CEO หวั่นการเมืองฉุด ‘ความเชื่อมั่น’ ผวาเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ‘เปราะบาง’

CEO หวั่นการเมืองฉุด ‘ความเชื่อมั่น’ ผวาเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ‘เปราะบาง’

“เอกชน” มองปัจจัยเสี่ยงการเมืองกระทบเชื่อมั่น WHA - หอการค้า ชี้นักลงทุนถามเสถียรภาพ ส.อ.ท. - IRPC ชี้ต้องปรับโครงสร้างการผลิต “บิทคับ” เตือนเลือกตั้งสหรัฐเปลี่ยนเศรษฐกิจโลก สรท.ห่วงภูมิรัฐศาสตร์กระทบค่าระวางเรือ ‘ซินเน็ค’ ลุ้นกำลังซื้อ “เสนา” แนะเพิ่มรายได้ลดหนี้

ขณะนี้ภาคธุรกิจกำลังจับตาดูปัจจัยที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจ และธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 ไม่ว่าจะเป็นกรณีศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีคำวินิจฉัยในคดีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กรณีคุณสมบัติการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะส่งคำชี้แจงให้ศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 มิ.ย.2567

รวมถึงคดีของพรรคก้าวไกลในข้อกล่าวหาการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีกำหนดนัดพิจารณาในวันที่ 12 มิ.ย.2567

นอกจากนี้ นักธุรกิจติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งเป็นการแข่งขันระหว่างนายโดนัลด์ จอห์น ทรัมป์ และนายโจเซฟ โรบิเนตต์ ไบเดน จูเนียร์ ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนพ.ย.2567

รวมทั้งเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่นักธุรกิจให้ความสำคัญ และต้องจับตาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ทั้งในตะวันออกกลาง เอเชีย และยุโรป ซึ่งจะมีผลต่อการเคลื่อนย้ายการลงทุน ราคาพลังงาน และค่าระวางเรือ

ในขณะที่ปัจจัยในประเทศกำลังเผชิญความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจจากแรงกดดันการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และโครงสร้างอุตสาหกรรม รวมถึงแรงกดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีผลต่อการบริโภค CEO หวั่นการเมืองฉุด ‘ความเชื่อมั่น’ ผวาเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ‘เปราะบาง’

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจครึ่งปีหลังมีทิศทางที่ดีขึ้นจากปัจจัยการท่องเที่ยว และปัจจัยการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567-2568

นอกจากนี้ เดือนพ.ย.2567 จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่แข่งขันระหว่างนายโดนัลด์ จอห์น ทรัมป์ และนายโจเซฟ โรบิเนตต์ ไบเดิน จูเนียร์ ซึ่งทั้งคู่ต่างมองว่าจีนเป็นผู้ร้าย จึงจะทำอย่างไรเพื่อจะจัดการจีน ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ได้ฐานเสียงเพิ่มขึ้น จึงมองว่าตั้งแต่ต้นปีสัญญาณบวกมากถึงการย้ายฐานการผลิต และมีการย้ายมาเป็นบวก และมีขนาดใหญ่ขึ้น

นอกจากนี้ การที่ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ดังนั้นในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ กลุ่มเทคโนโลยี จะเริ่มดีขึ้นโดยการเข้ามาของนักลงทุนจีน และสหรัฐ โดยกลุ่มแรกที่ย้ายฐานการผลิตมาคือ อีวี ต่อมาจะเป็นซัพพลายเชน รวมถึงดึงกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ กลุ่มแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ซึ่งตอนนี้กลายเป็นอันดับ 3 ของโลกแล้ว

สำหรับปัจจัยสำคัญทุกคนกังวลยังเป็นการเมือง ซึ่งนักลงทุนสอบถามทิศทางการเมืองไทย แต่ไม่ว่าการเมืองจะเป็นอย่างไร จะไม่มีผลต่อกฎหมายการลงทุนหรือไม่มีการยึดธุรกิจต่างชาติ แต่สิ่งที่กังวลคือ ช่วงนี้เป็นโอกาสทองการลงทุน ถ้ารัฐบาลเข้มแข็งจะได้เปรียบเพราะเมื่อดึงมาแล้วต้องสร้างอีโคซิสเต็มให้เติบโตยั่งยืนตามเทรนด์โลก

“อยากเห็นความต่อเนื่องของภาครัฐ จริงๆ แล้วรัฐบาลเข้าใจ แต่เมื่อสั่งงานลงมาไม่เด็ดขาดเพราะข้าราชการยึดกฎระเบียบมากเกินไป ทำให้เดินไม่ได้ กฎหมายมีหลายฉบับบอกจะโยนทิ้งก็ควรโยนทิ้ง” นางสาวจรีพร  กล่าว CEO หวั่นการเมืองฉุด ‘ความเชื่อมั่น’ ผวาเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ‘เปราะบาง’

“การเมือง” ฉุดความเชื่อมั่นประเทศ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะดีขึ้นจากการที่งบประมาณปี 2567 เบิกจ่ายลงสู่พื้นที่ ขณะที่ผลผลิตการเกษตรจะดีขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกจากภัยแล้ง 

สำหรับปัญหาการเมืองที่อาจกระทบความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจถือเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะขณะนี้ต่างชาติเริ่มขาดความมั่นใจการเมืองไทยจะเดินไปอย่างไร ซึ่งดูจากตลาดทุนสะท้อนเห็นได้ชัดเจน

ทั้งกรณีคดีในศาลรัฐธรรมนูญของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และพรรคก้าวไกลที่ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนไทย เพื่อรอความชัดเจนทางการเมืองไทย ขณะนี้ต้องยอมรับว่าไทยมีคู่แข่งในทุกด้าน

“ครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งรัฐบาลควรมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยเฉพาะเมืองรอง ซึ่งช่วงหน้าฝนควรมีแรงจูงใจดึงนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง เพราะชอบฤดูฝน และทุ่มงบประมาณลงไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในเมืองรอง” นายสนั่น กล่าว CEO หวั่นการเมืองฉุด ‘ความเชื่อมั่น’ ผวาเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ‘เปราะบาง’

ส.อ.ท.เร่งรัฐปรับโครงสร้างภาคการผลิต

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรกโดยภาคท่องเที่ยวเข้าสู่ไฮซีซัน ขณะที่ปัญหาการส่งออกจะเริ่มคลี่คลาย รวมถึงการลงทุนที่มีทิศทางดีขึ้นจากงบประมาณปี 2567-2568 และดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะเริ่มไตรมาส 4 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่จะทยอยเข้ามาในระบบ

แต่ภาครัฐจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างภาคการผลิต เพราะการที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมติดลบ 18 เดือน สะท้อนถึงปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยอุตสาหกรรมการผลิตแบบดั่งเดิมถดถอย และไม่เป็นที่ต้องการ

ส.อ.ท.ในฐานะดูแลภาคการผลิตการลงทุน 46 กลุ่มอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมดั่งเดิม กำลังปรับปรุงตัวเองไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ภาครัฐต้องสนับสนุนทั้งอินฟราสตรักเจอร์ ต้นทุนพลังงาน การบริโภค โลจิสติกส์ปัจจุบันที่ต้นทุนสูงถึง 15% ดังนั้น การคมนาคมทั้งทางน้ำ ราง บก จะต้องสอดคล้องเชื่อมโยงกันเพื่อให้ต้นทุนลดลง” นายเกรียงไกร กล่าว

ทั้งนี้ ส.อ.ท.ผลักดันอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้นอยู่ในกรอบความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นผลิตสินค้าคาร์บอนต่ำเพื่อนำไปสู่เป้า Net Zero ส่วนหนึ่งในเงื่อนไขกีดกันทางการค้า รวมถึงอุตสาหกรรมกรรมใหม่ เช่น รถอีวี, ไฮโดรเจน, อิเล็กทรอนิกส์ และการก้าวสู่เซมิคอนดักเตอร์

