กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ปลูกฝังเยาวชน จดบัญชี หนุนการออม ในวันสหกรณ์นักเรียน

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ปลูกฝังเยาวชน จดบัญชี หนุนการออม ในวันสหกรณ์นักเรียน

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์จัดกิจกรรม “วันสหกรณ์นักเรียน” ประจำปี 2567 เดินหน้าวางรากฐานการทำบัญชีและส่งเสริมการออมสู่เด็กและเยาวชน พร้อมส่งเสริมการทำบัญชีกิจกรรมสหกรณ์นักเรียน ส่งต่อสู่ครอบครัวและชุมชน

นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า ด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกลของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงปลูกฝังแนวทางการปฏิบัติตามอุดมการณ์ หลักการและวิธีการสหกรณ์ให้แก่เด็กและเยาวชน

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ปลูกฝังเยาวชน จดบัญชี หนุนการออม ในวันสหกรณ์นักเรียน

จึงมีพระราชดำริเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2534 ให้มีการจัดตั้งสหกรณ์นักเรียนขึ้นภายในโรงเรียน โดยเริ่มต้นในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ภายใต้โครงการตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ ต่อมาจึงได้มีการกำหนดให้วันที่ 7 มิถุนายนของทุกปี

เป็นวันสหกรณ์นักเรียน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ

สยามบรมราชกุมารี และเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ด้านสหกรณ์ในโรงเรียนให้แพร่หลาย

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้เข้าร่วมสนองงานโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน

การดำเนินงานโครงการเริ่มต้นจากโครงการส่งเสริมกิจกรรมสหกรณ์ในโรงเรียนและสานต่อด้วยโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน รับผิดชอบในการวางระบบบัญชี และให้ความรู้ด้านการบัญชี ที่เหมาะสมแก่ครู และนักเรียน โดยน้อมนำพระราชดำริใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร มุ่งให้ “เด็กและเยาวชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา” โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาคน พัฒนาการเกษตร สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม และเป็นการพัฒนาแบบองค์รวม เชื่อมโยงทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม 

โดยถ่ายทอดการจัดทำบัญชีในกิจกรรมสหกรณ์นักเรียน เพื่อฝึกให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ด้านบัญชี ให้รู้จักการคิดคำนวณ รู้จักการวางแผนในการจำหน่ายสินค้าและผลผลิต ปลูกฝังให้รักการจดบันทึกบัญชี อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวันของตนเอง ครอบครัวและชุมชน รู้จักใช้บัญชีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน

ซึ่งในปี 2567 มีเป้าหมายดำเนินการ ในโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรุงเทพมหานคร สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน รวม 51 จังหวัด 527 โรงเรียน จำนวน 1,501 ราย นอกจากนี้ ยังถ่ายทอดการทำบัญชีต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียงให้กับนักเรียน จำนวน 4,500 ราย อีกด้วย

 “การดำเนินงานในปี 2566 ที่ผ่านมา กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้มีการกำหนดเป้าหมายในเชิงปริมาณ 527 โรงเรียน จำนวน 2,048 ราย มีผลสัมฤทธิ์ให้กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ความเข้าใจ 10% ให้ยกระดับการจัดทำบัญชีได้ 15% ซึ่งผลการดำเนินงานพบว่ากลุ่มเป้าหมายที่มีความรู้ ความเข้าใจในการจัดทำบัญชี จำนวน 1,777 ราย ในส่วนของการยกระดับการจัดทำบัญชี จากจำนวน 527 โรงเรียน สามารถยกระดับได้ 174 โรงเรียน” 

สำหรับวันสหกรณ์นักเรียนประจำปี 2567 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนตามพระราชดำริฯ โดยให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำบัญชี

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ปลูกฝังเยาวชน จดบัญชี หนุนการออม ในวันสหกรณ์นักเรียน

ต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียง การจัดทำบัญชีรับ - จ่ายในครัวเรือนให้กับนักเรียนและผู้ที่เข้ามาร่วมชมงาน เพื่อให้บัญชีเป็นเครื่องมือในการวางแผนในการใช้จ่ายของตนเองและขยายผลไปสู่ครอบครัว นำไปสู่การสร้างวินัยทางการเงิน

และเกิดการออมในอนาคต รวมทั้งแนะนำการบันทึกบัญชีโดยใช้แอปพลิเคชัน Smart Me ซึ่งเป็นนวัตกรรมของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ที่ใช้งานง่าย เหมาะสำหรับเกษตรกรเยาวชน และบุคคลทั่วไปใช้ในการจัดทำบัญชีครัวเรือนและ บัญชีต้นทุนอาชีพได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านอุปกรณ์ Smart Phone ทำให้ผู้จดบันทึกรู้ตัวตนและวางแผนการใช้จ่าย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกันนี้จะมีการแจกสมุดจดบัญชีต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียงและบัญชีรับ - จ่าย ในครัวเรือนให้กับเยาวชนอีกด้วย

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มุ่งเน้นการสร้างการรับรู้ให้กับเยาวชนตระหนักว่า การทำบัญชีจะช่วยให้รู้รายรับ รายจ่ายของตนเอง รู้จักการวางแผนทางการเงิน และการเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจจะเกิดขึ้นในภายหน้าได้ เพราะข้อมูลจากการบันทึกทางบัญชีเหล่านี้ จะสามารถนำมาวิเคราะห์ในการวางแผนการดำเนินชีวิตให้ตนเองและครอบครัว รวมถึงการใช้จ่ายเงินในอนาคตได้อย่างเหมาะสม ทำให้เกิดการออม ใช้จ่ายเงินอย่างประหยัด คุ้มค่า ไม่ฟุ่มเฟือย สู่คุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน