‘เศรษฐา‘ เร่งหามาตรการดึงต่างชาติตั้ง ‘สำนักงานใหญ่ภูมิภาค’ ในกรุงเทพฯ

‘เศรษฐา‘ เร่งหามาตรการดึงต่างชาติตั้ง ‘สำนักงานใหญ่ภูมิภาค’ ในกรุงเทพฯ

“เศรษฐา” เรียกถกหน่วยงานเศรษฐกิจ - ผู้แทนการค้าไทย - ผู้ว่ากทม. เล็งเพิ่มมาตรการจูงใจบิ๊กคอร์ปตั้งสำนักงานใหญ่ภูมิภาคในไทย ย้ำกทม.มีความพร้อมหลายด้านรับการลงทุน บีโอไอโชว์ต่างชาติขอวีซ่า LTR แล้วกว่า 5.6 หมื่นคน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยผ่าน “X” หรือ ทวิตเตอร์ ส่วนตัวว่าเมื่อวาน (31 พ.ค.) ตนเองได้มีการพูดคุยกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายชโยทิต กฤดากร ประธานผู้แทนการค้าไทย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) นางสาวโสรดา เลิศอาภาจิตร์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะรักษาการปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร 

โดยการพูดคุยได้หารือถึงประเด็นที่จะดึงดูดให้บริษัทของต่างชาติเข้ามาเปิดสำนักงานใหญ่ภูมิภาค (Regional Headquarter) ในเมืองไทย รวมถึงคนต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในเมืองไทย และการดึงคนไทยที่มีความรู้ความสามารถกลับมาทำงานในบ้านเราด้วย

‘เศรษฐา‘ เร่งหามาตรการดึงต่างชาติตั้ง ‘สำนักงานใหญ่ภูมิภาค’ ในกรุงเทพฯ

ดังนั้นหลายภาคส่วนจะต้องหามาตรการในการดึงดูด ทั้งในด้านภาษี สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน สาธารณูปโภค มาตรการด้านวีซ่า ซึ่งผมมีความเชื่อมั่นว่า กรุงเทพฯ มีความพร้อมที่จะรองรับการเข้ามาของบริษัทต่างชาติซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงานเป็นจำนวนมากรวมถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศครับ

 

ก่อนหน้านี้เลขาธิการบีโอไอเปิดเผยว่านโยบายส่งเสริม การตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทยถือว่า  เป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนในไทย โดยช่วง 4 ปี จากนี้ตั้งเป้าว่าจะมีบริษัทชั้นนำของโลกกว่า 100 บริษัทให้เขามาตั้งสำนักงานใหญ่ในภูมิภาคในไทย เพื่อสร้างแรงงานทักษะสูงไม่ต่ำกว่า 10,000 อัตราและต่อยอดไปสู่ธุรกิจต่างๆต่อไป

 

ทั้งนี้จุดหมายสำคัญสำหรับชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ทั้งบุคลากรที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญพิเศษ (Talent) นักลงทุน และผู้ที่ต้องการเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในประเทศไทย โดยมีแนวโน้มได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งแนวโน้มการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตและบุคลากรที่เกิดขึ้นทั่วโลก 

 

ซึ่งกลุ่มTalent ต่างชาติเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาทำงานร่วมกับบุคลากรไทย เพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของไทยให้ก้าวสู่เศรษฐกิจใหม่ ในปัจจุบันมีบุคลากรต่างชาติกว่า 56,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัญชาติญี่ปุ่น จีน อินเดีย ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ที่ได้รับอนุมัติผ่านศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (One Stop Service) ที่ชั้น 18 อาคารจามจุรีสแควร์ซึ่งเป็นการให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว รวมทั้งมีการให้บริการผ่านระบบออนไลน์ Single Window โดยความร่วมมือระหว่างบีโอไอสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงแรงงาน

“ท่ามกลางกระแสการแย่งชิงบุคลากรที่มีศักยภาพสูง หรือ Talent War ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประเทศไทยมีศักยภาพหลายด้านที่ดึงดูด Talent และบุคลากรชาวต่างชาติที่มีคุณภาพสูงให้เข้ามาทำงานและอยู่อาศัย ทั้งโอกาสทางธุรกิจที่หลากหลาย ความน่าอยู่และความเป็นมิตรของคนไทย ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีดิจิทัล โรงเรียนนานาชาติกว่า 200 แห่ง โรงพยาบาลชั้นนำมาตรฐาน JCI มากกว่า 60 แห่ง ซึ่งสูงสุดในอาเซียน สามารถรองรับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และที่สำคัญคือการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน ซึ่งเป็นภารกิจที่บีโอไอให้ความสำคัญมาโดยตลอด และเดินหน้าพัฒนาการให้บริการของศูนย์ One Stop Service รวมทั้งระบบบริการออนไลน์ Single Window ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายนฤตม์กล่าว

ในจำนวนบุคลากรต่างชาติกว่า 56,000 คน ที่ได้รับอนุมัติให้เข้ามาทำงานและพำนักในประเทศไทยในปัจจุบัน ประกอบด้วย ผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่เข้ามาทำงานภายใต้โครงการที่ได้รับการส่งเสริม
การลงทุน จำนวนประมาณ 50,000 คน นอกจากนี้ เป็นชาวต่างชาติที่ได้รับอนุมัติภายใต้ SMART Visa ซึ่งเป็นวีซ่าเพื่อดึงดูดบุคลากรทักษะสูงเข้ามาทำงานและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เน้นขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งกลุ่ม Startup รวมทั้งสิ้น 2,170 คน ส่วนใหญ่มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา รัสเซีย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และเยอรมัน

​สำหรับวีซ่าพำนักระยะยาวหรือ Long-Term Resident Visa (LTR Visa) ซึ่งเป็นมาตรการล่าสุดที่รัฐบาลได้มอบหมายให้บีโอไอเป็นผู้รับผิดชอบหลัก เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4กลุ่มเข้าสู่ประเทศไทย ได้แก่ 1) ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ 2) ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย 3) ผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง 4) ผู้เกษียณอายุ รวมทั้งผู้ติดตาม สามารถพำนักในประเทศไทยได้ 10 ปี ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่เดินทางเข้าออกประเทศ อีกทั้งจะได้รับอนุญาตให้ทำงาน โดยลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ เหลือร้อยละ 17 และยังได้รับการผ่อนปรนระยะเวลาการรายงานตัวกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จากปกติทุก 90 วัน เป็นปีละ 1 ครั้ง โดยปัจจุบันได้อนุมัติ LTR Visa รวมทั้งสิ้นกว่า4,000 คน มาจากสหรัฐอเมริกามากที่สุด 791 คนรองลงมา ได้แก่ รัสเซีย 479 คน สหราชอาณาจักร 332 คน จีน 277 คน เยอรมัน 236 คน ญี่ปุ่น 207คน และฝรั่งเศส 198 คน

 

ที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติวีซ่าดังกล่าวให้แก่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำระดับโลก
ที่มีการลงทุนหรือตั้งสำนักงานในประเทศไทยหลายแห่ง อาทิ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี, บริษัท โรเบิร์ตบ๊อช ออโตโมทีฟ เทคโนโลยีส์, บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์, บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์, บริษัท ไอเอชไอ พาวเวอร์ ซิสเต็ม, บริษัท ดูคาติ มอเตอร์, บริษัท อะเมซอน ดาต้า เซอร์วิสเซส เป็นต้น

 

ทั้งนี้ Smart Visa และ LTR Visa ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษเข้ามาทำงานในระยะยาว กระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเกิดเม็ดเงินในการใช้จ่ายโดยตรงของชาวต่างชาติกระจายไปยังภาคส่วนอื่น ๆ ของประเทศ