จับชีพจรตลาดกลุ่ม BRICS โอกาสการค้าไทย หลังเตรียมสมัครเข้าเป็นสมาชิก

จับชีพจรตลาดกลุ่ม BRICS โอกาสการค้าไทย หลังเตรียมสมัครเข้าเป็นสมาชิก

ไทยเตรียมยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ในการประชุมสุดยอดกลุ่ม BRICS ที่รัสเซีย ช่วงปลายเดือนต.ค.ถือเป็นชาติแรกของอาเซียน ด้านสรท.หนุนสุดตัว ชี้ โอกาสไทยเปิดตลาดการค้าใหม่รองรับตลาดเก่าที่ชะลอตัว เชื่อไม่โดนมองแบ่งขั้วการเมืองระหว่างประเทศ

KEY

POINTS

  • กลุ่ม BRICS ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ 
  • 22-24 ต.ค..67 ประชุมสุดยอดของกลุ่ม BRICS ที่รัสเซีย
  • ครม.เห็นชอบเข้าร่วมกลุ่ม BRICS
  •  ไทยเตรียมยื่นหนังสือแจ้งเจตจำนงขอร่วมเป็นสมาชิก เดือนต.ค.นี้
  • สรท.หนุนไทยเข้าร่วมกลุ่ม BRICS

คณะรัฐมนตรี (ครม.)ไฟเขียวไทยเข้าร่วม กลุ่ม BRICS เพื่อยกระดับบทบาทของไทยในฐานะผู้มีบทบาทนำในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ    

กลุ่ม BRICS หรือการรวมกลุ่มกันของประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 67  กลุ่ม BRICS ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่อีก 5 ชาติอย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย อียิปต์, เอธิโอเปีย, อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์

ทั้งนี้กลุ่ม BRICS มีนโยบายขยายความร่วมมือกับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก และมีแผนจะเชิญประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมในกลไกของกลุ่มในการประชุมสุดยอดของกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 16 ณ เมืองคาซาน รัฐรัสเซีย ระหว่างวันที่ 22-24 ต.ค. 2567 โดยกำลังจะพัฒนาเป็น BRICS Plus ซึ่งมีประเทศที่ยื่นสมัครเข้ามา 22 ประเทศ รวมถึงไทยด้วย

สำหรับความสำคัญของกลุ่ม BRICS มีทั้งด้านการเมืองระหว่างประเทศและด้านการค้า เพราะสมาชิกของกลุ่มบริกส์ที่ร่วมก่อตั้งล้วนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจอย่างรัสเซียและจีน  หากมองเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจการค้า พบว่า  ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่ม BRICS มีมูลค่ากว่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์ดอลลาร์ หรือราว 28% ของมูลค่ารวมของเศรษฐกิจโลก ที่สำคัญ คือ ประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS ยังเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบป้อนตลาดโลกราว 44% อีกด้วย

ขณะที่ไทยกำลังจะทำหนังสือแสดงความประสงค์ของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS ในช่วงปลายปีนี้ซึ่งการที่ไทยเดินหน้าเข้าร่วมถือว่าเป็นการตัดสินใจที่รวดเร็วมากกว่าการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือCPTPP ที่ไทยพิจารณามายังยาวนานและยังคงไม่ได้ข้อยุติ คำถามที่ตามมาก็คือ ไทยจะได้อะไรจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS

ในด้านการค้า ปี 2567 ไทยส่งออกไปยังประเทศกลุ่มที่ร่วมก่อตั้ง BRICS ที่เป็นคู่ค่าหลักของไทย คือ   

  • จีน ไทยส่งออกมูลค่า 34,164 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 8 %  
  • รัสเซีย 844 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 38.7 %
  • อินเดีย  10,118 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 3.9 %
  • แอฟริกาใต้  3,539 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 25.4 %

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เห็นด้วยที่ไทยจะเข้าร่วมกับกลุ่ม BRICS เพราะเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่เพราะมีทั้งประเทศในแถบเอเชีย เอเชียใต้ แอฟริกา ซึ่งถือเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกเพิ่มโดยเฉพาะจีน และอินเดีย เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ โดยกลุ่ม BRICS มีสัดส่วนการส่งออกของไทยประมาณ 18 %

สิ่งที่น่าสนใจ ประเทศบราซิล จะเป็นตลาดใหม่ที่สำคัญของไทยโดยสินค้าที่เป็นไฮไลท์คือ  ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางล้อรถยนต์  และได้อานิสงค์การการย้ายฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ

ขณะที่รัสเซีย สินค้าที่ไทยจะส่งออกได้คือ ยางล้อรถยนต์ เช่นกัน

ส่วนอินเดีย สินค้าหลักที่ส่งไปคือ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น่าจะเป็นตลาดรองรับหลังจากที่เราส่งออกไปจีนน้อยลงกว่าเดิมจากปัญหาสงครามการค้า การลดการพึ่งพาการนำเข้าของจีน ทำให้ไทยส่งออกสินค้าพวกนี้ไปจีนน้อยลง หากได้ตลาดอินเดียมารองรับก็เป็นเรื่องถูกต้อง

ส่วนแอฟริกาใต้ นำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ ข้าว ซึ่งตลาดนี้จะช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยจากสินค้าที่กล่าวมาข้างต้น

เราจะได้ประโยชน์ทางการด้านการค้ามากขึ้นจากกลุ่ม BRICS แต่ในส่วนของการเมืองที่มีบางประเทศมีความขัดแย้งกัน ไทยเองมีนโยบายความเป็นกลางไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอยู่แล้ว เรามุ่งเน้นหาตลาดใหม่มารองรับตลาดเก่า”นายชัยชาญ กล่าว

ส่วนที่มองว่ารัฐบาลตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS รวดเร็วกว่ากลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆเช่น  CPTPP เห็นว่า CPTPP ยังมีประเด็นที่อ่อนไหวในหลายเรื่องไม่ได้ข้อยุติ

แต่กลุ่ม BRICS เป็นกลุ่มประเทศที่มีการนำเข้าสินค้าที่สอดคล้องกับความแข็งแกร่งของไทย เช่น อาหาร เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์และไม่มีข้อจำกัดมากกว่า CPTPP ถือว่าตอบโจทย์ของทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนสิ่งใดที่มีความอ่อนไหวหรือเป็นมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ก็ต้องมาพิจารณา

ในช่วงปลายปี ที่มีการประชุมของกลุ่มBRICS และได้เข้าเข้ายื่นเจตจำนงเข้าเป็นสมาชิก ทยเป็นชาติอาเซียนแรกที่เข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือนี้และเมื่อได้เป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS อย่างเป็นทางการผลประโยชน์ด้านการค้าของไทยก็จะเพิ่มมากขึ้นนอกเหนือจากการเปิดตลาดใหม่