‘คลัง‘ เลื่อนบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ ‘TFRS 9’ อุ้ม ’แบงก์รัฐ‘ ถึงปี 70
“คลัง” เลื่อนบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 กับแบงก์รัฐถึงปี 2570 ห่วงภาระตั้งสำรองสูง กระทบเครดิต สั่งทำบัญชีควบคู่ไปพลางให้ปรับตัวได้
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้เห็นชอบให้มีการเลื่อนบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (Thai Financial Reporting Standard: TFRS9) ที่จะเริ่มใช้ในปี 2568 สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ออกไปอีก 2 ปี เป็นปี 2570
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มเวลาให้ธนาคารรัฐได้มีเวลาปรับตัวกับการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่เพิ่มเติม หลังจากที่ผ่านมาได้เผชิญวิกฤติโควิดทำให้ต้องมีภารกิจดูแลประชาชน กลุ่มเปราะบางที่มีหนี้เสีย และหนี้ค้างชำระจำนวนมาก
“แม้การจัดทำมาตรฐาน TFRS 9 จะช่วยยกระดับการทำมาตรฐานทางบัญชีของธนาคารรัฐให้เป็นสากลยิ่งขึ้น แต่ก็อาจทำให้ธนาคารรัฐบางแห่ง มีผลกระทบเกี่ยวกับการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ โดยเฉพาะประเด็นการประเมินการด้อยค่าทางเครดิตของสินทรัพย์ จนอาจทำให้กระทบต่อการดำเนินงาน“
นอกจากนี้ อาจทำให้ธนาคารรัฐ ที่มีลูกค้าที่ผิดนัดชำระจำนวนมาก ต้องมีภาระการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น โดยการเลื่อนใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ของแบงก์รัฐครั้งนี้ เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเงิน เพราะธนาคารส่วนใหญ่มีภารกิจเฉพาะทางในการสนับสนุนภาครัฐ และไม่ได้ทำธุรกิจการเงินระหว่างประเทศมากนัก
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการเลื่อนบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ในครั้งนี้ ได้กำหนดให้ทุกธนาคารจะต้องมีการซักซ้อมทำบัญชีมาตรฐานใหม่ TFRS 9 ควบคู่กับมาตรฐานบัญชีปัจจุบันไปด้วย เพื่อให้แต่ละแบงก์สามารถปรับตัว และรับทราบสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากมาตรฐานบัญชีใหม่ ก่อนที่จะเริ่มใช้จริงในปี 2570
“ระหว่างนี้หากแบงก์ไหนมีความพร้อม ก็ให้ดำเนินการไปตามมาตรฐานได้เลย เช่น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ก็ได้มีการใช้มาตรฐานบัญชี TFRS 9 ไปแล้ว ส่วนธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ก็มีความพร้อมแล้ว ธนาคารแห่งอื่นที่มีลูกค้ารายย่อย เอสเอ็มอีจำนวนมาก อาจต้องมีภาระในการตั้งสำรอง และต้องปรับตัวค่อนข้างเยอะ”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาแบงก์รัฐมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการตามพันธกิจที่กฎหมายจัดตั้งกำหนด รวมทั้ง ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง เพื่อเป็นช่องทางในการดำเนินนโยบายของรัฐ และลดผลกระทบในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจหรือในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว และสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยการให้สินเชื่อแก่ประชาชนและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ดังนั้น จึงเห็นว่าควรให้เลื่อนมาตรฐานบัญชีใหม่ไปก่อน