“ไออาร์พีซี” ย้ำต้องปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม

นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 ไตรมาส 1 ขยายตัว 1.5% ซึ่งภาครัฐได้ลดประมาณการทั้งปีเหลือ 2.2-2.7% โดยไออาร์พีซีมองเฉลี่ยระดับกลางที่ 2.5%

ทั้งนี้ เศรษฐกิจในภาวะปกติขับเคลื่อนโดยภาคการท่องเที่ยว ดังนั้น ภาครัฐต้องทำให้ภาคบริการอยู่ได้ อาทิ เซอร์วิส โรงแรม ภาคขนส่ง โดยเฉพาะการดูแลต้นทุนให้ดีที่สุด โดยค่าแรงอาจเป็นประเด็นที่ทำให้ภาคบริการบางกลุ่มอยู่ไม่ไหวได้

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจลดอีกครั้งในเดือนก.ย.2567 เพราะเฟดมองว่าเศรษฐกิจยืดระยะได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ จะทำอย่างไรที่จะปล่อยเงินมาสู่เอสเอ็มอีมากที่สุด โดยเฉพาะภาคบริการที่รองรับการเติบโตของฝั่งท่องเที่ยว

“เมื่อภาคบริการมีเม็ดเงิน และกำลังจะทำให้ช่วยกระตุ้นการบริโภค ช่วยให้ภาคผลิต ภาคอุตสาหกรรมเติบโตตามไปด้วย เพราะตัวเลขขณะนี้ต้องปรับโครงสร้างใหญ่จริงๆ ไม่อย่างนั้นสินค้าเราสู้ไม่ได้เพราะเป็นสินค้าเก่า” นายกฤษณ์ กล่าว

‘บิทคับ’ แนะเฝ้าระวัง ‘เลือกตั้งสหรัฐ’เปลี่ยนโลก

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังต้องติดตาม และเฝ้าระวังหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีคนถัดไป เพราะนโยบายสหรัฐจะส่งผลต่อความขัดแย้งภูมิศาสตร์ทั่วโลก อย่างกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน และจีนกับไต้หวันจะกระทบซัพพลายเชนทั้งโลก

ขณะที่สหรัฐเริ่มคุมเงินเฟ้อส่วนใหญ่ได้ และเฟดจะทยอยลดดอกเบี้ยครึ่งปีหลัง พร้อมอัดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจรอบใหม่ ซึ่งเงินจะไหลกลับเข้าระบบเศรษฐกิจรอบนี้ ภูมิภาคอาเซียนจะได้มากกว่าภูมิภาคอื่นทำให้ไทยเข้าสู่ “ยุคทองคำ” และแนวคิดผู้นำที่ร่วม World Economic Forum เรื่อง “Digital Green Revolution” จะเป็นทิศทางของโลกในระยะยาว มองว่าเป็นโอกาสของไทย

ขณะที่ระยะสั้นจะสร้างความแข็งแกร่งจากภายในประเทศอย่างไร โดยเฉพาะธุรกิจ ระดับ SSME หรือ SME ที่มีสัดส่วน 80-90% ของจีดีพีไทยให้ผ่านจุดที่ไม่แน่นอนสูงตอนนี้ทั้งปัญหาสภาพคล่อง หนี้สินต่อทุน หรือหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง

นายจิรายุส กล่าวว่า การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ SSME และ SME ต้องยกระดับคนในธุรกิจ ด้วยการ Re skill -Up skill ให้สอดคล้องทิศทางของโลกระยะยาว โดยภาครัฐควรสนับสนุนพัฒนา Open Education Platform ที่คนทั้งประเทศเข้ามาเรียนรู้ได้ตลอด และเป็นสิ่งแรกที่ไทยควรจะมี CEO หวั่นการเมืองฉุด ‘ความเชื่อมั่น’ ผวาเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ‘เปราะบาง’

