“ท่าเรือ”ทั่วโลกดึงดิจิทัล"ลดเวลา"การจัดการหน้าท่า
รายงาน “แนวโน้มการค้าโลกและสถิติ” “Global Trade Outlook and Statistics” ฉบับล่าสุดเผยแพร่โดยองค์การการค้าโลก หรือ WTO
คาดการณ์ปริมาณการค้าสินค้าโลกเพิ่มขึ้น 2.6% ในปี 2567 และ 3.3% ในปี 2568 หลังจากลดลง 1.2% ในปี 2566 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขนส่งทางทะเลที่ท่าเรือในหลายๆประเทศกำลังทำให้เกิดความสะดวก และง่ายมากขึ้น
องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization:IMO) ระบุว่า ปี 2567 ถือเป็นก้าวสำคัญในการเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในการขนส่ง ผ่าน“Maritime Single Window” มีข้อกำหนดภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการจราจรทางทะเลระหว่างประเทศ (FAL) กำหนดให้รัฐบาลต้องใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเดียวหรือ “Maritime Single Window” เพื่อแบ่งปันและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเรือเมื่อเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ซึ่งจะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพขั้นตอนในการเคลียร์การมาถึง การพัก และการออกเรือ และเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งทั่วโลกอย่างมาก
อาร์เซนิโอ โดมิงเกซ เลขาธิการ IMO กล่าวว่า การนำระบบดิจิทัลมาใช้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง Maritime Single Window จะส่งข้อมูลระหว่างเรือ ท่าเรือ และหน่วยงานของรัฐได้อย่างรวดเร็ว เชื่อถือได้ และราบรื่นต้องใช้การสื่อสารอย่างมากตามข้อมูลที่มีการบันทึกการโทรผ่านพอร์ตมากกว่า 4.6 ล้านครั้งทั่วโลกในปี 2565และ โดยทั่วไปแล้ว เรือจะใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งวันเต็มในท่าเรือ มากหรือน้อยกว่านั้นขึ้นอยู่กับประเภทเรือ ซึ่งถ้าทำให้เร็วได้ก็จะทำให้ขั้นตอนที่ท่าเรือเร็วขึ้นซึ่งเทคโนโลยีที่นำมาใช้คือ “ระบบดิจิทัล”
ในปี 2564 ในบรรดา 25 ประเทศที่มีเรือคอนเทนเนอร์มาถึงมากที่สุด 23 ประเทศที่มีสถิติที่เรือต้องใช้เวลาที่ท่าเรือเพิ่มขึ้นตามค่ากลางของระยะเวลาดำเนินการ และมากถึง 15 ประเทศเผชิญกับการเพิ่มขึ้นเป็นเลขสองหลักโดยสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ สิงคโปร์ 29% รองลงมาคือ ปานามา ไต้หวัน จีน ฮ่องกง จีน มาเลเซีย ฝรั่งเศส สหรัฐ และจีน
"สติถินี้ทำให้สินค้าบางส่วนถูกส่งไปยังสิงคโปร์ ต้องการส่งสินค้าไม่ตรงต่อเวลากับเรือที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้ตารางการขนส่งสับสนและเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการขาดแคลน ตู้คอนเทนเนอร์เวลาที่อยู่ในท่าเรือนานขึ้นเท่ากับการลดประสิทธิภาพลงของท่าเรือ ทำให้สายการเดินเรือพยายามหลีกเลี่ยงท่าเรือบางแห่งที่แออัด ส่วนช่องทางการค้าจีน-สหภาพยุโรปต่างเลี่ยงเติมเชื้อเพลิงในสิงคโปร์เพื่อประหยัดเวลา"
เกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวถึง ความคืบหน้าโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยระบุว่า ปัจจุบัน กทท.อยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินงานในส่วนที่ภาครัฐต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน งานถมทะเล และระบบสาธารณูปโภค โดยงานส่วน 1 การก่อสร้างทางทะเล เป็นงานขุดลอกถมทะเลกิจการร่วมค้า CNNC เอกชนคู่สัญญาอยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการ
อย่างไรก็ดี กิจการร่วมค้า CNNC คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ถมทะเล 3 (Key Date 3) ได้ทันเป้าหมายภายในเดือนมิ.ย.นี้ หลังจากนั้น กทท.จะตรวจสอบมาตรฐานความแน่นหนาของงานถมทะเล ก่อนเตรียมส่งมอบพื้นที่ให้กับ กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC คู่สัญญาในโครงการบริหารท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ซึ่งจะทยอยส่งมอบส่วนของท่าเรือโซน F1 ภายในเดือน พ.ย.2568 และกำหนดส่งมอบแล้วเสร็จทั้งโครงการในปี 2569
ขณะที่งานส่วน 2 โครงสร้างพื้นฐาน งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนนและระบบสาธารณูปโภคท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ก่อนหน้านี้ กทท.ได้เปิดประกวดราคา โดยมีราคากลาง 7,387.518 ล้านบาท พบว่ามีเอกชนซื้อซอง 4 ราย และผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติ 2 ราย คือ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR และบริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
ทั้งนี้ จากการพิจารณาคุณสมบัติด้านเทคนิค และด้านราคา ผลปรากฏว่า บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด โดยต่ำกว่าราคากลางราวิ 160 ล้านบาท กทท.จึงประกาศให้เป็นผู้ชนะการประมูล แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถลงนามสัญญาจ้างได้ เนื่องจากมีการยื่นอุทธรณ์ผลการประมูล ส่งผลให้อยู่ในขั้นตอนตามกระบวนการตรวจสอบ
ปัจจุบัน กทท.เตรียมประกวดราคางานลงทุนภาครัฐอีก 2 ส่วน วงเงินรวมกว่า 3พันล้านบาท แบ่งเป็นส่วน 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ งบประมาณ 799.5 ล้านบาท และส่วน 4 งานจัดหา ประกอบและติดตั้งอุปกรณ์สำหรับขนย้ายสินค้าพร้อมออกแบบและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับบริหารท่าเรือระบบโครงสร้างพื้นฐาน งบประมาณ 2,257.84 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเร่งรัดเปิดประกวดราคาได้ภายในปีนี้
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3ถือเป็นหนึ่งในโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่สำคัญตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าโครงการรวมประมาณ 114,000 ล้านบาท แบ่งเป็น กทท. 47% และเอกชน 53% โดยเป็นการพัฒนาและดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นลำดับแรก ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี เมื่อพัฒนาโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้าน ทีอียูต่อปี เป็น 18 ล้าน ทีอียูต่อปี
นอกจากนี้ยังเพิ่มสัดส่วนสินค้าผ่านท่าทางรถไฟของท่าเรือแหลมฉบังจาก 7% เป็น30 %เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับรถยนต์จาก 2 ล้านคันต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี
ช่วยสนับสนุนการลดต้นทุน การขนส่งโดยรวมของประเทศจาก 14% ของ GDP เหลือ12% ของ GDP ประหยัดค่าขนส่งประมาณ 250,000 ล้านบาท อีกทั้งยังผลักดันท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูสู่การค้าการลงทุน และเสริมยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางน้ำของภูมิภาค