แบงก์ชาติ เปิดเวที 'รัฐ-เอกชน' ถกทางแก้ หนุน SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ

แบงก์ชาติ เปิดเวที 'รัฐ-เอกชน' ถกทางแก้ หนุน SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ

'ธปท.' ชี้ขาดความสามารถแข่งขัน ไม่มีประวัติการเงิน ขาดหลักประกัน ปัจจัยหลักทำ SME เข้าถึงแหล่งทุนยากมีต้นทุนสูง 'TDRI' ระบุเจ้าของกิจการ SME ไทย มีภาวะอายุมากการศึกษาน้อย เสี่ยงปรับตัวไม่ทัน 'สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย' หนุนสร้างกลไกบ่มเพาะให้ SME ถึงแหล่งเงินในระบบ

นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานเสวนา "กลไกค้ำประกันเครดิต ตัวช่วยของ SMEs ในการเข้าถึงเงินทุน" จัดโดย ธปท. วันที่ 4 มิ.ย.2567 ว่า การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SME เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งประเทศอื่นๆ ในโลกด้วย สะท้อนจากอัตราการขยายตัวของสินเชื่อที่หดตัวมายาวนานและต่อเนื่อง แม้ว่าในช่วงโควิดจะขยายตัวเล็กน้อยแต่ก็เป็นผลชั่วคราวเท่านั้นจากมาตรการของรัฐในการค้ำประกันสินเชื่อ รวมถึงมาตรการ Soft Loan

โดยในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2567 การเข้าถึงสินเชื่อของธุรกิจ SME กลับมาติดลบกว่า 5% นอกจากนั้น ยังพบว่า SME ทั้งประเทศไม่ถึง 1.5 ล้านราย ที่สามารถเข้าถึงสินเชื่อเพื่อธุรกิจในระบบสถาบันการเงินได้

ชี้จุดอ่อน SME

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ทำให้กลุ่มธุรกิจ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากและมีต้นทุนที่สูง ประกอบด้วย

1.ข้อจำกัดเรื่องทุนและความสามารถในการแข่งขัน จึงทำให้ธุรกิจมีความอ่อนไหวกับสภาพเศรษฐกิจสูง

2.การมีข้อมูลและประวัติทางการเงินที่ไม่เพียงพอ ทำให้สถาบันการเงินไม่สามารถประเมินความเสี่ยงในการปล่อยกู้ได้ไม่ชัดเจน

3.การไม่มีหลักประกัน

4.ฝั่งผู้ปล่อยสินเชื่อมีต้นทุนในการบริหารสินเชื่อสูง จากการปล่อยสินเชื่อขนาดเล็ก จากต้นทุนในการประเมินความเสี่ยง ติดตามทวงถามหนี้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาภาครัฐและ ธปท. มีการดำเนินมาตรการหลายด้านเพื่อแก้ปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของกลุ่ม SME ได้แก่ การส่งเสริมให้มีการพัฒนาบริการทางการเงินที่เหมาะสม เช่น Nano-finance, Pico-Finance สินเชื่ออเนกประสงค์, Digital p-loan ใช้ข้อมูลอื่นๆ ที่แสดงสถานะทางการเงิน ซึ่งมาตรการนี้มีวงเงินไม่สูงมาก
และตอบโจทย์พ่อค้าแม่ค้า

ขณะที่มาตรการช่วยสภาพคล่องให้เอสเอ็มอี เมื่อมีเหตุการณ์ที่ต้องให้ความช่วยเหลือ เช่น ภัยธรรมชาติ โควิด ซึ่งเป็นการช่วยชั่วคราวและเฉพาะกลุ่ม มีข้อจำกัดเรื่องเวลาในการทำและงบของรัฐ

ส่วนมาตรการค้ำประกันสินเชื่อโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งเป็นกลไกที่ดีเพราะเป็นการแชร์ความเสี่ยงทำให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นและเป็นกลไกที่ช่วยได้ในวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม กลไกที่ใช้กันในวันนี้แม้จะช่วยแก้ปัญหาได้แต่ยังมีข้อจำกัด ทั้งในเรื่องขอบเขตการค้ำประกันมีจำกัด ผู้รับประโยชน์ครอบคลุมเฉพาะ SME ที่มีสินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดิน ไม่เกิน 200 ล้านบาท ทำให้ SME ที่เริ่มขยายตัวจะเข้าไม่ถึงส่วนนี้ ผลิตภัณฑ์จำกัดแค่สินเชื่อที่ปล่อยโดยสถาบันการเงินและบริษัทลูกเท่านั้น ดังนั้น SME ที่ต้องการไปตลาดทุนจะไม่สามารถใช้กลไกนี้ได้

นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดเรื่องข้อมูลและเครื่องมือที่ไม่เพียงพอ การมีข้อมูลมาใช้ประเมินความเสี่ยงไม่เพียงพอ ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีต้องจ่ายค่าบริการในอัตราเดียวกันภายใต้ความเสี่ยงที่ไม่เท่ากัน

"จากอุปสรรคเบื้องต้น ทำให้การค้ำประกันไม่มีความยืดหยุ่น ภาครัฐไม่สามารถนำไปใช้ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ต้องการผลักดัน ช่วงวิกฤติต้องออกกฎหมายเฉพาะเพื่อจัดการการเข้าไม่ถึงสินเชื่อ"

นายสมชาย กล่าวต่อว่า ในต่างประเทศมีแนวทางการแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME ประกอบด้วย 1.การค้ำประกันครอบคลุมสินเชื่อ หุ้นกู้และผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทอื่น

2.คิดค่าธรรมเนียมตามความเสี่ยงของลูกหนี้

3.สนับสนุนนโยบายภาครัฐได้ทั้งช่วงปกติและวิกฤต

4.แหล่งเงินทุนไม่ได้มาจากภาครัฐเท่านั้น โดยเป็นการร่วมกันระหว่างเงินของรัฐผู้ให้สินเชื่อและผู้ได้ประโยชน์จากสินเชื่อ การที่มีแหล่งเงินทุนที่มั่นคงทำให้กลไกการค้ำประกันมีความยั่งยืน

5.ให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีแบบครบวงจร เช่นให้คำปรึกษาทางการเงิน การขยายธุรกิจ

SME อายุเยอะ ความรู้น้อย

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) กล่าวว่า SME ไทยมีลักษณะใหญ่กระจุกเล็กกระจาย โดยส่วนใหญ่พบว่าเป็นผู้ประกอบการที่มีอายุเยอะและการศึกษาไม่สูง โดยในปี 2538 อายุเฉลี่ยของเจ้าของกิจการ SME ไทยอยู่ที่ประมาณ 42 ปี ขณะที่ในปี 2566 อายุเฉลี่ยของเจ้าของกิจการ SME ไทยอยู่ที่ประมาณ 50 ปี

ในด้านการศึกษา พบว่ามีประมาณ 30% ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ขณะที่ 25% จบการศึกษาในระดับประถมศึกษา ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ SME อาจไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อโลกได้ ดังนั้นการเพิ่มศักยภาพให้ SME จึงเป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่ต้องมีมาตรการสนับสนุนให้แข่งขันได้ด้วย
โดยมีข้อเสนอ ดังนี้

1.การสร้างฐานข้อมูลรายกิจการที่ครบถ้วน โดยควรมีการปรับอีโคซิสเต็มการใช้ข้อมูลในภาพรวม เป็นการใช้ข้อมูลแบบรายบุคคล เนื่องจากทำให้ออกมาตรการให้ตรงจุด ขณะที่รัฐบาลควรมีการกันงบประมาณไว้ส่วนหนึ่งสม่ำเสมอ เช่น ปีละ 10,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเรื่องการค้ำประกันให้กับ SME

2.การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้แข่งขันได้มากขึ้น โดยปัจจุบันโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่ได้สนับสนุนให้เกิดการแข่งขัน จึงต้องเร่งปรับโครงสร้างให้แข่งขันได้

3.การเพิ่มความทันสมัยของผู้ประกอบการ และแนวทางที่ทำให้เอสเอ็มอีคิดนอกกรอบ เช่น สนับสนุนให้ใช้ระบบบัญชีที่ดี เพราะจะช่วยเพิ่มผลิตภาพให้กับเอสเอ็มอีได้มาก

4.การแก้กฎหมายให้ บสย. ขยายการค้ำประกันไปถึงผู้ให้กู้รายอื่นนอกเหนือจากสถาบันการเงิน ปัจจุบันเกาหลีใต้แก้กฎหมายประมาณ 2 ครั้งแล้วเพื่อให้กฎหมายใช้งานได้จริง

5.เพิ่มความหลากหลายของแหล่งเงิน เพื่อไม่ให้มีภาคส่วนใดต้องรับภาระเพียงภาคส่วนเดียว

แบงก์ชาติ เปิดเวที \'รัฐ-เอกชน\' ถกทางแก้ หนุน SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ

SME ส่วนใหญ่เป็นเศรษฐกิจนอกระบบ

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน เศรษฐกิจฐานรากเป็นกลุ่มที่เปราะบางและยังคงชะลอตัว โดยไม่ได้ค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างที่คาดหลังสถานการณ์โควิด รวมทั้งยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามาอย่างรอบด้าน

โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากการที่ธุรกิจ SME จำนวนไม่น้อยอยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ รวมทั้งมีแรงงานที่อยู่นอกระบบด้วย ปัจจุบันโครงสร้างของธุรกิจ SME กว่า 71% เป็นบุคคลธรรมดา และทำธุรกิจภาคการค้าและบริการเป็นหลัก หมายความว่าสินเชื่อส่วนใหญ่ที่ SME เข้าถึงก็เป็นกลุ่มพิโกไฟแนนซ์

ทั้งนี้ การจะดึงให้เศรษฐกิจนอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบได้ต้องการแรงจูงใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำ กำลังคนที่มีสมรรถนะสูง เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถให้กับธุรกิจ และภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ ออกแบบนโยบายและมาตรการที่ตอบโจทย์

โดย 3 มาตรการหลักที่มองว่าอยากให้ภาครัฐให้ความสำคัญ ประกอบด้วย

1.มาตรการในการเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำและฟื้นฟูหนี้ NPL

2.มาตรการยกระดับขีดความสามารถ SME และแรงงาน

และ 3.มาตรการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคของ SME

"ปัจจุบัน มีสัดส่วนสินเชื่อ SME ในธนาคารพาณิชย์เพียงแค่ 20% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด 18 ล้านล้านบาท ส่วนแบงก์รัฐมีพอร์ตสินเชื่อของ SME ราว 39% เพราะฉะนั้นกลไกของแบงก์รัฐจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ส่วน 36% เป็นหนี้นอกระบบ หรือคิดเป็นราว 1.14 ล้านราย"

โดยจากผลสำรวจพบว่าธุรกิจ SME ต้องการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ทว่ากลับพบปัญหาและอุปสรรคเรื่องต้นทุนดอกเบี้ยสูง การขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ ขั้นตอนในการขอสินเชื่อยุ่งยากและล่าช้า และขาดความรู้ในการเข้าถึงแหล่งทุน

ดึง SME เข้าถึงแหล่งเงินในระบบ

"ผู้ประกอบการ SME ที่ยังไม่เข้าระบบและไม่มีความพร้อมเนื่องจากความรู้เรื่องบัญชีและภาษีที่ไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องสร้างกลไกในการบ่มเพาะผู้ประกอบการทั้งก่อนและหลังการขอสินเชื่อ ซึ่งแบงก์รัฐหลายแห่งเริ่มมีโปรแกรมนี้แล้ว รวมทั้งการให้ บสย.โฟกัสไปที่การค้ำประกันให้กับภาครัฐ ทั้งกองทุนและสหกรณ์ที่รับผิดชอบ SME เพื่อกวาดให้กลุ่มเหล่านี้ เข้ามาในระบบได้มากขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดหนี้นอกระบบ"

นายแสงชัย กล่าวต่อว่า สำหรับสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์อยากให้มีการทบทวนเรื่องการปรับเพดานอัตราดอกเบี้ยวงเงินต่ำเพื่อการประกอบอาชีพ ควรกำหนดให้มีอัตราต่ำกว่า 25% เช่นเดียวกับสินเชื่อส่วนบุคคล นอกจากนี้ให้การวางโฉนดที่ดินและจำนำทะเบียนรถจัดอยู่ในสินเชื่อที่มีหลักประกัน