“ภูมิรัฐศาสตร์” ปัจจัยเสี่ยงส่งออกครึ่งปีหลัง

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ต้องติดตามปัจจัยลบจากภายนอกที่กระทบการส่งออกไทยครึ่งปีหลังทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีนและญี่ปุ่นโดยเฉพาะจีนที่การผลิตยังไม่ฟื้น และช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกไปจีนติดลบ 6% เพราะสินค้าไทยหลายตัวอยู่ในซัพพลายเชนจีน เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยางพารา ล้อรถยนต์

รวมทั้งช่วงครึ่งปีหลังต้องจับตาปัญหาค่าระวางเรือที่กลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งทุกเส้นทางจากปัญหาทะเลแดงบางเส้นทางสูงผิดปกติ โดยสูงขึ้น 30-40% ภายใน 1 เดือน ถือว่าสูงกว่าช่วงเกิดวิกฤติทะเลแดงรอบแรกปลายเดือนธ.ค.2566 ดังนั้นผู้ส่งออกต้องประสานผู้นำเข้าใกล้ชิดในการส่งมอบสินค้า ซึ่ง สรท.ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์หารือติดตามสถานการณ์เพื่อรับมือ

‘ซินเน็ค’ รอลุ้นกำลังซื้อครึ่งปีหลัง

นางสาวสุธิดา มงคลสุธี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังดีกว่าครึ่งปีแรก โดยความชัดเจนจะเห็นไตรมาส 3 เป็นต้นไป ซึ่งหวังว่านโยบายรัฐจะช่วยกระตุ้น แต่ยังกังวลการใช้งบประมาณว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ขณะนี้อินฟราสตรักเจอร์ของไทยยังมีอีกหลายส่วนที่ต้องพัฒนา ดังนั้นงบประมาณภาครัฐจะเข้ามาช่วยเติมเต็มได้

ขณะที่กำลังซื้อยังทรงตัว ทว่ามีปัจจัยบวกมากระตุ้นจากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี โดยเฉพาะการเอไอ และการบริโภคแวร์เอเบิลสำหรับคนรักสุขภาพ และที่ยังคงทำยอดขายได้ดีคือ กลุ่มสินค้าไฮเอนด์ ซึ่งถ้าดิจิทัลวอลเล็ตออกมาน่าจะช่วยกระตุ้นอีกทาง

สำหรับซินเน็ค มั่นใจว่าปีนี้จะเป็นปีที่เติบโตได้มากขึ้นอย่างแน่นอน จากทั้งธุรกิจโฟน รวมถึงคอนซูเมอร์ที่แม้ไม่ฟื้นตัวกลับมามากแต่มีทิศทางดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยปัจจัยบวกมาจากการมาของเอไอ และที่คาดหวังคือ การใช้จ่ายของภาครัฐ

แนะรัฐบาลเพิ่มรายได้เพื่อลดหนี้

นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หวังว่ามาตรการรัฐบาลจะช่วยเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังฟื้นตัวดีขึ้นจากงบประมาณ และการลงทุน ซึ่งจะเป็นผลระยะสั้นแต่เศรษฐกิจไทยต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว เพราะมีปัญหาความสามารถการแข่งขัน

นางสาวเกษรา ระบุว่า จากสมการการบริโภคเป็นตัวใหญ่ และมีพลังที่สุด ดังนั้นหากทุกครัวเรือนเต็มไปด้วยหนี้และไม่มีรายได้ โดยธุรกิจบ้านหรือรถยนต์ที่ต้องกู้มาซื้อทำมีผลกระทบมากขึ้น ซึ่งภาครัฐต้องหาทางหยุดหนี้และทำให้ไม่เป็นหนี้เสียมากเกินไป

“ต้องทำให้คนเป็นหนี้น้อยลง โดยเพิ่มรายได้เพราะถ้าลดหนี้เลยทำให้เกิด Moral hazard ทำให้คนเสียนิสัยเพราะรู้ว่าจะมีคนมาช่วย รัฐบาลต้องเริ่มจากการแก้ปัญหาระยะสั้นก่อนแก้ปัญหาระยะยาวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์