‘เอกชน-นักวิชาการ’ กระทุ้งรัฐบาล ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฟื้นประเทศ
ภาคเอกชน-นักวิชาการ เสนอรัฐเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ “ทีดีอาร์ไอ-ส.อ.ท.” แนะปรับตามเมกะเทรนด์ “เคเคพี” ชี้ต้องแก้ทั้งปัญหาระยะสั้นและยาว ธปท.รับเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าภูมิภาคเพราะปัญหาเชิงโครงสร้าง "สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด" ยอมรับปรับโครงสร้างเศรษฐกิจต้องใช้เวลา
เศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวได้ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น โดยไตรมาส 1 ปี 2567 ขยายตัว 1.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัวเพียง 1.9%
การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ต่ำลง นอกจากเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก ยังเกิดจากโครงสร้างการผลิตของไทยที่สินค้าที่ผลิตที่แข่งขันได้ในตลาดโลกลดลง ทำให้ยอดการส่งออกสินค้าของไทยลดลงและกระทบกับการเติบโตของจีดีพีในภาพรวม โดยที่ผ่านมามีการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายและผลักดันเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อดึงการลงทุน
การส่งออกเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่การแข่งขันกับคู่แข่งในภูมิภาคยากขึ้น โดยในช่วง 4 เดือน แรกของปี 2567 มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยมีมูลค่า 94,274 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่เวียดนามมีมูลค่า 123,928 ล้านดอลลาร์ และมาเลเซียมีมูลค่า 100,836 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโครงการการผลิตของไทยที่แข่งขันกับภูมิภาคไม่ได้
รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่าเอฟดีไอของไทยเทียบหลายประเทศน้อยมาก โดยปี 2566 FDI NetFlow ของอินโดนีเซียอยู่ที่ 21,701 ล้านดอลลาร์, มาเลเซีย 18,500 ล้านดอลลาร์, เวียดนาม 8,255 ล้านดอลลาร์ และไทย 2,969 ล้านดอลลาร์
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเจอปัญหากำลังซื้ออ่อนตัว ความเปราะบางกลุ่มฐานราก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น สังคมสูงวัย ความสามารถทางการแข่งขัน หนี้ครัวเรือน และหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องแก้จากการปรับโครงสร้างและรากฐานเศรษฐกิจที่รััฐบาลกำลังทำ แต่ต้องหารือว่าจะทำอย่างไรให้เกิดขึ้นได้เร็ว
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าประเทศในภูมิภาค ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่ง ธปท.ไม่ได้พอใจตัวเลขเศรษฐกิจไทยเติบโตค่อนข้างต่ำ
ทั้งนี้ ภายใต้เศรษฐกิจไทยที่โตต่ำต้องปรับหลายด้าน ทั้งการมาตรการที่เอื้อให้เกิดการปรับโครงสร้างและเพิ่มผลิตภาพของไทย ส่วนปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อเป็นสิ่งที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) หารือกัน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและเอสเอ็มอี
“ทีดีอาร์ไอ”แนะปรับตามเมกะเทรนด์
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยจำเป็นที่ต้องทำ และต้องเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไทยจะเกาะไปกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก (Megatrends) ได้
นอกจาก ภาคการผลิตที่ต้องสอดคล้องความต้องการสินค้าและบริการที่เป็นเทรนด์ของโลก เช่น สังคมผู้สูงวัย (silver economy) เศรษฐกิจสีเขียว พลังงานสะอาด ท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
“การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยต้องพัฒนาตอบโจทย์ให้ทันโลก และมีคนไทยเข้าไปร่วมเป็นธุรกิจที่ผลิตสินค้า เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วน เป็นแรงงานทักษะ เป็นนักวิจัยและพัฒนาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ โดยหลักแล้วต้องพยายามผลักดันให้เกิดในปริมาณมาก ไม่ใช่แค่ธุรกิจนายทุนไม่กี่ราย”
สำหรับปัญหาการขับเคลื่อนให้เกิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย โดยไทยมีแผนทุกอย่างแล้ว แต่ภาคปฏิบัติยังไปไม่ถึงระดับที่ควรจะเป็น เช่น นโยบายซอฟต์พาวเวอร์เป็นตัวอย่างว่าไอเดียดี แต่สุดท้ายอาจไปไม่ถึงประชาชนวงกว้างที่ได้ประโยชน์
ส่วนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการใช้มาตรการดึงดูดการลงทุนแบบที่ไทยใช้อยู่ในปัจจุบันจะเอื้อต่อการดึงการลงทุนและช่วยไทยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้หรือไม่ โดยเห็นว่าสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อาจต้องประเมินและปรับปรุงรูปแบบเพราะทุกประเทศมีการแข่งขันกันอย่างมาก
ส.อ.ท.แนะปรับโครงสร้างการผลิต
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การเติบโตเศรษฐกิจไทยถูกประเทศเพื่อนบ้านแซง โดยจีดีพีไทยเติบโตแต่ค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังขยายตัวเพียง 1.9% โดยเครื่องยนต์เดิมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเริ่มมีปัญหา เช่น การส่งออก โดยสินค้าเริ่มไม่ได้รับความนิยม และการย้ายฐานการผลิตสินค้ามูลค่าสูงไม่มาไทย เช่น อิเล็กทรอนิกส์
“ส.อ.ท.มีแนวทางที่ชัดเจนว่า การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมจะสอดคล้องไปกับทิศทางและแนวโน้มของโลกเพื่อเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย ด้วยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม S-Curve & New S-Curve จำนวน 12 อุตสาหกรรม” นายเกรียงไกร กล่าว
รวมทั้ง ส.อ.ท.มีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม First Industries เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันใน 4 เปลี่ยน คือ
1.เปลี่ยนจาก OEM ที่รับจ้างการผลิตที่หลายคนบอกเป็นสินค้าเก่าไม่เป็นที่ต้องการของโลกเป็น ODM และ OBM
2.เปลี่ยนจากการใช้แรงงาน เป็นใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เครื่องจักร และระบบออโตเมชั่น
3.เปลี่ยนการผลิตเพื่อกำไร เป็นการผลิตที่ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม
4.เปลี่ยนจาก Unskilled Labor เป็น High-Skilled Labor
“การปรับโครงสร้างเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัวและแข่งขันได้ในระยะยาว เพราะเป็นเทรนด์โลก ประเทศที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงต้องการย้ายฐานการผลิตต่างต้องการพลังงานสะอาด เมื่อไทยมีจุดดึงดูดที่แตกต่างและไม่เป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษ เช่น อีวี การผลิตชิป เซมิคอนดักเตอร์” นายเกรียงไกร กล่าว
เศรษฐกิจไทยต้องแก้ทั้งระยะสั้น-ยาว
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะชะงักงันแล้ว นับมาตั้งแต่ไตรมาส 4 จนถึงไตรมาส 1 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 1% และเศรษฐกิจไทยตั้งแต่โควิด-19 เติบโตช้าสุดในภูมิภาค ต่อเนื่อง 3 ปี
รวมทั้งไทยเป็นไม่กี่ประเทศที่การฟื้นตัวของจีดีพีไม่กลับไปก่อนโควิด-19 เพราะถูกซ้ำเติมหลายปัจจัยทั้งการผลิตเดินเครื่องไม่เต็มที่ แม้การท่องเที่ยวฟื้นตัวดี แต่การส่งออกและการผลิตติดลบ ดังนั้น เศรษฐกิจไทยต้องการการแก้ปัญหาทั้งปัญหาระยะสั้นและระยะยาว จะแก้ปัญหาระยะสั้นอย่างเดียวไม่ได้
“การที่มาเลเซียเพิ่งประกาศเป็นศูนย์กลางเซมิคอนดักต์เตอร์ ไทยต้องกลับมาทบทวนว่าติดหรือขาดอะไร หลายเรื่องแก้ไม่ได้ระยะสั้น เพราะเกี่ยวกับการขาดแคลนแรงงานมีทักษะ และทักษาด้านการศึกษา แต่ระยะสั้นต้องดูแลไม่ให้อุปสงค์ตกต่ำกว่าที่ควรจะเป็น”
ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจต้องใช้เวลา
นายทิม ลีฬหะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายเศรษฐศาสตร์ประจำประเทศไทยและเวียดนาม ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาเพราะเป็นปัญหาระยะยาว เช่น การยกระดับการแข่งขัน การแก้ปัญหาสังคมสูงวัย แต่เศรษฐกิจไทยต้องกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเช่นกัน
ทั้งนี้ ธนาคารได้ลดจีดีพีลงมาที่ 2% จากระดับเดิมที่ 2.6% เพราะไตรมาส 1 ต่ำกว่าที่คาดไว้มาอยู่ที่ 1.5% จากเดิมที่ประเมินไว้ 1.9% และคาดว่าไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยจะยังไม่เห็นการฟื้นตัวชัดเจนหากเทียบกับไตรมาสแรก ดังนั้น คาดว่าครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพียง 1.5% และครึ่งปีหลังที่ 2.5%