เศรษฐา ดันเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ - แลนด์บริดจ์

เศรษฐา ดันเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ - แลนด์บริดจ์

เศรษฐาเร่งแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะสั้น และระยาว สั่งคลังทำแผนกระตุ้นระยะสั้น เร่งเงินดิจิทัลหลัง ครม.อนุมัติงบกลาง 1.2 แสนล้านบาท มอบแรงงานทำแผนดูแลปิดโรงงาน ครม.เคาะแผนท่องเที่ยวเมืองรอง รัฐบาลสร้างเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ แลนด์บริดจ์ - เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์

KEY

POINTS

  • ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบมาถึงภาคการผลิต ล่าสุดนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ รมว.คลัง และ รมว.แรงงาน ไปดูมาตรการช่วยเหลือที่จำเป็น รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
  • รัฐบาลเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ ควบคู่สร้างเครื่องยนต์ใหม่ทางเศรษฐกิจ 
  • การกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต อนุมัติงบกลาง 1.2 แสนล้านบาท
  • ส่วนระยะยาว รัฐบาลเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ และโครงการเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่สำหรับรัฐบาลในการสร้างการเติบโตในอนาคต

 

เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มที่ชะลอตัวเมื่อหลายหน่วยงานปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลง ซึ่งทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งแผนผลักดันเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เช่น การแจกเงินดิจิทัล รวมถึงการผลักดันแผนงานเพื่อรองรับการขยายตัวเศรษฐกิจระยะยาว เช่น โครงการแลนด์บริดจ์ , โครงการเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการและมอบนโยบายในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยให้กระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน ร่วมกันออกมาตรการเยียวยา และกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนในช่วงที่เหลือของปี 2567 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการรองรับกรณีที่ผู้ประกอบการโรงงานปิดตัวต่อเนื่องหลังจากที่สัญญาณการปิดตัว

“การที่เศรษฐกิจเติบโตไม่ได้ตามศักยภาพของประเทศ หรือเติบโตต่ำกว่าที่อยากให้เป็นจึงเกิดผลกระทบต่อภาคธุรกิจ รวมทั้งโรงงานทั่วประเทศต้องปิดตัวลงหรือเลิกการจ้างงานเกิดขึ้น”

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน และมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ และแรงงานอย่างเหมาะสม เช่น มาตรการทางการเงินหรือมาตรการทางภาษี และให้นำมารายงานต่อ ครม.ในครั้งต่อไป

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการใน ครม.เรื่องการติดตามการดำเนินการสถานบันเทิงครบวงจร (เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์) เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต โดยสั่งการกระทรวงการคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ไปดำเนินการศึกษา เร่งรัดการดำเนินการสถานบันเทิงครบวงจร เพื่อให้มีแนวทางในการดำเนินการให้เป็นรูปธรรม

รวมทั้งจนมอบหมายให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้ยกร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร โดยนำร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่กรรมาธิการได้พิจารณามาประกอบความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมติ ครม.ที่เคยมีไว้ เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2567 พร้อมทั้งจัดทำแผนการออกกฎหมายลำดับรองลงไปที่เกี่ยวข้อง และให้นำเสนอ ครม.ในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามขั้นตอนการเสนอกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

 

 

“แลนด์บริดจ์” หนุนลงทุนระยะยาว

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า การผลักดันนโยบายรองรับการขยายตัวเศรษฐกิจระยะยาว รัฐบาลได้เร่งดำเนินการโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย และอันดามัน (แลนด์บริดจ์) โดยที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม ได้โรดโชว์ต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง

สำหรับกระบวนการหลังจากนี้ กระทรวงคมนาคมโดยสำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เตรียมนำความเห็น และข้อเสนอแนะของเอกชนมาปรับปรุงจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (RFP) รวมทั้งยกร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ พ.ร.บ.SEC ซึ่งกำหนดข้อกฎหมาย เงื่อนไข และสิทธิประโยชน์ทางการลงทุน ก่อนเปิดประกวดราคาในไตรมาส 4 ปี 2568

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้จัดสัมมนาทดสอบความสนใจจากภาคเอกชนเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2567 ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ 100 ราย ซึ่งทำให้รัฐบาลมั่นใจว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะไม่ใช่โครงการขายฝัน แต่เป็นโครงการที่จะเกิดการลงทุนจริง และกระตุ้นการลงทุนในเม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาท

เร่งเงินดิจิทัลกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

ในขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นรัฐบาลเร่งโครงการแจกเงินดิจิทัล โดยจะแจกเงินดิจิทัลให้ประชาชนอายุ 16 ปี ขึ้นไป คนละ 10,000 บาท ตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งมีกำหนดที่จะเริ่มแจกประชาชนในไตรมาส 4 ปี 2567

