาณมาก จีนได้เลือกมณฑลไห่หนาน มณฑลกวางตุ้ง มณฑลยูนนาน และไต้หวัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอากาศอบอุ่น เป็นแหล่งทดลองปลูกทุเรียน
โดยนำทุเรียนพันธุ์ดีมาจากมาเลเซียมาเพาะพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเมื่อปี 2561 มณฑลไห่หนานก็เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการปลูกถ่ายกิ่งต้นกล้าทุเรียน จนกระทั่งปี 2566 ทุเรียนเมืองซานย่าก็เข้าสู่ตลาดเป็นที่จับตามองของตลาด การเพาะปลูกทุเรียนในมณฑลไห่หนานมีพื้นที่กว่า 30,000 หมู่ (12,500 ไร่) มีพื้นที่ติดผลทุเรียนในไห่หนานประมาณ 1,400 หมู่ (583.33 ไร่) มีปริมาณผลผลิต 50 ตัน ในปีนี้คาดว่าจะมีพื้นที่ติดผลทุเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 4,000 หมู่ (1,666.67 ไร่) ปริมาณผลผลิต 250 ตัน
โดยทุเรียนจีนที่เข้าสู่ตลาดมาจากเขตนิเวศวิทยาเมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน เท่านั้น ซึ่งมีคุณภาพดี มีความได้เปรียบด้านการขนส่งสะดวก ใกล้แหล่งบริโภค สามารถรับประกันความสดและความสุก รวมถึงอุปกรณ์และเทคโนโลยีการเกษตรขั้นสูงของจีนที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ข้อเสียของมณฑลไห่หนานมีพายุไต้ฝุ่นบ่อยครั้งและฝนตกไม่สม่ำเสมอ ซึ่งจะกระทบต่อผลผลิต
นอกเหนือจากที่สามารถปลูกทุเรียนได้แล้ว ยังพบว่า ประเทศเพื่อนบ้านทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ก็ส่งทุเรียนเข้ามาเพื่อแย่งส่วนแบ่งการตลาด โดยเฉพาะเวียดนามที่กำลังมาแรง ทำให้ตลาดผู้บริโภคทุเรียนในจีนมีการแข่งขันสูง
แต่ที่คู่แข่งที่น่ากลัวของไทยก็คือ เวียดนาม ด้วยข้อได้เปรียบในหลายอย่าง ทั้งต้นทุนการส่งออกทุเรียนของเวียดนามมาถึงจีนที่ถูกกว่าไทย จึงจะมีความได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคา เมื่อเปรียบเทียบไทยกับประเทศผู้ผลิตอื่นๆ
นายอัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด กล่าวว่า ไตรมาสที่ 1ปี 67 เวียดนามส่งออกทุเรียนไปจีนเพิ่มขึ้น 105% อยู่ที่ 36,800 ตัน ปริมาณผลผลิตทุเรียนในเวียดนามพบว่า 10 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตทุเรียนเวียดนามเพิ่มขึ้น 200% ปี 2566 เวียดนามมีผลผลิตทุเรียน 8 แสนตันเพิ่มจาก 2.7 แสนตัน (ปี 2557) มีพื้นที่ปลูกเกือบ 7 แสนไร่ (6.8 แสนไร่) พื้นที่ปลูกทุเรียนเวียดนาม90 % ปลูกในจังหวัดสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekong River Delta) จังหวัดที่ปลูกมากที่สุดคือจังหวัดดั๊กลัก (Dak Lak) คิดเป็น 21% ของผลผลิตทั้งหมด ตามด้วยจังหวัดเตียนซาง (Tien Giang)และเลิมด่ง (Lam Dong) เป็นต้น
ด้านต้นทุนการผลิตทุเรียนไทยสูงกว่าเวียดนาม 2 เท่า โดยปี 2566 ต้นทุนการผลิตทุเรียนเวียดนามอยู่ที่ 15 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) เพิ่มขึ้นเป็น 19 บาทต่อกก.ในปี 2567 ในขณะ ที่ต้นทุนการผลิตทุเรียนไทยเพิ่มขึ้น 10 บาทต่อกก.
“ทุเรียนเวียดนามจะเป็นคู่แข่งสำคัญของทุเรียนไทยในอนาคต คาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า ทุเรียนเวียดนามจะผลิตใกล้เคียงกับทุเรียนไทย”นายอัทธ์ กล่าว
ทั้งหมดนี้เป็นสถานการณ์ทุเรียนที่ผู้ส่งออกไทยต้องจับตาและนิ่งเฉยไม่ได้ เพราะตลาดจีนไม่เหมือนเช่นอดีตที่ไทยครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด แต่ปัจจุบันคู่แข่งสำคัญคือ เวียดนาม ที่มีความความได้เปรียบไทยทั้งด้านต้นทุนการขนส่ง ด้านราคาที่ถูกกว่าทุเรียนไทย ถือเป็นแต้มต่อการส่งออกทุเรียนไปยังตลาดจีน ขณะที่ไทยเจอสารพัดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการผลิต ภัยแล้ง ราคาที่สูงกว่าคู่แข่ง
โดยผู้ส่งออกและเกษตรกรจะต้องเร่งปรับตัว จะอยู่แบบเดิมๆอาศัยกินบุญเก่าคงไม่ได้ ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในตลาดจีน ไม่เพียงแค่คู่แข่งอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ แต่จีนเองก็พัฒนาและปลูกทุเรียนได้แล้ว สิ่งที่ไทยต้องทำคือ ”เน้นคุณภาพและมาตรฐาน” เพื่อให้ไทย”ยืนหนึ่ง”ในตลาดจีน โดยเฉพาะผู้บริโภคจีนกระเป๋าหนัก ที่เน้นคุณภาพมากกว่าราคา