วิกฤติผักโรย“ต้นหอม” พุ่งโลละ170บาทชาวบ้านโอดของแพงปรับตัวเหมาะสมรายได้
กระทรวงพาณิชย์ จัดทำค่าใช้จ่ายของครัวเรือนรายเดือนพบว่า ตั้งแต่ปี 2567 ค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นโดย เดือนม.ค. เฉลี่ยที่ 17,989 บาท ต่อมาเดือนก.พ. อยู่ที่ 18,028 บาท เม.ย.อยู่ที่ 18,187 บาท ทิศทางรายจ่ายของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
โดยปัจจัยสำคัญของรายจ่ายต่างๆมาจากปัญหาราคาเชื้อเพลิงที่สูงตามสถานการณ์ตลาดโลกและอีกปัจจัยที่น่าจับตาและควรส่งสัญญาณถึงความเดือดร้อนของประชาชนคือ ราคาอาหารสดที่หลายรายการทรงตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาก่อนหน้านี้ แม้ปัจจุบันราคาจะไม่เคลื่อนไหวแล้วแต่ก็อยู่ในระดับที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ
ประชาชนรายหนึ่งซึ่งต้องจ่ายตลาดสำหรับครอบครัวลูก 1 คน และสามีอีก 1 คน เล่าว่า ราคาสินค้ามีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคและการจับจ่ายสินค้า เนื่องจากราคาผักสดหลายรายการทรงตัวสูงมาก แม้ว่าหมู และไก่ มีราคาดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่เป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับสินค้าผักสด แต่ปัจจุบันสภาพอากาศทำให้ราคาผักผลไม้ สดอ่อนตัวลงแต่ภาพรวมถือว่ายังสูงจึงต้องปรับด้วยการเลือกใช้แต่เท่าที่จำเป็นโดยเฉพาะกลุ่มผักโรย เช่น ผักชี และต้นหอม ที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นสูงมากเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาและยิ่งสูงมากขึ้นไปอีกเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
“จะใช้วิธีซื้อเท่าที่จำเป็น ที่ละน้อยๆ เพื่อไม่ให้เน่าเสีย และไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายในการจ่ายตลาดแต่ละครั้งมากจนเกินไป ดังนั้น จะต้องจ่ายตลาดบ่อยครั้งขึ้นจึงต้องเลือกซื้อแต่ร้านค้าใกล้บ้านแทนการไปซื้อในตลาดใหญๆ หรือ ซุปเปอร์มาร์เก็ต”
ด้านผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารรายหนึ่ง เล่าว่า ราคาสินค้าโดยเฉพาะกลุ่มอาหารยังมีราคาสูงมากทำให้ต้นทุนการผลิตอาหารสำเร็จรูปสูงขึ้นไปด้วย แต่ปรับเพิ่มราคาไม่ได้จึงใช้วิธีลดปริมาณลงบางส่วนสำหรับลูกค้าบางคนที่ไม่ต้องการทานปริมาณมาก แต่จะไม่ลดคุณภาพอาหาร
ลดปริมาณขายแต่ไม่ลดคุณภาพ
“ตอนนี้ราคาอาหาร ผัก ผลไม้ ทรงตัวแล้วแต่ทรงตัวในระดับที่สูงมาก เพราะราคาขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้ต้องปรับตัวและเชื่อว่าราคาอาจไม่ลดลงไปกว่านี้อีก ”
นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ตามที่อธิบดีได้สั่งการให้ตรวจสอบติดตามสถานการณ์ราคาจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องปรามไม่ให้ผู้ค้ามีการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภคในการซื้อสินค้า ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการกำกับดูแลค่าครองชีพของประชาชนอย่างใกล้ชิด
จากการตรวจสอบสถานการณ์การค้าและราคาสินค้า ณ ตลาดเงินวิจิตร เขตคลองสาน ในวันที่ 10 มิ.ย. 2567 พบว่า สินค้าส่วนใหญ่ราคาเคลื่อนไหวอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยังไม่พบพฤติกรรมการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้า ผู้ค้ายังคงราคาจำหน่ายปลีกเมื่อเทียบสัปดาห์ก่อน เช่น หมูเนื้อแดง ราคา 125 - 140 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) น่องไก่ติดสะโพก ราคา 85 บาทต่อกก.
ไข่ไก่ เบอร์ 3 ราคา 4.30 - 4.40 บาทต่อฟอง ส่วนผักสดมีหลายรายการปรับลดราคาจำหน่ายลง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น เช่น มะนาว (เบอร์ 1-2) ราคา 3 - 4 บาทต่อลูก ผักบุ้งจีน 20 - 25 บาทต่อกก. ผักกวางตุ้ง ราคา 30 - 35 บาทต่อกก. ผักชี ราคา 120 - 140 บาทต่อกก.
อาหารสำเร็จยังไม่ปรับขึ้นราคา
ด้านอาหารปรุงสำเร็จยังไม่มีการปรับขึ้นราคา เช่น ข้าวมันไก่ ก๋วยเตี๋ยวหมู ราคา 40 บาท โดยผู้ประกอบการให้ความร่วมมือด้วยดีในการปฏิบัติตามกฎหมาย มีการแสดงราคาจำหน่ายปลีกชัดเจน เปิดเผย ใช้เครื่องชั่งที่ถูกต้อง มีความเที่ยงตรง และผ่านการตรวจรับรอง
“กรมได้ส่งสายตรวจกรมการค้าภายในพร้อมทั้งได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ตรวจสอบเข้มงวด กำกับดูแลการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างใกล้ชิด ครอบคลุมตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นประจำทุกวัน และได้สั่งการพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด ตรวจสอบกำกับดูแลการจำหน่ายในพื้นที่อย่างเข้มงวด เพื่อป้องปรามไม่ให้ผู้ค้ามีการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าและสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภคในการซื้อสินค้า”
ทั้งนี้ขอเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง หากประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อสินค้าและบริการ สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ กรมจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบและหากพบการกระทำความผิดจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีไม่ปิดป้ายแสดงราคามีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท กรณีจำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควร กักตุนสินค้าและปฏิเสธการจำหน่ายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“ต้นหอม”ราคาสูงและยังพุ่งไม่หยุด
รายงานข่าวจากกรมการค้าภายในแจ้งว่า สถานการณ์ราคาผักสดและผลไม้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เปรียบเทียบสัปดาห์นี้ (10 มิ.ย. 2567) พบว่าผัักกวางตุ้ง และผักชี ราคาลดลง เนื่องจากผลผลิตรุ่นใหม่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความต้องการบริโภคยังคงทรงตัว
อย่างไรก็ตาม ต้นหอม ราคาสูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนและมีพายุฝนในพื้นที่เพาะปลูก ทำให้ผลผลิตบางส่วนได้รับความเสียหายและเป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยว ผลผลิตจึงออกสู่ตลาดลดลง