นอกจากนี้ การประชุม ครม.วันที่ 4 มิ.ย.2567 เห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ วงเงิน 122,000 ล้านบาท สำหรับเป็นงบกลางรายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ 

ทั้งนี้ มีแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้ในประมาณการเพิ่มเติม 10,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 112,000 ล้านบาท โดยเงินจำนวนดังกล่าวนี้จะนำไปดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านโครงการแจกเงินดิจิทัล

ดังนั้น การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตจะลงทะเบียนผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการให้ทันภายในปีงบประมาณ 2567 เพื่อให้เบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 ได้ทันภายในวันที่ 30 ก.ย.2567 จึงอาจพิจารณาผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการที่เป็นประชาชนกลุ่มเปราะบางผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.98 ล้านคน ตามขั้นตอนในโอกาสแรกก่อน

สำหรับวงเงินงบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 มีจำนวน 122,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบประมาณ ปี 2567 จำนวน 3.48 ล้านล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 3.60 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2566 จำนวน 417,000 ล้านบาท หรือ 13.1% ซึ่งเท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2

กระตุ้นท่องเที่ยวช่วงโลว์ซีซัน

นอกจากนี้ การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หลังจากในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 เป็นเครื่องยนต์ที่ทำงานได้ดีเมื่อเทียบกับเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวอื่น เช่น การท่องเที่ยว โดยรัฐบาลต้องการเพิ่มโมเมนตัมการท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซันไปสู่ช่วงไฮซีซัน รวมทั้งสร้างแรงส่งการท่องเที่ยวไปสู่ปี 2568 ที่รัฐบาลประกาศเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค

ทั้งนี้ ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว โดยคาดว่าการดำเนินมาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้มาตรการภาษีหนุนท่องเที่ยวเมืองรอง ทำรัฐสูญเสียรายได้ 1,781 ล้านบาทแต่จะทำให้การใช้จ่ายในพื้นที่เมืองท่องเที่ยวรองมีมากกว่ารายได้ที่สูญเสียไปทั้งหมด

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการท่องเที่ยว เพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.2567 ผู้ที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง ต้องการให้จัดงานเทศกาลในเมืองรอง โดยเฉพาะช่วงโลวซีซันที่ได้ขอให้รัฐมนตรีที่หลายคนเป็น สส.ในพื้นที่คงมีข้อมูลว่าเขตพื้นที่นั้นมีเรื่องอะไรดีให้ประสานกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อโปรโมตล่วงหน้า”

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการทางภาษีกระตุ้นการสร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวในเมืองรองช่วงโลว์ซีซันตามข้อเสนอกระทรวงการคลัง 2 มาตรการ ดังนี้

1.มาตรการภาษีกระตุ้นท่องเที่ยวเมืองรอง (สำหรับบุคคลธรรมดา) บุคคลธรรมดานำค่าบริการที่จ่ายให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวหรือค่าที่พักโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทยหรือค่าที่พักสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม สำหรับท่องเที่ยว “จังหวัดท่องเที่ยวรอง” ได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท หักเป็นค่าใช้จ่ายคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตั้งแต่ 1 พ.ค.ถึง 30 พ.ค.2567 ซึ่งเป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว

2.มาตรการภาษีกระตุ้นสัมมนาในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) นิติบุคคลนำรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาในประเทศที่จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวเพื่อการอบรมสัมมนาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ถึง 30 พ.ย.2567 หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

สำหรับการหักเป็นรายได้ให้หักรายจ่ายได้ 2 เท่า สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดใน “จังหวัดท่องเที่ยวรอง” หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด โดยหักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในท้องที่อื่น และกรณีสัมมนาในพื้นที่ทั้ง 2 ส่วนต่อเนื่องกัน ให้หักรายจ่ายที่แยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใด

รวมทั้ง 2 มาตรการ ต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt)

หนุนท่องเที่ยว 55 จังหวัดเมืองรอง

นอกจากนี้ จังหวัดท่องเที่ยวรองที่อธิบดีกรมสรรพากรจะประกาศกำหนดเขตพื้นที่ประกอบด้วย 55 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร จันทบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตราด ตาก นครนายก นครพนม 

นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นราธิวาส น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พะเยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ยะลา ร้อยเอ็ด ระนอง ราชบุรี ลพบุรี เลย ลำปาง ลำพูน 

ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สมุทรสงคราม สระแก้ว  สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และอุบลราชธานี

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์