เปิดหนี้ ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ยังเหลืออีกก้อนกว่า 2 หมื่นล้าน
เปิดหนี้คงเหลือ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” หลัง กทม.เดินหน้าจ่ายค่าติดตั้งระบบรถไฟฟ้าไปแล้ว ยังเหลืออีกก้อนกว่า 2 หมื่นล้านบาท อยู่ในขั้นตอนลุ้นศาลปกครองสูงสุดตัดสิน
จากไวรัลเพจ “กรุงเทพมหานคร” โพสต์ภาพและข้อความโปรโมทฟอนต์ “เสาชิงช้า” วานนี้ (30 พ.ค.) โดยโพสต์ข้อความที่ระบุว่า “ใช้หนี้ #BTS แล้ว” หลังจากนั้นทางเพจ “รถไฟฟ้าบีทีเอส” ได้แชร์โพสต์ดังกล่าวพร้อมระบุว่า “หนี้ยังไม่หมดนะครั้บบบผม😁😆😅😂 #หยอกน๊าคุณน้าา” ซึ่งทำให้ชาวเนตแสดงความคิดเห็นและแชร์โพสต์ดังกล่าวจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี ที่มาของโพสต์จากเพจ กรุงเทพมหานคร ที่ระบุว่า “ใช้หนี้ #BTS แล้ว” สืบเนื่องจากปัญหาการแก้ปัญหาหนี้สะสมของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ได้รับการชำระก้อนแรก เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2567 โดยเป็นการชำระหนี้ค่าติดตั้งระบบรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย รวมประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย
- ส่วนต่อขยายที่ 1 อ่อนนุช-แบริ่ง , สะพานตากสิน-บางหว้า
- ส่วนต่อขยายที่ 2 แบริ่ง-สมุทรปราการ , หมอชิต-คูคต
ทั้งนี้ จากการตอบกลับของเพจ รถไฟฟ้าบีทีเอส ที่ระบุว่า “หนี้ยังไม่หมดนะครั้บบบผม😁😆😅😂 #หยอกน๊าคุณน้าา” สืบเนื่องจากปัจจุบันหนี้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยังมีการยื่นฟ้องและอยู่ในขั้นตอนศาลปกครองพิจารณา แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ศาลปกครองพิพากษาให้กรุงเทพมหานครและบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ร่วมกันจ่ายหนี้ให้กับ BTSC จำนวน 11,755.06 ล้านบาท แบ่งเป็น
1.หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 2,348 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
2.หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 9,406 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
ส่วนที่ 2 ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ตามที่ BTS ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้กรุงเทพมหานครและบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จ่ายหนี้เพิ่มอีกประมาณ 11,068.5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2565
รายงานข่าวจากศาลปกครองสูงสุด ระบุว่า ขณะนี้มีคดีเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่อยู่ระหว่างศาลปกครองสูงสุดพิจารณา คือ คดีหมายเลขดำที่ อ.2226/2565 ระหว่าง BTSC ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีระหว่างกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (ผู้ถูกฟ้องคดี 2) โดยมีข้อมูลการฟ้องร้องในประเด็นไม่ชำระค่าตอบแทนตามสัญญา และ BTS ได้มีหนังสือทวงถามให้ชำระค่าตอบแทนตามสัญญาแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกเฉย เป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย