ทอท.ดึงเอกชนร่วมทุน 'อาคารไพรเวทเจ็ท' ปั้นดอนเมืองสู่ฮับภูมิภาค
ทอท.ปรับแผนพัฒนา “สนามบินดอนเมือง” รื้อคลังสินค้าขยายอาคารไพรเวทเจ็ท แห่งที่ 2 วางโมเดลเปิดพีพีพีดึงเอกชนร่วมทุนสูงสุด 20 ปี ขณะที่คืบหน้าดอนเมืองเฟส 3 จ่อประมูลสร้าง มี.ค.2568
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงินลงทุนรวม 36,829 ล้านบาท พบว่าเป้าหมายสำคัญ คือการพัฒนาท่าอากาศยานแห่งนี้ให้มีความสะดวกสบาย รองรับการเดินทางของผู้โดยสารทั้งในและต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นศูนย์กลาง (ฮับ) เชื่อมต่อการเดินทางในภูมิภาค
อย่างไรก็ดี ทอท.ได้ศึกษาความเหมาะสมและเตรียมพัฒนางานส่วนแรก คือ อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เพื่อขยายพื้นที่รองรับผู้โดยสาร โดยจะพัฒนาอาคารด้านทิศใต้ของท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ พื้นที่ใช้สอย 1.6 แสนตารางเมตร ผลักดันให้ท่าอากาศยานดอนเมืองมีพื้นที่ใช้สอยรวม 4 แสนตารางเมตร ใกล้เคียงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 50 ล้านคนต่อปี
นอกจากนี้ ทอท. ยังปรับแผนพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 ใช้งบราว 1 พันล้านบาท ซึ่งเดิมจะใช้เพื่อปรับปรุงอาคารผู้โดยสารส่วนบุคคล (ไพรเวทเจ็ท) นำมาพัฒนาเป็นอาคารเทียบเครื่องบินเพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหาผู้โดยสารที่ต้องเดินทางด้วยรถบัสต่อไปยังหลุมจอดเพื่อขึ้นเครื่องบิน เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารมากขึ้น
ส่วนการพัฒนาอาคารไพรเวทเจ็ท ทอท.ปรับแผนพัฒนาอาคารคลังสินค้า 4 ด้านทิศเหนือของท่าอากาศยานดอนเมือง จากเดิมจะพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ปรับมาพัฒนาอาคารไพรเวทเจ็ท 2 พร้อมทั้งเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) ระยะเวลาสัมปทาน 15 - 20 ปี ซึ่งจะเปิดพีพีพีทั้งส่วนของอาคารเดิมที่กำลังจะหมดสัญญาในปี 2568 และอาคารไพรเวทเจ็ท 2 ที่กำลังจะพัฒนาด้วย เพื่อรองรับดีมานด์ของเครื่องบินดังกล่าวที่กำลังขยายตัว
โดยเบื้องต้นประเมินว่าหากมีการเปิดให้บริการอาคารไพรเวทเจ็ททั้ง 2 อาคาร จะเพิ่มขีดความสามารถรองรับเป็น 60 เที่ยวบินต่อวัน จากปัจจุบันรองรับได้ 20-30 เที่ยวบินต่อวัน อีกทั้งจะสร้างรายได้ให้ ทอท.เฉลี่ยปีละ 2-3 พันล้านบาท จากค่าบริการภาคพื้น ค่าจอดอากาศยาน และสัญญาสัมปทาน
“ไพรเวทเจ็ทเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่กำลังเติบโตมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย มีปริมาณการเดินทางต่อวันค่อนข้างสูง และปัจจุบันสิงคโปร์เป็นฮับรองรับเที่ยวบินประเภทนี้เฉลี่ยวันละ 200 เที่ยวบิน ขณะที่ดอนเมืองรองรับวันละ 20-30 เที่ยวบิน ทำให้เราตั้งคำถามว่าที่เที่ยวบินไม่มาเพราะอะไร คำตอบคือความสะดวกสบายและขีดความสามารถของสนามบิน เราจึงเร่งพัฒนาส่วนนี้เพื่อสร้างโอกาสให้ดอนเมืองมากขึ้น”
นายกีรติ กล่าวด้วยว่า ความคืบหน้าภาพรวมของกาาพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 ทอท.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 และรวบรวมผลการศึกษาแล้วเสร็จภายใน ต.ค.2567 ก่อนเปิดประกวดราคาในเดือน มี.ค.2568 และดำเนินการก่อสร้างทันที เพื่อเปิดให้บริการในปี 2574
สำหรับสถานะโครงการท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 ปัจจุบันผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวงเงินลงทุนรวม 36,829 ล้านบาท และผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จึงถือเป็นโครงการที่มีความพร้อมในการลงทุนทันที ซึ่ง ทอท.จะใช้กระแสเงินสดในการพัฒนาโครงการนี้ทั้งหมด ยืนยันว่ามีความพร้อมด้านการเงิน โดยประเมินว่าจะทยอยลงทุนเฉลี่ยปีละ 5 - 8 พันล้านบาท เป็นระยะเวลารวม 5 ปี